|

รัฐดันทุรังเข็น EGAT เข้าตลาด เตือนวงจรอุบาทว์จะกลับมา
ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หุ้น EGAT ชนวนแตกแยก โบรกเกอร์แบ่งเป็น 2 ขั้ว ข้างหนึ่งเห็นแก่ประโยชน์จากหุ้น อีกข้างหนึ่งเห็นแก่ส่วนรวม เตือนรัฐปล่อย EGAT เข้าตลาดวงจรหนี้เสียจะกลับมาอีกครั้ง ด้านพนักงานไฟฟ้าซวยกู้เงินซื้อหุ้นจ่ายดอกอาน
แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) EGAT ก่อนหน้าการเสนอขายหุ้นกับประชาชนทั่วไปเพียง 1 วัน แต่ไม่ได้หมายความว่าความพยายามในการนำหุ้น EGAT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะหมดไป ตราบใดที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานยังคงมุ่งมั่นที่จะนำเอา EGAT เข้าตลาดหุ้นต่อไป
ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนเมื่อ 24 มิถุนายน 2548 และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 30 พฤศจิกายนนี้ ย่อมทำให้มูลค่าของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากอีกกว่า 2 แสนล้านบาท
โบรกเกอร์แตกแยก
การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) หรือ EGAT เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ก่อให้เกิดการแบ่งแยกบุคคลในวงการตลาดหุ้นรวมถึงนักลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการนำ EGAT เข้าจดทะเบียน มีรายได้จากการดำเนินการในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทำตามหน้าที่และทำเพื่อบริษัทต้นสังกัด ถ้าหุ้นตัวนี้เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ก็จะได้ประโยชน์ตามมาอีกนั่นคือคำสั่งซื้อขายหุ้นก็จะเพิ่มขึ้น หมายถึงรายได้ของบริษัท
ขณะที่นักลงทุนไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยลูกค้า กฟผ. ความหวังที่จะได้เห็นส่วนต่างของราคาหุ้น EGAT คงต้องเลือนลางออกไปจากคำสั่งศาลปกครอง แน่นอนว่ากลุ่มนี้ต้องการให้ EGAT เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ไม่ต้องการเห็น EGAT ระดมทุนในตลาดหุ้น มีทั้งบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนรายใหญ่รวมถึงรายย่อย เนื่องจากเห็นว่าจะกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
วงจรอุบาทจะกลับมา
วาณิชธนากรรายหนึ่งให้ความเห็นว่า การเตรียมการนำเอา กฟผ.เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีมาตั้งแต่ยุคทักษิณ 1 เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางการเงินของ กฟผ.แล้ว ต้นทุนที่แพงที่สุดคือ ดอกเบี้ยที่เกิดจากการระดมเงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่ง ยิ่งเมื่อแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้วการระดมเงินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตก็ต้องกระทำในฐานะบริษัทจำกัด
หากออกหุ้นกู้เองก็ต้องใช้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก เทียบกับไม่แปรรูปฯ ที่รัฐบาลค้ำประกัน ดอกเบี้ยกู้ยืมก็ต้องต่ำกว่า เมื่อต้องยืนด้วยตัวเองต้นทุนก็ต้องแพงกว่าเป็นธรรมดา และการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้ว หน้าที่สำคัญคือสร้างผลกำไรที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น นั่นหมายถึงค่าไฟฟ้าที่คิดกับประชาชนย่อมไม่มีทางลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกำไรของบริษัท
"เพื่อน ๆ ที่ทำ Deal นี้อยู่ก็รู้ดีว่าค่าไฟฟ้าต้องแพงขึ้นต่อเนื่องแน่นอน แต่พูดอะไรไม่ได้เพราะนี่คือธุรกิจของเขา รายได้ของเขา เป็นเรื่องของการว่าจ้าง"
ขณะนี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองในมุมใด แม้เราจะเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลกำไรจากราคาหุ้น EGAT แต่คุณก็ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นและจะแพงขึ้นไปอีกซึ่งบางคนอาจจะรับได้ หรือคุณจะมองคนทั้งประเทศที่ไม่ได้เล่นหุ้นเหมือนคุณ แถมยังเป็นคนยากคนจนไม่มีปัญญาเล่นหุ้นเดือดร้อน งานนี้คงต้องวัดใจกัน
นอกจากคนทั่วไปต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแล้ว รัฐต้องมองในเรื่องของผู้ประกอบการด้วย ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องมีต้นทุนเพิ่ม แม้ปัจจุบันจะจ่ายต่อหน่วยต่ำกว่าประชาชนทั่วไปแล้ว เมื่อต้นทุนสูงขึ้นทั้งจากราคาน้ำมัน ตามมาด้วยค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าก็ต้องปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อถึงตอนนั้นเงินเฟ้อก็จะพุ่งพรวด ซึ่งเงินเฟ้อในปัจจุบันนี้เป็นตัวเลขเทียม เพราะกระทรวงพาณิชย์ขอร้องแกมบังคับกับผู้ประกอบการ เมื่อนั้นเงินเฟ้อจะกระโดดมากกว่า 6%
เมื่อเงินเฟ้อเพิ่ม รัฐจะแก้ปัญหาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ เมื่อดอกเบี้ยสูงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการก็จะลดลง เมื่อนั้นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็จะตามมาอีกครั้ง
คนจนใช้ไฟ-เล่นหุ้น?
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า เงื่อนไขการจัดสรรให้ผู้จองซื้อที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนเป็นลำดับแรก ขั้นแรกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 400-10,000 หุ้นนั้นเป็นแค่เรื่องการลดกระแสความไม่พอใจและเป็นการสร้างความชอบธรรมในการนำเอา EGAT เข้าตลาดหุ้นเท่านั้น เพราะคนที่จองซื้อหุ้นมักจะต้องเปิดพอร์ตลงทุนไว้กับโบรกเกอร์ ถามว่าทั้งประเทศที่ใช้ไฟฟ้าจะมีสักกี่รายที่เปิดพอร์ตเพื่อรับโอนหุ้นมา
อีกประการหนึ่งโดยธรรมชาติของนักลงทุนรายย่อยแล้ว มักจะถือไว้ไม่นาน หาราคาหุ้นสูงกว่าราคาจองสัก 20% ก็ขายหุ้นออกมากันหมด ที่สำคัญกรณีหุ้นของ กฟผ. ที่เสนอขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า จะได้สิทธิในการจัดสรรเป็นอันดับแรกนั้น ถือเป็นว่าเป็นการลดกระแสการต่อต้าน โดยดึงเอาผู้ใช้ไฟฟ้ามาเป็นข้ออ้าง
"เราเกรงว่าจะเหมือนกับหุ้นของ ปตท. ที่ราคา IPO ที่ 35 บาท เมื่อเข้าตลาดราคาไม่ค่อยวิ่ง คนที่จองซื้อได้ไปก็ปล่อยของออกมา จากนั้นก็มีรายใหญ่เข้ามาเก็บแล้วถือยาว ถึงวันนี้กลุ่มเหล่านั้นรวยไม่รู้จะรวยอย่างไร"
พนักงานกระอัก
ในการจัดสรรหุ้น EGAT ให้กับพนักงานราคา 10 บาทนั้น มีทั้งส่วนที่จ่ายเป็นเงินสด และส่วนที่กู้ยืมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฟผ. ดอกเบี้ยที่ 5% หรือบางรายเลือกกู้ยืมกับธนาคารนครหลวงไทยที่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.28 สำหรับ 1 ปี ร้อยละ 4.5 สำหรับ 2 ปี และร้อยละ 5.5 สำหรับ 3 ปี แถมยังต้องจ่ายภาษีอีกส่วนหนึ่ง หากหุ้น EGAT ไม่สามารถเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นได้ ปัญหาก็จะตกอยู่กับพนักงาน
"บางคนจ่ายภาษี 4 แสนบาท คิดดูว่าพนักงานระดับสูงเหล่านี้จะได้หุ้นไปกี่หุ้น หากเงินไม่พอก็เลือกใช้วิธีการกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ทาง กฟผ.จัดให้ ถามว่าตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ เพราะสิ้นเดือนนี้พวกเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยกันแล้ว สิทธิในการขายหุ้นออกได้ 1 ใน 3 ต่อปี เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้พนักงานคงแย่ไปตาม ๆ กัน"พนักงาน กฟผ.รายหนึ่งกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|