"เหล้า"ปัญหาสังคมที่แก้ไม่ตก พฤติกรรมคอทองแดงส่อแววเพิ่ม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสุรานั้นไม่ได้กระทบแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่กระทบในวงกว้าง มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติ แต่ปัญหานี้ดูเหมือนเป็นโจทย์ที่แก้ไม่ตกหาทางออกไม่พบ แม้ว่าเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมารัฐจะขึ้นภาษีสุราบางประเภทเพื่อลดปริมาณการดื่มก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวก็ถูกโจมตีว่าเป็นการตลาดเพื่อสังคม การขึ้นภาษีไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง

จากบทความวิเคราะห์ในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาษีสุรา กล่าวไว้ว่า การปรับโครงสร้างภาษีเฉพาะกลุ่มเหล้าสีนั้นไม่ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอร์ เพราะจากการวิจัยพบว่าเหล้าสีเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาเพียง 26.3% ในขณะที่ เบียร์และเหล้าขาวกับสร้างปัญหาให้มากกว่าคิดเป็น 38.4% และ 33.7%ตามลำดับ

แต่เบียร์กับเหล้าขาวไม่ได้รับการปรับโครงสร้างภาษีแต่อย่างใดโดยรัฐอ้างว่า เบียร์และเหลาขาวนั้นเก็บภาษีเต็มเพดานแล้ว อีกทั้งความต้องการส่งเสริมเหล้าขาวที่เป็นวิสาหกิจชุมชนการปรับโครงสร้างภาษีจึงยังไม่ได้รับการพิจารณาในตอนนี้

ในบทความยังได้ระบุว่าแท้จริงแล้วนั้นทั้งเบียร์และเหล้าขาวยังไม่ได้เก็บภาษีเต็มเพดาน โดยในส่วนของเบียร์นั้น รูปแบบการเสียภาษีคิดตามมูลค่าที่ 55% ยังไม่เต็มเพดานซึ่งอยู่ที่ 60% ทำให้เหลือช่องในารขึ้นภาษีอีก 6% เช่นกันเหล้าขาวยังสามารถขึ้นภาษีได้อีก โดยรูปแบบการเสียภาษีจะคิดตามปริมาณดีกรี ซึ่งปัจจุบันเสียภาษีในอัตรา 240 บาทต่อลิตรแอลกอฮอร์ บริสุทธิ์ 1ลิตร ในขณะที่เพดานสามารถเก็บได้เต็มที่ถึง 400บาทต่อลิตรแอลกอฮอร์ บริสุทธิ์ 1ลิตร ด้วยการไม่ปรับขึ้นภาษีของเบียร์และเหล้าขาวเช่นนี้มาตรการดังกล่าวจึงถูกมองในอีกมุมว่าอาจเป็นการส่งเสริมให้คนไทยดื่มเบียร์และเหล้าขาวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา เพราะมาตรการภาษีที่ออกมาจะยังผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า

บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา บอกว่า เมื่อสุราที่ได้รับการขึ้นภาษีมีราคาแพงขึ้นผู้บริโภคจะหันไปดื่มสุราที่มีราคาถูกกว่า อย่างเบียร์ และเหล้าขาวที่ไม่ได้ปรับโครงสร้างภาษี ดังนั้นมองว่ามาตรการจะได้ผลนั้นสุราทุกประเภทต้องได้ปรับโครงสร้างภาษีใหม่หมด ให้มีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะได้ผลต่อการลดปริมาณการดื่มสุรา

ในขณะที่ปรับโครงสร้างภาษีใหม่ก็ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการปราบปรามสุราเถื่อนที่เตรียมทะลักเข้ามาฉวยโอกาสที่สุรามีการปรับราคาเพิ่ม ราคาสุรามีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคค่อนข้างมากโดยเฉพาะในระดับรากหญ้าที่โดยมากจะดื่มสุราในราคาต่ำ และจากสถิติที่ผ่านมาเหล้าขาวเป็นสุราที่บริโภคสูงสุดในกลุ่มของสุราในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 61% และชนิดที่บริโภคมากสุดนั้นมีปริมาณแอลกอฮอร์สูงสุดถึง 40ดีกรี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การบริโภคสุราในกลุ่มนี้จะสร้างปัญหาค่อนขางมาก

บัณฑิต บอกว่าอีกว่า เบียร์ก็เป็นอีกลุ่มที่มีอัตราการบริโภคสูงและมีการขยายตัวที่รวดเร็วมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเบียร์กลายเป็นสินค้ายอดนิยมไปแล้ว ด้วยราคาที่ถูกและสามารถเข้าถึงได้ง่าย

จากสถิติในปี 2536-2547 ปริมาณการบริโภคเบียร์ในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มราคาประหยัดเพิ่มขึ้นถึง 92.5 ล้านลิตรของแอลกอฮอร์บริสุทธ์ เพิ่มขึ้นจาก 2.2 ล้านลิตรในปี2536เป็น 94.7ล้านลิตรในปี2547 และภายในระยะเวลา 2 ปี 2545-2547ปริมาณการบริโภคเบียร์ในประเทศกลุ่มราคาประหยัดเพิ่มขึ้นถึง 72%

"ถ้าจะลดปริมาณการดื่มนอกจากปรับโครงสร้างภาษีสุราใหม่ทั้งหมดแล้วควรมีการปรับเพดานสูงสุดของการเก็บภาษีขึ้นด้วย เนื่องจากเพดานที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบันนี้เป็นอัตราที่ใช้มานานมากแล้ว และยังไม่มีการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน"

ซึ่งถ้ามาตรการรัฐบอกว่าต้องการลดการบริโภคการดื่มอย่างแท้จริงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสุรา ปรับเพดานภาษีใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

อย่างไรก็ตาม อุทิศ ธรรมวาทิน อธิบดีกรมสรรพสามิต บอกว่า ทางกรมเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาโครงสร้างภาษีสุราใหม่ทั้งหมด ว่าอัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือยัง ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องศึกษาควบคู่กับการปรับโครงสร้างภาษีสุราล่าสุดว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลอีกครั้ง

อัตราการบริโภคสุราของประชากรในประเทศมีแต่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าลดลง ในเรื่องนี้คงมองว่าเป็นปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จะโยนให้รัฐแก้ไขเพียงอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะเป็นปัญหาในระดับสังคม ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยรณรงค์ให้ลดละเลิกการบริโภค เพื่อคุณภาพของคนในสังคมที่ดีขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตามแกนนำสำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างแท้จริงก็คงหนีไม่พ้นว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.