ธ.ก.ส.:สังข์ทองในคราบเงาะป่า แบงก์รัฐที่ถูกมองข้ามความสำคัญ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของธ.ก.ส.เปรียบเสมือนปิดทองหลังพระ ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะรู้ถึงความสำคัญของธนาคารแห่งนี้ แต่สำหรับเกษตรกรชื่อนี้กลับเป็นที่รู้จักมักคุ้นอย่างดีด้วยว่าเป็นลูกค้าหลักที่ธ.ก.ส.เข้าไปให้บริการ และแม้ว่าวันนี้ชื่อเสียง บทบาท และหน้าที่ของธ.ก.ส ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ในอนาคตเมื่อมีการขยายขอบเขตการให้บริการ ทั้งชื่อและบทบาทของธ.ก.ส.จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ธ.ก.ส.ได้เตรัยมปรับบทบาทและภาพลักษณ์องค์กรใหม่เพื่อเพิ่มขีดความทางการแข่งขันเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม แต่ภาพการเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไม่ได้เปลี่ยนไป ธ.ก.ส.ยังคงวิ่งและปรับบทบาทตนเองตามนโยบายที่รัฐมอบหมาย โดยเฉพาะนโยบายคู่ขนานที่รัฐต้องการให้ ธ.ก.ส.เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความยากจน ควบคู่กับการสร้างชุมชนให้แข็งแกร่งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ปัญหาความยากจนเป็นนโยบายหลักที่รัฐต้องการแก้ไข และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เป็นหนึ่งในธนาคารเฉพาะกิจที่ต้องรับนโยบายดังกล่าวมาแก้ไข และขอบเขตของกลุ่มที่ ธ.ก.ส.ต้องให้ความช่วยเหลือนั้นเน้นไปที่ชุมชนชาวชนบท ด้วยเห็นว่าเครือค่ายการให้บริการของธ.ก.ส.ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศทำให้สามารถเข้าถึงได้อย่างใกล้ชิดกับประชาชนในระดับฐานรากดังกล่าว

ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ต่อไปหน้าที่ของ ธ.ก.ส.จะไม่ใช่แค่ธนาคารเพื่อเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่จะขยายของเขตให้บริการที่กว้างขึ้น ด้วยเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนโดยเฉพาะตามพื้นที่ชนบท ขณะเดียวกันก็มองแนวทางที่จะพัฒนาชุมชนสร้างรากฐานและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชาวชุมชน

"การแก้ปัญหาความยากจนควบคู่การสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นนโยบายคู่ขนานที่ประยุกษ์มาจากแนวคิดของรัฐในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจคู่ขนาน ด้วยมองว่าความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้นั้นคือการมีแต่พอเพียง ซึ่งเมื่อช่วยได้ถึงจุดนี้แล้วการจะพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ ต่อไปอีกก็ไม่ใช่เรื่องยาก"

ในวันนี้ การทำงานของธ.ก.ส.ยังมีขอบเขตที่จำกัดเฉพาะกลุ่มอาชีพเกษตรและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรเท่านั้น แต่ในปีหน้าบทบาทหน้าที่จะเพิ่มขึ้น ในวันวันนี้ ธ.ก.ส. จึงต้องเตรียมตัวเพื่อรับของขอบข่ายงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่การสนับสนุนการลงทุนแก่เกษตรกร แต่ยังรวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการในชนบท เพื่อ กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น พร้อมกับการเชื่อมโยงสหกรณ์ทุกประเภทให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถและรายได้ให้ชาวชุมชนนั้น ทนง ได้มอบนโยบายให้ธ.ก.ส.เพิ่มด้วยการเชื่อโยงกับกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ อย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเสริมด้านศักยภาพการผลิต การส่งออก และมูลค่าผลิตภัณฑ์ของชาวชุมชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามบทบาทเดิมผ่านมาของ ธ.ก.ส. ได้เข้าไปช่อยเหลือ ดูแลเกษตรกรลูกค้าแล้วกว่า 5.4 ล้านครัวเรือน เป็นลูกค้าเกษตรรายคน 3.9 ล้านครัวเรือน สถาบันเกษตรกร 1.5 ล้านครัวเรือน มีการให้สินเชื่อแล้ว 422,084 ล้านบาท

หากว่าบทบาทและขอบเขตการทำงานของธ.ก.ส.เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ในปีหน้า เชื่อว่าประชาชนโดยเฉพาะตามพื้นที่ชนบทจะได้รับความช่วยเหลือขึ้น ซึ่งธ.ก.ส.ในวันนี้ไม่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความรู้คำแนะนำในการประกอบอาชีพ รวมถึงการหาช่องทางการจัดจำหน่ายหรือการหาตลาดให้แก่ลูกค้าด้วย

ธ.ก.ส.นั้นมีภาพเหมือนสังข์ทองในคราบเงาะป่า การทำงานของธนาคารแห่งนี้น้อยคนนักที่จะรู้ว่ามีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาประเทศ และโดยเฉพาะกลุ่มฐานลูกค้าของธ.ก.ส.ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องได้รับการดูแลมากที่สุดด้วยถือเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ อันนำไปสู่ความยังยืนทางเศรษฐกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.