ธนาคม สกุลไทย์ ถึงคราวออกโรงเสียที


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หากใครสังเกตข่าวคราวของ บริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PAE ในระยะหลัง จะเห็นว่าคนที่ออกมาให้ข่าวของบริษัท มักจะเป็นดอกเตอร์หนุ่มนาม ธนาคม สกุลไทย์ ที่รั้งตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ทั้ง ๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาคนที่เป็นที่คุ้นเคยกับสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ก็คือ ณรงค์ แย้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการของ PAE นั่นเอง

เรื่องนี้ยังความสงสัยให้กับกระจิบกระจอกข่าวไม่น้อย

"ตอนนี้เป็นช่วงของการประชาสัมพันธ์ทีมงานบริหารของบริษัท ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงของผม ครั้งต่อไปก็เป็นท่านอื่น ๆ เรามีที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ซึ่งเขาจะดูว่าเรื่องไหนใครควรพูด ในช่วงนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผมรับผิดชอบมากหน่อย ก็เลยเป็นผู้ให้ข่าว" ดอกเตอร์ธนาคมกล่าวถึงเหตุผลที่เริ่มจะกลายเป็นคนดัง

ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคมอาจไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงข่าวมากนัก แต่คนใน PAE รู้ดีว่า เขาคือคีย์แมนคนสำคัญรองจากณรงค์

"ผมพบคุณณรงค์ครั้งแรก ตอนที่ผมทำงานที่บริษัทสยาม ออกซิเด็นทัล อีเล็กทรอเคมิคัล (SIAM OCCIDENTAL ELECTROCHEMICAL) ดูแลงานทางด้านวิศวกรรมและโรงงาน ตอนนั้นที่บริษัทกำลังขยายโรงงานและ PAE เป็นผู้ก่อสร้างโรงงานให้เรา" ธนาคมย้อนอดีตอย่างคร่าว ๆ

ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขาในฐานะ VICE PRESIDENT ของ บริษัท สยาม ออกซิเด็นทัลฯ ได้รู้จักกับณรงค์ แม้ว่าจะสนทนากันเพียงไม่กี่ประโยค แต่ณรงค์ก็คงประทับใจในความสามารถของเขา จึงได้ชักชวนธนาคมเข้ามาทำงานใน PAE หลังจากที่ธนาคมลาออกจากบริษัท สยาม ออกซิเด็นทัลฯ ได้เพียง 7-8 เดือน ด้วยเหตุผลว่า ต้องการเปลี่ยนงานใหม่

การทำงานใน PAE เป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม เริ่มตั้งแต่ลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท PAE เป็นบริษัทก่อสร้างขนาดกลางและมีรายได้หลักจากงานติดตั้งเครื่องจักรกล โทรคมนาคม งานบริการอุตสาหกรรม และขายสินค้าเครื่องจักรกล ซึ่งในปัจจุบันมีรายได้อยู่ในสัดส่วนประมาณ 60%, 20%, 15% และ 5% ตามลำดับ ขณะที่บริษัทเดิมเป็นบริษัทผลิตสารเคมี รวมทั้งเขายังมีความรับผิดชอบในหน้าที่กว้างขวางกว่าเดิม โดยต้องดูแลตั้งแต่สายงานวิศวกรรมและก่อสร้างสายการเงิน ไปจนถึงงานบุคคล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนคนที่อยู่ในบังคับบัญชาก็มีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่เดิมเขาเคยดูแลคนเพียง 100-200 คน แต่ที่ PAE มีพนักงานไม่ต่ำกว่า 900 คน และยังรวมไปถึงคนงานของบริษัทรับเหมาช่วง (SUBCONTRACTOR) อีกร่วม 5,000 คน ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของเขา

กระนั้น ดอกเตอร์หนุ่มทางด้านวิศวกรรมเชื้อเพลิงก็ทำได้ดี จนเห็นชัดได้ว่า ในช่วงเวลาที่เขาเข้ามานั้น PAE มีการเติบโตที่ก้าวกระโดดทีเดียว จากกำไรสุทธิ 20 ล้านบาท ในปี 2535 ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 47 ล้านบาท ในปี 2536 และเพิ่มเป็น 72 ล้านบาท และ 148 ล้านบาท ในปี 2537 และ 2538 ตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโต 140% 51% และ 107% ในปี 2536-2538 ตามลำดับ ล่าสุด สิ้นสุดไตรมาส 3 ปี 2539 PAE มีรายได้รวมประมาณ 1,600 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 110 ล้านบาท เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 50% และ 43% ตามลำดับ

"ผมคิดว่าเป็นความสามารถของทีมงานบริหาร ไม่ใช่เพราะผมเพียงคนเดียว ทุกคนมีส่วนช่วยทั้งสิ้น จึงทำให้ PAE โตได้มากอย่างนั้น" เขาถ่อมตัว

อย่างไรก็ดี ธนาคมประเมินตัวเองว่ายังทำงานได้ไม่ดีที่สุดอย่างที่ตั้งใจไว้ เขาว่าสิ่งที่ทำไปบรรลุจุดประสงค์แค่ 60-70% ยังมีส่วนที่ต้องทำต่อไปอีกไม่น้อย โดยเฉพาะการผลักดันให้ PAE เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไป เพราะในช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งรวมทั้งปี 2539 PAE จะมีผลประกอบการไม่ก้าวกระโดดเท่าใดนัก โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,200 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 50% และกำไรสุทธิจะโตประมาณ 30-40% จากในช่วงก่อนหน้าที่เคยขยายตัวร่วม 100%

"เราโตน้อยลงเพราะต้องการให้บุคลากรและองค์กรมีการปรับตัวได้ทัน ฉะนั้นค่าใช้จ่ายในองค์กรจะสูง เพราะต้องเตรียมคน เตรียมระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน ก่อนที่เราจะก้าวกระโดดอีกเหมือนกัน"

การก้าวกระโดดที่ว่า PAE ต้องมีความพร้อม 5 อย่าง ซึ่งทีมงานบริหารวางเอาไว้เพื่อเป็นอาวุธในการแข่งขันในอนาคต เรื่องแรก คือ การลดต้นทุนทางการเงินและปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งได้ทำไปแล้วเมื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเครื่องมือและเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เรื่องที่สาม คือ การฝึกและพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลากร เช่น การจัดสัมมนา การฝึกอบรม เรื่องที่สี่ คือ การเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับซัปพลายเออร์และยืดเวลาการชำระหนี้ และเรื่องสุดท้าย ก็คือ การใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 20 ล้านบาท ขณะนี้พัฒนาไปแล้วบางส่วน แต่ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 1 ปี

เมื่อสิ่งเหล่านี้พร้อม ธนาคมมั่นใจว่า PAE ก็จะผงาดอย่างโดดเด่นอีกครั้งในเส้นทางเดิม นั่นคือยังเน้นงานติดตั้งเครื่องจักรกลอันเป็นงานถนัดของบริษัทเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการเพิ่มงานทางด้านโทรคมนาคมตามการขยายตัวของตลาด และอาจจะแปลกไปกว่าเดิมเล็กน้อยในด้านการเพิ่มงานภาครัฐบาลมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าวอาจจะไม่มีค่าเลยก็ได้ หากราคาหุ้นไม่ขยับตามเพราะนั่นหมายความว่าผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับผลตอบแทนสูงอย่างที่ควรจะเป็น ในปัจจุบัน หุ้น PAE มีราคาประมาณ 130 บาททั้งที่ราคาขายเริ่มแรกก่อนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) อยู่ที่ 149 บาท

ทั้งนี้ อาจเป็นช่วงจังหวะที่ไม่ดีนักของ PAE ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา เพราะตลอดปีนั้นภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแต่ทรงและทรุด ดัชนีร่วงไปร่วม 400-500 จุด

"ผมว่าราคาหุ้นของเราก็ถือว่ายังแข็งอยู่ เพราะตั้งแต่ที่เราเข้าตลาดฯ มาดัชนีตกไปประมาณ 45% แต่ราคาหุ้น PAE ตกไป 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น" ดอกเตอร์หนุ่มแสดงความคิดเห็น

กระนั้น เขาก็ต้องการเห็น PAE มีราคาขยับเพิ่มขึ้นกว่านี้ และหวังให้ PAE เป็นหนึ่งในหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งเป็นความหวังอันใกล้ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานการผลิต และการจัดการระดับ ISO 9000 แล้ว

"เราอยากเป็นบริษัทก่อสร้างที่พูดไปแล้วมีชื่อเสียง มีคนรู้จัก และมีมูลค่ารวมตามราคาตลาด (MARKET CAPITALIZATION) มากถึง 5,000 ล้านบาท เพราะระดับที่นักลงทุนต่างชาติสนใจจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท แทนที่จะเป็น 2,00 กว่าล้านบาทในปัจจุบัน"

การไปจุดมุ่งหมายดังกล่าว นอกจากจะต้องเพิ่มจำนวนหุ้นซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเพิ่มทุนที่จะมีขึ้นในอนาคตแล้ว ยังต้องผลักดันในเรื่องของราคาหุ้น ซึ่งก็คือ การสร้างผลประกอบการที่ดี และประชาสัมพันธ์บริษัทเพื่อให้นักลงทุนได้รู้จักและคุ้นเคยบริษัทอีกด้วย

"เราทำประชาสัมพันธ์มาตั้งแต่เข้าตลาดฯ และยังทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทเป็นที่รู้จัก ในปีนี้เราอาจจะตั้งหน่วยงาน INVESTMENT RELATION เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและนักวิเคราะห์ นอกเหนือไปจากงานทางด้านประชาสัมพันธ์ที่ทำอยู่แล้ว และคิดว่าหน่วยงานนี้คงจะอยู่ใต้การดูแลของผม"

การออกมาเปิดตัวของธนาคมครั้งนี้ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า เขาและทีมบริหารของ PAE พร้อมแล้วที่จะผลักดันให้ PAE ก้าวสู่การเป็นหุ้นขวัญใจของนักลงทุนต่างชาติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.