ไทยทรัสต์ฟันด์เกิดผิดจังหวะ


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายฝ่ายคาดว่ากองทุนไทยทรัสต์ฟันด์จะสามารถดึงเม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนต่างประเทศ เข้ามากระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องได้บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ตลาดทุนพัฒนาไปอีกขั้น

จุดประสงค์ของบลจ.ไทยทรัสต์ฟันด์ตั้งขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวก (facilitate) ให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เสนอเป็นทางเลือกหนึ่งจากปัจจุบัน ที่มีเพียงการซื้อขายในกระดานต่างประเทศ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอาศัยการลงทุนผ่านพันธมิตร (nominee) ซึ่ง กระทำกันอย่างเอิกเกริกแต่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกฎหมายนัก

"ปัญหาคือ นักลงทุนต่างชาติ ซื้อหุ้นแล้วไม่สามารถจดทะเบียนเป็นชื่อเขาได้ ฉะนั้น ก็ไม่ได้รับเงินปันผล หรือว่าสิทธิต่างๆ ก็เลยทำเรื่องขอตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา เพื่อให้เข้ามาซื้อหุ้นแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย" กองแก้ว เปี่ยมด้วยธรรม กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไ ทยทรัสต์ ฟันด์ อธิบาย

โดยอาศัยหลักการของการตั้ง บลจ. เพื่อให้ได้มา ซึ่งสัญชาติไทยแต่สิทธิประโยชน์ในการออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ยังไม่สามารถทำได้เช่นผู้ถือหุ้นในกระดานต่างประเทศ แต่ยังได้รับสิทธิในเรื่องการเงิน คือ ยังได้รับเงินปันผล และหุ้นเพิ่มทุนเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นทั่วไป ทั้งนี้นักลงทุนต่างประเทศจะให้ความสนใจ และเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ การให้น้ำหนักในส่วนนี้เป็นสำคัญ

"ไทยทรัสต์ฟันด์เป็นตัวกลาง ที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเล่นหุ้นเหมือนคนไทยทั่วไป แต่นักลงทุนเหล่านี้จะไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการโหวต รอเพียงแต่เงินปันผล ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเท่านั้น " กองแก้วกล่าว

นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับบริษัท จดทะเบียนเองด้วยว่าจะเปิดกว้าง และอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบริษัทของตนเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน ที่มีอยู่เดิม หรือไม่หากสองส่วนนี้ได้รับการตอบสนองในทางที่ดี เชื่อว่าการจัดตั้งกองทุน น่าจะสร้างผลพลอยได้ให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักได้อีกวาระหนึ่ง

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนไทยทรัสต์ฟันด์ไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควร เพราะช่วงตั้งกองทุนขึ้นมาประเทศไทยเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจพอดี ความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศจึงไม่มี และเป็นช่วงการขนเงินลงทุนออกนอกประเทศ

เห็นได้จากตั้งแต่กองทุนนี้เกิดขึ้นมาเปิดกองทุนไปแล้วเพียง 6 กองทุน "แต่การซื้อขายจริงๆ มี 2 กองทุนเท่านั้น คือ ลงทุนในบมจ.อลูคอน (ALU-CON) และ บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) และจะเทรดอีกในบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANCE) คาดว่าจะ active" กองแก้วกล่าว

สิ่งหนึ่ง ที่นักลงทุนต่างประเทศไม่ค่อยลงทุนผ่านกองทุนไทยทรัสต์ฟันด์คือ ตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงขาลง และไม่มีสภาพคล่อง อีกทั้งพวกเขาจะมองหาหุ้นเฉพาะ ที่ให้ผลตอบแทนดีๆ มากกว่าการหาโอกาสทำกำไร (capital gains) ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้นจึงลำบากในสภาวะปัจจุบัน

นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวอาจไม่เอื้อต่อนักลงทุนต่างประเทศประเภทสถาบัน เพราะการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มน ี้จะมีหลักเกณฑ์ชัดเจนว่าการลงทุนในต่างประเทศต้องถือหุ้นในนามกองทุนเท่านั้น และบางกองทุนให้ความสำคัญในเรื่องการมีสิทธิ์ออกเสียงด้วย

กระนั้น ก็ดีกองทุนไทยทรัสต์ฟันด์ก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนต่างประเทศ และถูกกฎหมายด้วย แต่ ที่ไม่ค่อยเป็นข่าวดีเพราะเกิด "ผิดเวลา" เท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.