SCBตั้งเป้าสินเชื่อโต8%เสนอบอร์ดอนุมัติธ.ค.นี้


ผู้จัดการรายวัน(22 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมเสนอแผนธุรกิจให้บอร์ดพิจารณาเดือนหน้า ก่อนเดินหน้าลุยธุรกิจเต็มที่ เบื้องต้นวางเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 40%ของรายได้ทั้งหมด เน้นปล่อยสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจ คาดสินเชื่อปีหน้าขยายเพิ่ม 7-8% หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมคงจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปีนี้เล็กน้อย ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นราคาน้ำมัน

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการทำแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2549 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยในเบื้องต้นการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจรวมทั้งเป้าหมายต่างๆ ของแผนการดำเนินงานในปีหน้าจะใกล้เคียงหรือขยายตัวดีกว่าปี 2548 นี้เล็กน้อย

ทั้งนี้ เป็นเพราะปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องของราคาน้ำมันอาจจะดูไม่รุ่นแรงเท่ากับปีนี้ รวมทั้งความพยายามของรัฐบาลที่จะกระตุ้นให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น ทั้งในส่วนของการค้าระหว่างประเทศที่จะกระตุ้นการส่งออก และการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น

สำหรับภาพโดยรวมของดุลการค้า การบริการ และดุลการชำระเงิน ซึ่งเป็นที่จับของหลายฝ่ายนั้น คาดว่าจะขาดดุลลดน้อยลงในปีหน้า สภาพคล่องภายในประเทศก็จะเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็จะมีการปรับตัวตามเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศพยายามที่จะกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวก็อยู่ช่วงปลายปี ทำให้เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นแน่ในปีหน้า โดยคาดว่าในปีหน้าภาคการลงทุนของภาคเอกชนและรัฐบาลจะเป็นตัวเด่นที่เน้นให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

ในส่วนของการดำเนินธุรกิจนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ได้วางแผนงานปีในปี 2549 ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ รวมถึงการปล่อยปล่อยสินเชื่อ ที่ภายในปี 2549 คาดว่าจะปล่อยกู้ประมาณ 8 -9 % ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท โดยก็จะพยายามระดมเงินฝากให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้านสัดส่วนรายได้ของธนาคารนั้นเป็นรายได้จากดอกเบี้ย 62% และรายได้ค่าธรรมเนียม 38% ในปี 2548 และในปี 2549 ได้วางแผนตั้งเป้าสัดส่วนรายได้ไว้ที่รายได้จากดอกเบี้ย ประมาณ 60% และรายได้ค่าธรรมเนียม 40% โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มลูกค้าภาคบุคคลและภาคการค้า

ส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ (NPL) ณ ปัจจุบัน มีประมาณกว่า 60,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11% ของสินเชื่อรวมที่มีทั้งหมดอยู่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของ NPL ของธนาคารแยกเป็นหนี้จาก BTS ประมาณ 3,200 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของ NPL ทั้งหมดที่ธนาคารมี และธนาคารได้มีการตั้งสำรองหนี้ไว้ 3,200 ล้านบาทหรือ 100%

สำหรับกรณีของบมจ. กฟผ. ที่ไม่สามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นั้น สำหรับธนาคารนั้นไม่มีผลกระทบในการดำเนินงานของธนาคาร แม้ว่าธนาคารจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของ บลจ. กฟผ เพราะว่าปัจุจปันในส่วนรายได้ของธนาคารนั้นได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท เมือเทียบกับรายได้จาก กฟผ ถือว่าน้อย ซึ่งถึงแม้ธนาคารไม่ได้รายได้จาดส่วนนี้ธนาคารเองก็มีรายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเช่นกัน เรื่องของกฟผ. อาจะต้องรอจังหวะที่เหมาะสม โดยน่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อจัดการเรื่องนี้เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เพราะถือว่าเป็นสินค้าสาธารณูปโภค คงก็ต้องมีการทำความเข้าในและปูพื้นฐานให้ทุกๆ ฝ่ายเข้าใจ

ส่วนของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อบริหารหนี้จากธนาคารของภาครัฐและภาคเอกเชนนั้นตนยังไม่เห็นรายละเอียดใดๆ และยังไม่มีความแน่ในใจหลักการ แต่หนี้ของธนาคารรัฐบาลน่าจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ทางบสท. จะต้องจัดการเพราะว่า หนี้ของธนาคารเอกชนในแต่ละองค์กรมีการจัดตั้งหน่วยขึ้นมาบริหารจัดการแก้ไขส่วนนี้อยู่แล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.