เจมาร์ทย้ำผู้นำตลาดมือถือ ฟันยอดกว่า5พันล้านปี46


ผู้จัดการรายวัน(18 ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เจมาร์ทฟันธงตลาดโทรศัพท์มือถือปีหน้าแข่งขันสูงในทุกระดับ ดีลเลอร์ล้มหายตายจาก พร้อมกับการปรับบทบาทดีลเลอร์กับดิสทริบิวเตอร์เข้าหากัน เปิดเผยปี 2546 ทำยอดขายกว่า 5,000 ล้าน บาท ด้วยยุทธศาสตร์การเป็นผู้นำในตลาดขายปลีก และสร้างเฮ้าส์แบรนด์ J-fone ที่เจาะตลาดทุกส่วน พร้อมแตกไลน์ด้วยบริการสินเชื่อ Thai Express ปล่อยกู้รวม 2,000 ล้านบาท เป็นจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่ต่อภาพเจมาร์ทให้ทิ้งคู่แข่งในวงการ

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางการทำธุรกิจในปี 2546 ว่าเจมาร์ทคาดว่ามีรายได้ประมาณ 5,100 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นจากปี 2545 ประมาณ 60% โดย ที่รายได้ในปี 2545 ประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโต จากปีก่อนหน้านี้ประมาณ 45% ในปี 2546 เจมาร์ท ยังให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลักประกอบด้วย 1.โทรศัพท์มือถือซึ่งในปีนี้ทำรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท 2. สินค้าด้านไอทีและ 3. บริษัท เจเอ็มที (JMT) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจมาร์ท โดยทำธุรกิจ 2 ส่วนคือบริหารการจัดเก็บหนี้สิน ให้กับทั้งธนาคารและสถาบันการ เงิน รวมทั้งโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถืออย่าง เอไอเอส ดีแทค ทีเอออเร้นจ์ และส่วนการบริหารการเช่าซื้อ ภายใต้ชื่อ Thai Express

Thai Express จะเป็นพระเอกในปีหน้าโดยทำธุรกิจด้านการเช่าซื้อ มีเป้าหมายปล่อยเงินกู้ในปีแรก 2,000 ล้านบาท เป็นจิ๊กซอว์อีกตัวที่จะทำให้เจมาร์ทเข้มแข็งมากขึ้น Thai Express ทำหน้าที่ เหมือนอิออน เฟิร์สช้อยส์ อีซี่บาย ซึ่งเป็นของต่างชาติทั้งสิ้น แต่ Thai Express จะเป็นบริษัทคนไทย เพื่อคนไทย เราจะเป็นองค์กรไทยรายแรกที่ทำธุรกิจ เช่าซื้อด้วยมาตรฐานเดียวกับต่างชาติ"

Thai Express จะให้สินเชื่อสำหรับสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ สินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ แต่จะยังไม่ทำบัตรเครดิต ซึ่ง คาดว่าจากวงเงินสินเชื่อในปีแรก 2,000 ล้านบาทจะทำกำไรกลับมาไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาท

ในมุมมองของเจมาร์ทสำหรับการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือในปี 2546 เห็นภาพภายหลังการ ลดโปรโมชั่นแพกเกจแอร์ไทม์ต่าง ๆ ของโอเปอเรเตอร์ การเติบโตของตลาดโทรศัพท์มือถือในต่างจังหวัด พบว่าในปี 2545 มีคนใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมดประมาณ 16-17 ล้านเครื่อง แต่ในปี 2546 หากอิงตามข้อมูลโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 ราย พบว่าจะมียอดการขายเครื่องใหม่ประมาณ 10 ล้านเครื่องที่เหลืออีกประมาณ 5-8 ล้าน เครื่องจะเป็นเครื่องที่สองหรือเป็นการซื้อทดแทนเครื่องเดิม (Replacement) โดยที่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความหลากหลายของโทรศัพท์มือถือที่ซัปพลาย-เออร์พร้อมในการทำตลาด รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของ ประเทศโดยรวม

"ตลาดนี้ยังเติบโตสูงและจะมีสีสันอีกมากในปีหน้า และเจมาร์ทจะเป็นผู้นำในตลาดรีเทลอย่างต่อ เนื่อง" นายอดิศักดิ์กล่าวและย้ำว่าการแข่งขันในธุรกิจ โทรศัพท์มือถือปีหน้าจะรุนแรงมากขึ้นในทุกระดับ เริ่มตั้งแต่โอเปอเรเตอร์จะสู้กันทุกรูปแบบ ถึงแม้จะมีการลดโปรโมชั่นแต่ก็จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการแอบแผงในลักษณะการรักษาลูกค้าเก่า

ในระดับดีลเลอร์ก็จะแข่งกันรุนแรง มีการล้มหายตายจากและจะมีหน้าใหม่เข้ามา ซึ่งเจมาร์ทยังคง รักษาความเป็นผู้นำในด้านรีเทลและทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โดยมีเป้าหมายที่ต้องสร้างช่องว่างกับคู่แข่งให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ให้คู่แข่งตามเจมาร์ท ยากมากขึ้น ในระดับดิสทริบิวเตอร์ ก็จะปรับบทบาท ให้เหมือนดีลเลอร์มากขึ้น ในขณะที่ดีลเลอร์ก็พยายาม ปรับบทบาทให้เหมือนดิสทริบิวเตอร์ เหมือนการที่เจมาร์ทเป็นผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ BIRD "ใครไม่มีชอปก็จะเปิดชอป ใครมีชอปแล้วก็จะเปิดเพิ่ม ภาพจะชัดเจนขึ้นในกลางปีหน้า ดีลเลอร์ กับดิสทริบิวเตอร์จะมีบทบาทที่ผสมกลมกลืนกัน ยกเว้นดิสทริบิวเตอร์หลักที่อิงโอเปอเรเตอร์ไม่ว่าจะเป็น AWM ที่เปลี่ยนชื่อเป็นดิจิตอลโฟน UD และออเร้นจ์"

สำหรับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเข้าไปจดทะเบียนได้ภายในกลางปี 2546 แต่ต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาด หากเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบเข้า แต่แนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะดี โดย ที่เจมาร์ทมองเวลาที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะเป็นช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่เหนือ 400 จุด ซึ่งหากเจมาร์ทยังไม่เข้าตลาดก็ไม่กระทบกับแหล่งเงิน ทุนของบริษัท เพราะผลประกอบการมีกำไรและสถาบันการเงินก็พร้อมให้เงินสนับสนุน โดยที่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำมาใช้ในการขยายสาขาให้มากขึ้นและการทำธุรกิจ Thai Express

ส่วนเรื่องการควบรวมกิจการนั้น นายอดิศักดิ์กล่าวย้ำว่าจุดยืนของเจมาร์ทคือการเป็นผู้นำด้าน รีเทลซึ่งจะยังไม่เปลี่ยนจุดยืนนั้น การควบรวมกิจการ ต้องเป็นบริษัทที่เข้มแข็ง โปร่งใส สามารถตรวจสอบ ได้ ซึ่งแนวทางของเจมาร์ทหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หากสนใจบริษัทไหนหรือธุรกิจไหนที่อยากได้ก็จะใช้วิธีซื้อเอา

ลุยเฮาส์แบรนด์เจ-โฟน

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์มือถือและอุปกรณ์เสริม เจมาร์ท กล่าวว่าในปี 2546 เจมาร์ทมีนโยบายที่จะสร้างตราสินค้าของตัวเองหรือเฮาส์แบรนด์ ภายใต้ชื่อ "J-fone" ซึ่ง จะมุ่งเน้นความแปลกใหม่ รูปแบบทันสมัย สีสันสดใส พร้อมแคมเปญการรับประกันเครื่อง 2 ปี ปีแรกค่าบริการพร้อมอะไหล่ฟรี ปีที่ 2 ค่าบริการฟรี

"บุคลิก J-fone จะคล้ายๆ กับดนตรี J-Pop ของญี่ปุ่นที่พูดถึงก็จะเห็นภาพความสดใสทันสมัย"

เขาเชื่อว่าช่องว่างของตลาดยังมีอยู่ทุกจุดทุกเซกเมนต์ เพราะแต่ละช่วงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายย่อมมีข้อต่อ ที่เป็นโอกาสของเจมาร์ท ที่ถือว่าอยู่แนว หน้าใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด ย่อมเข้าใจถึงความต้อง การของลูกค้าได้ดี กรณีการนำเข้าเครื่องยี่ห้อ BIRD เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีจากยอดขาย 5 หมื่นเครื่องในเวลา เพียง 3 เดือน

"ช่องว่างและโอกาสของตลาดสามารถใช้กลยุทธ์ได้ 2 แบบไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Pricing Strategy หรือ Product Strategy มือถือ J-fone อาจ มีคุณสมบัติ ฟังก์ชั่น ฟีเจอร์ในการใช้งานเหมือนพวก โทรศัพท์แบรนด์เนม 3 รายใหญ่แต่ราคาอาจถูกกว่า 10กว่า% ก็เป็นได"

J-fone จะอาศัยเทคโนโลยีการผลิตจาก 3 ประเทศหลัก คือจีน ไต้หวัน และเกาหลี ที่ต่างชำนาญ คนละด้าน อย่างจีนจะเหมาะกับโทรศัพท์มือถือในระดับล่างหรือ Entry Level ในด้านการออกแบบ ส่วนไต้หวัน สินค้าจะมีเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างไฮไฟริงโทน ทันสมัยมากขึ้น ส่วนเกาหลี ถือว่าเชี่ยว ชาญหลายด้านไม่ว่าจะเป็น GPRS WCDMA หรือ CDMA 2000 1X ซึ่งเจมาร์ทจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตและออกแบบโทรศัพท์มือถือให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ปีหน้าเจมาร์ทจะใช้เงินกว่า 10 ล้านบาทในการ เปิดตัวแบรนด์ J-fone ด้วย 2 รุ่นแรกในระดับล่างกับกลางก่อน แต่หลังจากนั้นจะมีสินค้าครบทุกเซก-เมนต์ตั้งแต่ระดับไม่กี่พันบาทจนมากกว่า 1 หมื่นบาท มีทั้งจอสี MMS WAP

"ปีหน้าเราจะขายโทรศัพท์มือถือประมาณ 7 แสนเครื่อง โดยเฉพาะแบรนด์ J-fone เราคาดว่าจะขายได้ 1 แสนเครื่องภายใน 3 เดือน รวมทั้งยังร่วมมือกับเอไอเอสในการ Re-lauch โทรศัพท์มือถือ BIRD 8288 ในรูปแบบวัน-ทู-คอล! แพกเกจราคา 4,900 บาท"

รุกขยายสาขาทั่วประเทศ

นายธนารักษ์ อุ่นเรือน ผู้จัดการอาวุโสการตลาด และพัฒนาธุรกิจ เจมาร์ทกล่าวว่าในปีหน้าเจมาร์ทจะขยายสาขาให้ครบ 300 แห่งทั่วประเทศจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 185 สาขาและจะครบ 200 สาขาในสิ้นปีนี้ เจมาร์ทมีเอาต์เลตในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีสินค้าครบทั้งโทรศัพท์มือถือ สินค้าไอที ร้านค้าขนาดเล็ก พื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตรในสถานีน้ำมันอย่างปั๊มเจ็ท และปั๊มคาลเท็กซ์ประมาณ 12-15 แห่ง ซึ่งจะเริ่มเปิด 2 แห่งแรกในเดือนม.ค.ปีหน้า

มีการเปิดบริการในรูปแบบคีออส มุ่งเน้นการให้ บริการยังแหล่งชุมชนต่างๆ โดยเน้นที่อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ โดยเตรียมเปิดให้ บริการในท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งขยายเข้าไปยังโมเดิร์นเทรดต่างๆ อย่างโลตัส คาร์ฟูร์ครบทุกสาขาทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายสาขาในรูปแบบ Stand Alone ตามตึกแถวในต่างจังหวัดอย่างยะลา สุพรรณบุรี สระบุรี ยโสธร

เจมาร์ทยังร่วมมือกับเอไอเอสและแบรนด์มือถือชั้นนำในการเปิดโครงการ Jay Mart IT Solution Complex ในลักษณะอาคารแบบ Glass House 3 ชั้นประกอบด้วยชั้น 1 ศูนย์จำหน่ายและแสดงสินค้าเอไอเอส วัน-ทู-คอล! ซีเมนส์ โซนี่- อีริคสัน โมโตโรล่า โนเกีย เคาน์เตอร์บริการอิออน บัตรเครดิตกรุงไทย ชั้น 2 ศูนย์บริการเจมาร์ทครบวงจร อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ชั้น 3 ศูนย์จำหน่ายสินค้าไอทีของโซนี่ คอมแพค เอชพี เอเซอร์ เลเซอร์ ปาล์ม และแคนนอน พร้อมศูนย์บริการ โดยใช้งบลงทุน 20 ล้านบาทและคาดว่าจะทำยอดขายเดือนละ 20 ล้านบาทเช่นกัน

เจาร์ทยังร่วมมือกับโนเกียร่วมจัดงานแสดงสินค้าในชื่องาน Nokia Thailand Expo 2003 ตลอด ทั้งปี เพื่อมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ของสินค้าไอทีของโลก รวมทั้งมีแผนจัดงานหมุนเวียนทั่วประเทศตลอดทั้งปีกว่า 60 ครั้ง โดยเซ็นสัญญากับเซ็นทรัลพัฒนาและเดอะมอลล์อีกทั้งมีโครงการไดเร็กเซลล์ร่วมกับแอมเวย์ ซึ่งปัจจุบันเจมาร์ทร่วม กับเอไอเอส เอาข้อมูลแอมเวย์ส่งผ่าน SMS ให้พนักงานขายแอมเวย์กว่า 1.5 หมื่นเครื่อง และยังมีแผนเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปจำหน่ายในช่องทางดังกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.