ปี 2540 เบทาโกรจะขยายงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"เครือเบทาโกรมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะทยอยเข้าจดทะเบียนทีละสายธุรกิจไป"

นั่นเป็นคำบอกเล่าของ อรอนงค์ ศิริรังคมานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ของเครือเบทาโกร เธอขยายความต่อไปถึงแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในขั้นแรกนั้นจะนำบริษัทที่อยู่ในสายธุรกิจการเกษตร ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจดั้งเดิมอายุเกือบ 30 ปี เป็นตัวนำร่องเข้าจดทะเบียนก่อน ในนามบริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป

"ความจริงแล้ว เรามีความคืบหน้าไปมากแล้ว กล่าวคือ เราได้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชีย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 40-50 บาท แต่ตอนนี้สถานการณ์ตลาดยังไม่ค่อยสดใสนัก เราอาจจะเลื่อนการซื้อขายไปอีกระยะหนึ่ง อาจจะประมาณเดือน ก.พ. 40 ก็เป็นได้"

สาเหตุที่ทางผู้บริหารเลือกสายธุรกิจนี้ เนื่องจากสายเกษตรเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทมีรายได้เป็นอันดับหนึ่ง คือ ปีละ 8,500 ล้านบาทเศษ หรือคิดเห็น 89% และเป็นการทำธุรกิจที่เป็นเกษตรแบบครบวงจร มีความมั่นคงแน่นอนสูง

สำหรับธุรกิจของเครือเบทาโกรนั้น แบ่งออกเป็น 4 สาย คือ 1. สายเกษตร 2. สายเทคโนโลยีและชีวภาพ 3. สายอสังหาริมทรัพย์ และ 4. สายเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ ยอดขายรวมขงเครือเบทาโกรนั้น ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท รายได้จากสายเกษตรครองอันดับ 1 ตามมาด้วยสายเทคโนโลยีและชีวภาพ มีรายได้เป็นอันดับสองประมาณ 1,200 ล้านบาท ที่เหลือกระจายกันไปในสายที่ดิน และคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ อรอนงค์ ยังได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้าของเครือเบทาโกร ว่าจะมีการปรับปรุงองค์กรในภาพกว้างทั้งระบบ ซึ่งการปรับครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับพนักงานในระยะยาวอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งภาพรวมของธุรกิจในปีหน้านั้น จะพยายามขยายมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุกสายธุรกิจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาจะมีรายได้จากสายเกษตรเป็นหลัก โดยสายเกษตรนี้จะเน้นการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และในระยะต่อไปนี้จะเน้นการสร้างรายได้จากสายเทคโนโลยีและชีวภาพมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นไปมาก แต่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตไม่ได้มีการเตรียมรองรับไว้ เป็นผลให้ประชาชนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และทุกคนเพิ่งมาเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเชื่อว่าโอกาสขยายตัวในงานเหล่านี้มีสูงมาก

"คืออย่างน้อยพยายามให้สายเทคโนโลยีมีสัดส่วนยอดขายให้ได้ 40% ของมูลค่ารวมทั้งหมดให้ได้ภายใน 3 ปีนับจากนี้ ดังนั้น ในปี 2540 ถือว่าเป็นปีที่สายเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้นทีเดียว"

และหมวกอีกใบที่เธอสวมอยู่ คือ ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท เบทาโกร เทคโนโลยี คอร์เปอเรชั่น ซึ่งอยู่ในสายธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โดยงานล่าสุดที่เป็นผลงานของบริษัท คือ การเข้าไปประมูลงานสร้างโรงงานวัคซีนไก่ให้กับศูนย์ผลิตชีวภัณฑ์ กรมปศุสัตว์ ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นการทำสัญญาแบบเทิร์นคีย์ มูลค่ากว่า 786 ล้านบาท จะเสร็จสมบูรณ์ในราวเดือนเมษายน ปี 2540 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจด้านอื่น ๆ อีก เรื่องอาหารสัตว์ เช่น อาหารกุ้ง ปลา สุนัข แมว

ในส่วนของธุรกิจที่คาดว่าจะทำเป็นรายต่อไป คือ ทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นการร่วมลงทุนกับต่างประเทศ โดยล่าสุด คือ การร่วมทุนกับบริษัทโกลเดอร์ แอสโซซิเอท จากประเทศแคนาดา ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทชั้นนำอันดับ 10 ของโลก มีสาขาอยู่ถึง 60 แห่งทั่วโลก จัดตั้งบริษัท บีทีจี โกลเดอร์ เอนเวอร์ลอฟเม้นท์ มีทุนจดทะเบียนระยะแรก 5 ล้านบาท จะเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. ปีนี้ และนายกรัฐมนตรีของแคนาดาจะเป็นประธานในพิธีเปิด

วัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทดังกล่าว เพื่อดำเนินธุรกิจทางด้านสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร ตั้งแต่น้ำ อากาศ ของแข็ง อรอนงค์ บอกว่า เราจะเข้าไปประมูลงานทุกประเภทตั้งแต่การทำบ่อบำบัดน้ำเสีย อากาศ ขยะ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงการเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

อรอนงค์ บอกว่า ขณะนี้บริษัทกำลังเสนอโครงการบำรุงรักษาเจ้าพระยาเข้าไปยัง ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่ากทม. ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่เป็นทางการออกมา

"เรามองว่า ควรจะรีบเยียวยาเจ้าพระยาเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าให้แย่ไปกว่านี้ ถ้าโครงการนี้ร่วมมือกันได้ เราก็จะเสนอบำบัดไปอีกตามคลองใหญ่ ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น คลองภาษีเจริญ คลองแสนแสบ ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ซึ่งเราจะใช้เทคโนโลยีจากประเทศแคนาดา"

เนื่องจากบริษัทที่เบทาโกร ร่วมทุนนี้มีประสบการณ์ในการทำทรีทเม้นท์หรือบำบัดน้ำเสียในแม่น้ำลำคลองที่มีปัญหามาแล้วมากมายในประเทศต่าง ๆ เช่น คลองเวนิส ในประเทศอิตาลี เลคบีวา ในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกงฮาเบอร์ ที่ฮ่องกง สำหรับงบประมาณในการใช้จ่ายคาดว่า จะไม่สูงมากนัก ถ้าทำทั่วกรุงเทพฯ ในระยะแรก ทางแคนาดาอาจจะจัดสรรงบประมาณให้เปล่าได้ส่วนหนึ่ง

นอกจากนั้น ทางสายเทคโนโลยีชีวภาพ ยังมีโครงการอื่น ๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมอีก เช่น การเปิดให้บริการห้องแล็บ ในงานด้านอาหาร ยา และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการให้เอกชนที่ไม่สามารถมีห้องแล็บเองสามารถขอใช้บริการได้ หรือนักศึกษาที่อาจจะมีปัญหาเรื่องห้องแล็บไม่พอใจในสถาบันการศึกษาก็มาขอใช้จากบริษัทได้

สำหรับประวัติส่วนตัวนั้น อรอนงค์ ถือว่าเป็นนักชีวเคมีเต็มตัว เธอจบวิทยาศาสตร์รุ่นแรกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไปจบปริญญาโทาทางด้านไบโอเคมี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลองบีช สหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ที่บริษัทลีเวอร์ บราเธอร์ และเธออยู่กับเบทาโกรมา 18 ปีเศษ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.