|
เมื่อศาลห้ามกระจายหุ้น กฟผ.
ผู้จัดการรายวัน(18 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์พลิกล็อกขนานใหญ่ชนิดที่สื่อมวลชนเรียกว่า “หักปากกาเซียน” ให้เป็นที่ฮือฮากันทั่วประเทศและทั่วโลก นั่นคือการที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งห้ามชั่วคราวไม่ให้กระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียวได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมคัดค้านเรื่องนี้ และมีเหตุการณ์ทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมตลอดจนการจับกุมและยึดทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง
เหตุการณ์พลิกล็อกเกิดขึ้นก็เพราะว่ารัฐบาลมุ่งมั่นและยืนหยัดที่จะนำหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กระจายขายให้กับต่างชาติและนักลงทุนรายย่อย โดยกำหนดวันขายไว้ในช่วงเวลาเดียวกันกับวันเวลาที่ศาลจะมีคำสั่งห้าม
การทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่ากระบวนการทั้งหลายที่ได้ดำเนินมาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยชอบ และถึงขนาดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมเอาความเชื่อมั่นของประเทศไทยเป็นเดิมพันด้วยการเบิกความต่อศาลว่าหากห้ามกระจายหุ้นแล้วจะทำให้ความเชื่อถือและเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศไทยหมดไปในสายตาของต่างชาติ
เห็นหรือยังว่าความรู้ ความสามารถ ของรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นอย่างไร! เพราะกลายเป็นว่าความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อประเทศไทยและรัฐบาลไทย ตลอดจนเศรษฐกิจไทยที่ทำมาทั้งหมดนั้นไม่มีความหมายหรือคุณค่าอะไร เพราะขึ้นอยู่กับสิ่งเดียวเท่านั้นคือการกระจายหุ้น กฟผ. ในครั้งนี้
เดชะบุญที่ศาลปกครองสูงสุดไม่เชื่อจึงมีคำสั่งห้าม โดยมีเหตุผลว่าคดีมีมูลที่ศาลจะรับคดีไว้พิจารณาและมีเหตุพอเพียงที่ศาลจะใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนคำพิพากษา จึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการขายหรือกระจายหุ้นดังกล่าว
เรื่องนี้มีความเป็นมายืดยาวและสลับซับซ้อน อยากจะเขียนอยากจะพูดมาหลายครั้งแล้ว แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะอธิบายให้เกิดความเข้าใจได้โดยง่าย ทั้งกระบวนการที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติที่ทำการเคลื่อนไหวคัดค้านอยู่ในขณะนี้ก็ได้ดำเนินการอยู่อย่างขะมักเขม้น จึงหยิบฉวยเอาเรื่องอื่นขึ้นมากล่าวเสียก่อน แต่มาบัดนี้ก็ถึงเวลาจำเป็นแล้วที่จะต้องพูดเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่าย ๆ ในเนื้อที่อันจำกัด จะได้รู้ที่มาที่ไปและผลที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
แต่ก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าจะพยายามหาวิธีพูดจาที่ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ในเนื้อที่อันจำกัดที่สุด และขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่สนใจในแต่ละส่วนแต่ละตอนที่จะไปแสวงหารายละเอียดดูกันเอาเอง
เดิมทีนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจถือว่ากิจการดังกล่าวนี้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเป็นของชาติ เป็นของประชาชนร่วมกัน มีหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในลักษณะการผูกขาดแต่เจ้าเดียว ยกเว้นก็เฉพาะการอนุญาตเฉพาะกิจเฉพาะรายเท่านั้น
ต่อมาก็มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขึ้น คือกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่ให้อำนาจรัฐบาลในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นแบบเอกชนได้ โดยให้อำนาจรัฐบาลในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดสิทธิประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจที่จะแปรรูปนั้น ตลอดจนการนำหุ้นออกจำหน่ายขายและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่คือตัวแม่บทใหญ่ที่เป็นต้นเหตุต้นตอของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งปวง
รัฐบาลได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายนี้ออกพระราชกฤษฎีกาสองฉบับ
ฉบับแรก คือพระราชกฤษฎีกากำหนดสิทธิประโยชน์ว่า กฟผ. ที่จะแปรรูปนี้มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ที่สำคัญคือไปให้สิทธิประโยชน์ในเขื่อนสายส่ง การติดตั้งเสาไฟฟ้า การตั้งโรงไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ฉบับที่สอง คือพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้เป็นบริษัทมหาชน และให้ผู้บริหารสามารถกระจายหุ้นขายและนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้
รัฐบาลได้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้มาจนถึงขั้นที่มีการประกาศกระจายหุ้นขายเพื่อจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยสัดส่วนของหุ้นที่จะกระจายนั้นมีประมาณ 8,000 ล้านหุ้น กำหนดให้ขายกับนักลงทุนต่างชาติกว่า 7,000 ล้านหุ้นเศษ กำหนดให้ขายแก่นักลงทุนรายย่อยคนไทย รวมทั้งพนักงานของการไฟฟ้าราว 600 ล้านหุ้นเศษ
ปรากฏว่ามีการคัดค้านจากองค์กรเอกชนจากนักวิชาการ จากพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ในที่สุดก็อ่อนกำลังลงเพราะทนสู้อำนาจรัฐที่รวบและรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นทุกทีไม่ไหว แม้การชุมนุมก็ถูกทุบตีทำร้ายราวกับว่ากำลังอยู่ในยุคเผด็จการทรราช
ในที่สุดองค์กรประชาชนและกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิ์ของประชาชนจำนวนหนึ่งจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เป็นเนื้อความว่ารัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแม่บท และกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ก่อน ทั้งไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าผู้บริโภคและประชาชนจะได้รับความรับรองคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่จะไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการดังกล่าว
การคัดค้านข้อแรกได้กล่าวอ้างที่เข้าใจเนื้อความได้ว่า รัฐวิสาหกิจใดมีทรัพย์สินอยู่เท่าใด มีสิทธิประโยชน์อยู่เท่าใด กฎหมายให้อำนาจกำหนดสิทธิประโยชน์ได้เพียงเท่านั้น จะไปให้สิทธิประโยชน์เกินไปกว่าที่มีอยู่ หรือล่วงล้ำก้ำเกินกฎหมายอื่นหรือสิทธิอื่น ๆ ของประเทศชาติและประชาชนไม่ได้
คำคัดค้านข้อนี้มีน้ำหนักมาก เพราะพระราชกฤษฎีกากำหนดสิทธิประโยชน์นั้นผ่าไปกำหนดสิทธิประโยชน์เกินไปกว่าที่ กฟผ. เคยมี และไปล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิของประชาชนและประเทศชาติมากหลาย
นั่นคือบรรดาเขื่อนทั้งปวงของประเทศนี้ ทางน้ำ แหล่งน้ำที่ไปสู่เขื่อนนั้น สายส่งทั้งหลาย สิทธิเหนือพื้นดินทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและในอนาคตซึ่งเป็นของเอกชนและของรัฐ กลายเป็นสิทธิประโยชน์ของ กฟผ. ไปทั้งหมด
เปรียบเทียบง่าย ๆ ได้ว่าเดิม กฟผ. มีทรัพย์สิน 10 รายการ ราคา 1,000 บาท ตามกฎหมายให้กำหนดสิทธิได้ไม่เกิน 10 รายการและไม่เกิน 1,000 บาท แต่ผ่าไปกำหนดเอาทรัพย์สินของชาติหรือสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งสิทธิของเอกชนเข้าไปอีก 20 รายการ ราคาอีก 1 ล้านบาท เปรียบเทียบเช่นนี้ก็จะเข้าใจได้ง่าย
เป็นแต่ว่าสิ่งที่ไปกำหนดเพิ่มขึ้นนั้นมันเป็นสมบัติของชาติ เขื่อนทั้งหมดสร้างตามกระแสพระราชดำรัส ได้รับพระราชทานนามเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน บนผืนแผ่นดินอันเป็นของรัฐ เส้นทางน้ำที่มายังเขื่อนก็เป็นของแผ่นดิน ซึ่งบางที่อาจจะไหลผ่านที่เอกชน สายส่งทั้งหมดก็ปักอยู่ในที่แผ่นดินและในที่เอกชนร่วมกัน โรงงานหรือสถานีจ่ายไฟหรือพักไฟก็ตั้งอยู่ในที่ของแผ่นดินหรือเอกชน สิทธิเหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นของ กฟผ. ทั้งหมด
ดังนั้นสิทธิประโยชน์ที่กำหนดให้จึงมากกว่าทรัพย์สินดั้งเดิมของ กฟผ. มากมายหลายเท่านัก
ที่สำคัญก็คือต้องมีการดำเนินกระบวนการขั้นตอนหลายอย่าง ซึ่งฝ่ายผู้คัดค้านกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านั้น
ข้อคัดค้านข้อที่สองมีเนื้อความสรุปเป็นใจความได้ว่ากิจการไฟฟ้าเป็นประโยชน์ได้เสียที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐธรรมนูญบัญญัติบังคับให้รัฐบาลต้องทำประชาพิจารณ์ก่อนแต่ไม่ได้กระทำ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ข้อคัดค้านที่สรุปได้เพียงสองข้อนี้เป็นหลักใหญ่ใจความและเป็นน้ำหนักที่หนักหน่วงเอาการ โดยสรุปก็คือเป็นการเอาทรัพย์สมบัติของชาติและของประชาชนแถมพกให้กับการแปรรูป นอกเหนือไปจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างหนึ่ง และไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งสองข้อนี้หากเป็นจริงตามคำคัดค้านแล้ว รัฐบาลก็แทบจะไม่มีความชอบธรรมหรือความเชื่อถืออะไรหลงเหลืออยู่อีกแล้ว เพราะเป็นข้อหาที่ฝ่าฝืนกฎหมายและทำลายผลประโยชน์ของชาติที่หนักหน่วงมาก
ยังไม่รวมถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเงื่อนงำซับซ้อนซ่อนเร้นว่าการจัดสรรหุ้นขายให้กับต่างชาติกว่า 7,000 ล้านหุ้นนั้นก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของทุนการเมืองที่แอบแฝงบังเงาสมคบกับทุนต่างชาติ
ข้อกล่าวหาทั้งสองข้อนี้จะเป็นเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดจะต้องพิจารณาสืบพยานและวินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ซึ่งในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษานั้นศาลก็ได้ตั้งประเด็นธงสำคัญว่าความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้เป็นเรื่องที่ศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
แต่ในชั้นคุ้มครองชั่วคราวนี้เมื่อปรากฏว่าไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์และมีเหตุผลตามกฎหมายเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเป็นเบื้องต้นจึงมีมูลที่ศาลจะรับคดีไว้พิจารณาได้
นี่คือการบ่งชี้ว่ามีการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่กระบวนการถอดถอนผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องออกจากตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติต่อไป
ศาลไม่เชื่อว่าการห้ามกระจายหุ้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของต่างชาติ เพราะหากการกระจายหุ้นไม่ได้เป็นเพราะคำสั่งศาลแล้ว ต่างชาติก็ต้องเข้าใจ
ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการกระจายหุ้นตามที่มุ่งมั่นผลักดันและคาดหมายกัน ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านและผู้รักหวงห่วงใยทรัพย์สมบัติของชาติค่อยมีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น
หากเมื่อถึงชั้นพิจารณาพิพากษาและข้อเท็จจริงเกิดปรากฏขึ้นในศาลแล้วฟังได้ว่ามีการกำหนดสิทธิประโยชน์เอาทรัพย์สมบัติของชาติและของประชาชนให้เป็นของ กฟผ. เกินเลยออกไปจากที่มีอยู่และจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้ และการแปรรูปไม่ได้กระทำประชาพิจารณ์ ซึ่งข้อเท็จจริงมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปเช่นนั้นแล้ว ศาลก็มีอำนาจพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับได้
และเมื่อนั้นบริษัทการไฟฟ้าลักษณะมหาชนที่ว่านี้ก็จะต้องกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจดังเดิม
ได้เห็นคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแล้วทำให้นึกขึ้นได้ถึงคำวินิจฉัยสำคัญของศาลฎีกาในคดีอาชญากรสงครามฉบับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ว่า “คนทั้งหลายย่อมหวังในความยุติธรรมของศาลเป็นที่ตั้ง … ศาลคือที่พึ่งแหล่งสุดท้ายของประชาชน” ดังนั้นจึงเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งใหญ่ของศาลที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับคนทั้งหลาย โดยไม่คำนึงว่าคู่ความแต่ละฝ่ายจะเป็นใคร
เพราะนี่คือการสำแดงพลานุภาพของการกระทำการ “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ให้คนทั้งหลายที่หวังในความยุติธรรมของศาลเป็นที่ตั้งนั้นพึ่งพาอาศัยได้ เพราะยามใดที่อธรรมมีอำนาจ “ยามนั้นประชาชนย่อมถวิลหาพระเจ้าอยู่หัว”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|