ชง 4 ข้อ ลดภาษีสิ่งพิมพ์


ผู้จัดการรายวัน(18 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยื่นเรื่องรัฐพิจารณา ลดภาษีเหลือ 0% ในส่วนของซีดีที่มากับหนังสือ และฟิล์มนำเข้าจากต่างประเทศ หวังลดต้นทุนสู้กับสิงคโปร์

นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ทางภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างอัตราภาษีสิ่งพิมพ์ใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทยมีการขยายตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสมาคมฯเองยังมีความเห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐพิจารณานั้นยังไม่ครอบคลุม

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เสนอปัญหาต่างๆ ที่ภาครัฐอาจจะยังไม่ได้พิจารณาหลายประเด็นคือ 1. เรื่องแผ่นซีดีที่ติดมากับหนังสือ ซึ่งทางกรมศุลกากรตีความว่าจะต้องแยกออกมาจากตัวหนังสือ จึงคิดเก็บภาษีอีก 30% สมาคมฯ เสนอให้ยกเลิกเป็น 0% 2.การผลิตสิ่งพิมพ์ในไทย บางครั้งจะใช้ฟิล์มที่ส่งมาจากต่างประเทศในการพิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งทางกรมศุลกากร คิดเก็บภาษีฟิล์มส่วนนี้ 30% สมาคมฯ เสนอให้ยกเลิกเป็น 0%

3.ขอให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทั้งหมดเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็น 0% ไม่ใช่ 7% เพราะทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้ ต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักพิมพ์ไม่สามารถขอคืนภาษีได้ ทำให้ต้องมีต้นทุนสูงจึงไปบวกรวมกับราคาขายหนังสือ 4. การนำเข้านิตยสารต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทย ควรจะมีการลดภาษีนำเข้าลงบ้าง

ประเด็นที่สมาคมฯ เสนอไปนั้น ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในไทยอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ ในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียเช่นที่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ภาษีเหล่านี้เขาเลิกไปหมดแล้ว ทำให้เขามีความได้เปรียบกว่าในประเทศไทยมาก ดังนั้นการที่สมาคมฯ มีแผนที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งหนังสือก็จะลำบาก ถ้ายังมีอุปสรรคจากปัจจัยดังกล่าว

นายธนะชัยกล่าวว่า หากปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขตามที่สมาคมฯ เสนอไปนั้น จะเป็นผลดีอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในไทย เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางของสิ่งพิมพ์ได้ และสามารถต่อสู้กับสิงคโปร์ได้ อีกทั้งจะทำให้มีงานจากต่างประเทศเข้ามาพิมพ์ในไทยมากขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสืออาเชียน ซึ่งรวบรวมสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเชียนทั้งหมด 7 ประเทศ ประกอบด้วยไทย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีแผนที่จะจัดงานบุ๊คเอ็กซ์โปในกรุงเทพฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่เพื่อจะยกระดับของงานให้สู้กับระดับโลกได้ ซึ่งปัจจุบันนี้งานยิ่งใหญ่คือที่บุ๊คแฟร์ที่เยอรมัน ส่วนในเอเชียคือจีนกับญี่ปุ่นขณะเดียวกัน ยังมีแผนที่จะเชิญอีก 3 ประเทศ เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมฯ ด้วยคือ บรูไน เขมร พม่า

ปัจจุบันตลาดหนังสือโดยเฉพาะพ็อคเก็ตบุ๊คในไทยมีการเติบโตค่อนข้างดี มีปริมาณการออกเล่มใหม่ๆมากกว่า 10-20 เล่มต่อวัน อีกทั้งการอ่านหนังสือของคนไทยมีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่อ่านประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าต่อวัน เพิ่มเป็น 1 ชั่วโมงกว่าต่อวัน

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางสมาคมฯ มีแนวคิดที่จะทำการเก็บรวมรวมข้อมูลเพื่อทำการสำรวจดัชนีการอ่านของคนไทยเองเป็นครั้งแรก โดยนำเอาฐานข้อมูลจากสมาชิกฯและการจัดจำหน่าย และจากการสอบถามความเห็นเพื่อตัวเลขที่ใช้ในการอ้างอิง เนื่องจากที่ผ่านมาทางสำนักงานสถิติแห่งชาติมีฐานข้อมูลในการจัดเก็บไม่สมบูรณ์ ซึ่งสมาคมฯ จะเริ่มในเดือนหน้านี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.