เจาะระบบถอดรหัสเรื่องของแฮกเกอร์ที่เป็นเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ "ผู้จัดการ" ไปพบเขา ที่ทาวน์เฮาส์แห่งหนึ่งในย่านลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ทศพล กนกนุวัตร์ กำลังพิมพ์ต้นฉบับหนังสือเล่มใหม่ ของเขา เป็นผลงานเล่ม ที่ 4 ที่มีกำหนดวางแผงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ทศพล เป็นนิสิตชั้นปี 4 คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เหมือนกับเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ทั่วไป ที่ยังคงชื่นชอบกับการดูหนังฟังเพลง วาดภาพ ชื่นชอบดารานักร้องอย่างนิโคล และทาทายัง วันนั้น เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เขาอยากเป็นผู้กำกับหนัง และเขาอาจจะเลือกไปเรียนต่อด้านฟิล์ม ที่ต่างประเทศ

แต่ในด้านหนึ่ง ทศพล คือ เจ้าของผลงานพ็อกเก็ตบุ้ค "เจาะระบบ ถอดรหัส" หรือ How to hack ที่มียอดตีพิมพ์สูงสุด เมื่อเทียบกับพ็อกเก็ตบุ้คแนวคอมพิวเตอร์ด้วยกัน ที่สำนักพิมพ์ ซีเอ็ดดูเคชั่นเคยผลิตมา

นอกจากนี้ เขายังได้รับการขอความร่วมมือจาก พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองผู้บัญชาการศูนย์ข้อมูลสารสนเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตามล่าเว็บไซต์ ที่ก่อความเสียหายให้กับประเทศ ในฐานะของแฮกเกอร์มือฉมังคนหนึ่งของเมืองไทย

เนื้อหาของหนังสือ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ "แฮกเกอร์" หรือการเจาะเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยสำนวน ที่อ่านง่ายๆ ที่ให้ทั้งแง่มุมสองด้าน ด้านหนึ่ง ก็เหมือนกับการสอนเทคนิค ที่เป็นพื้นฐานให้กับแฮกเกอร์สมัครเล่นทั้งหลาย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็อาจเป็นการสะท้อนให้บรรดาเจ้าของศูนย์ข้อมูล ทั้งหลายระมัดระวังตัวเอง จากบรรดาแฮกเกอร์ทั้งหลาย

ด้วยเรื่องราวเหล่านี้เอง นับว่าเป็นการท้าทายไม่น้อยทีเดียวสำหรับหนังสือเล่มนี้ เพราะการเป็นแฮกเกอร์ ในโลกไซเบอร์สเปซ มันให้ความหมายในแง่ลบ หมายถึงผู้ที่แอบลักลอบเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

"ช่วงออกใหม่ๆ ทางซีเอ็ดโดนโจมตีเยอะ มีทั้ง ที่ชอบ และ ที่ไม่ชอบ ซึ่งก็เป็นเพราะเนื้อหา ที่ดูล่อแหลม" ทศพล เล่าให้ฟัง

ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยความล่อแหลมของเนื้อหาในความรู้สึกของใครหลายคนที่ส่งผลต่อยอดพิมพ์ ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นครั้ง ที่ 12 ยอดพิมพ์แต่ละครั้งตกประมาณ 3,000-5,000 เล่ม ภายในเวลาเพียงแค่ปีเดียว

ทศพลไม่ได้บอกถึงผลสำเร็จในด้านตัวเลขของรายได้ ที่เขาได้รับส่วนแบ่งมาเท่าใด แต่จากผลงานในครั้งนี้ ทำให้เขาแจ้งเกิดทันทีในฐานะนักเขียน ที่มีผลงานทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้เขามักจะได้รับอีเมลมาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์วันละหลายๆ ฉบับ ที่มีทั้งขอความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป รวมไปถึงการขอให้ช่วย hack อีเมลคนอื่น

จะว่าไปแล้ว ทศพลก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกหลายคนที่มองเห็นโอกาสก่อนคนอื่น เขามีโอกาสสัมผัสกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 7 ขวบ ในที่ทำงานของแม่ ที่รับราชการทหารดูแลงานด้านสารบัญ ซึ่งถือว่าเป็นการวางฐาน ที่สำคัญในเวลาต่อมา

จากนั้น ทศพลมาเริ่มเรียนรู้คอมพิวเตอร์อย่างจริงจังอีกครั้งในช่วง ที่เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับ ที่อินเตอร์เน็ตเริ่มบูม ความสนใจของเขา จึงเปิดกว้างกับสิ่งใหม่ๆ ที่เขาเรียนรู้จากเครือข่ายแห่งนี้

แต่สิ่งที่ทศพลแตกต่างไปจากเด็กวัยรุ่นอื่นๆ ที่นิยมชมชอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจเรื่องอื่นนอกจากซอฟต์แวร์ หรือระบบใหม่ๆ เพราะในอีกมุมหนึ่งเขาก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่นทั่วไป ที่ชอบฟัง เพลง เขียนเรื่อง สั้นลงตามนิตยสารต่างๆ

และจากจุดเหล่านี้เอง ที่กลายเป็นส่วนผสมของ ที่มาของการเขียนหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เป็นเรื่องราวของ "แฮกเกอร์" มานำเสนอ

"ผมว่าแฮกเกอร์มันเป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นจริงเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของแบงก์ เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานหลายแห่ง แต่กลับไม่มีหนังสือของไทยเล่มใดทำมาก่อน จะมีก็แต่หนังสือจากต่างประเทศ ผมอยากลองทำดู อยากมีผลงานเป็นของตัวเอง" ทศพลเล่าถึงสาเหตุของการเขียนในครั้งนั้น

ทศพลเล่าว่า วัตถุดิบ ที่ได้จากการเขียนมาจาก 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเขาใช้วิธีศึกษาจากตำราของต่างประเทศ ที่เป็นเรื่องของระบบรักษาความปลอดภัยบนเว็บ และบนคอมพิวเตอร์ และข้อมูลที่ได้จากอินเตอร์เน็ต

แน่นอนว่าในอีกด้านหนึ่งก็คือ การเป็นแฮกเกอร์สมัครเล่น ที่ได้จากประสบการณ์ตรง ที่เขาไปทดสอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยว่าระบบใด ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว

หลังจากประสบความสำเร็จจากพ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรก เจาะระบบถอด รหัสในเวลาไม่นาน ซีเอ็ดก็ให้เขาเขียนเล่ม ที่สอง วางตลาดออกมาทันที ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งเขาใช้ชื่อหนังสือว่าเข้า รหัสป้องกันระบบ หรือ How to Protect

เมื่อมาถึงเล่ม ที่ 3 คราวนี้ทศพลเป็นนายทุนเอง ลงทุนตีพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ้ค ด้วยเงินทุนของตัวเอง ใช้ชื่อว่า รหัสลับ รหัสร้อน มีเค้าโครงเรื่องคล้ายคลึงกับสองเล่มแรก โดยจ้างดวงกมลเป็นผู้พิมพ์ และจัดจำหน่ายให้ ผลปรากฏว่างานนี้เสมอตัว ได้กำไรมานิดหน่อย

สำหรับพ็อกเก็ตบุ้ค เล่ม ที่ 4 ที่เขากำลังเขียนต้นฉบับอยู่นั้น เขากลับไปร่วมมือกับซีเอ็ดเหมือนเดิม จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบันได 12 ขั้นในการสร้างเว็บไซต์ให้เป็นที่นิยม เริ่มตั้งแต่การคิดคอนเซ็ปต์ จนถึงการทำเว็บโฮสติ้ง และการหารายได้จากเว็บไซต ์ ที่จะวางแผงในอีกไม่กี่เดือนนี้ ทศพลใช้เวลาในการเขียนแต่ละเล่มไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น

วัตถุดิบในการเขียนครั้งนี้ นอกเหนือจากข้อมูลจากตำราทั่วไปแล้วส่วนหนึ่งก็มาจากเว็บไซต์ สยามแฮก ที่เขาส ร้างขึ้นมา ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นสื่อ ที่ใช้โปรโมตหนังสือ ขณะเดียวกันหนังสือ ที่วางแผงอยู่นี้ก็จะเป็นตัว ที่โปรโมตเว็บให้กับเขา ซึ่งทำให้เขาเรียนรู้การใช้ประโยชน์ของการใช้กลยุทธ์ข้ามสื่อ

และปรากฏว่าสร้างความสำเร็จไม่น้อยทีเดียว เพราะวันที่ "ผู้จัดการ" ไป พบเขาในช่วงเช้าของวันเดียวกัน เขาเพิ่งเซ็นสัญญากับ ซีเอส อินเตอร์เน็ต ในเครือชินคอร์ป ในการให้ความช่วยเหลือ เว็บไซต์ สยามแฮก.คอม ทั้งในเรื่องการ ให้ใช้อีเมลฟรี ใช้เนื้อ ที่ในการโฮสต์ฟรี รวมถึงการหาโฆษณาให้เป็นเวลา 3 ปี

ยิ่งมาถูกจุดพลุด้วย กรณีของเว็บไซต์ ช้อปปิ้งไทยแลนด์ ของล็อกซอินโฟ โดนแฮกเกอร์มือดีจากต่างประเทศ เจาะเข้าไปเอาหมายเลขบัตรเครดิต ไปแปะไว้ในเว็บไซต์ จีโอซิตี้.คอม จนเป็นข่าวกระฉ่อนไปทั่ว ซึ่งเกิดขึ้นเวลาเดียวกับ ที่เว็บไซต์ดังๆ อย่าง อเมซอน.คอมอีเบย์ อีเทรด ถูกโจมตีจากแฮกเกอร์ ที่ทำเอาระบบล่มไปพักใหญ่ ทำให้ชื่อของทศพลถูกกล่าวขานขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากผลงานของเขาออกวางแผงในตลาดแล้วร่วมปี

อีกไม่นาน รหัสลับ-รหัสร้อน เล่ม ที่ 2 จะตามออกมา คราวนี้จะเน้นไป ที่การรักษาความปลอดภัยบนเว็บไซต์ และคดีดังๆ ของแฮกเกอร์ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยอาศัยข้อมูลจาก พ.ต.อ. ญาณพล ยั่งยืน การเปิดตัวครั้งนี้จึงไม่ใช่การวางแผงเหมือนปกติ จะมีการจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

ทศพลเป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ได้ชื่อว่า ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้อย่างดี ที่อาจไม่ใช่การทำธุรกิจทางตรง แต่เป็นการใช้วัตถุดิบ ที่ได้จากอินเตอร์เน็ตมา ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะประสบความสำเร็จได้มากกว่า ธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตด้วยซ้ำไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.