"ประสาร"คาดดบ.กู้ปี 49 แตะ 8.5%


ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" คาดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ แตะ 8.5% กลางปี 2549 ก่อนจะเริ่มนิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ เตรียมขยับในไตรมาส 2 - 3 พร้อมปรับแผนการดำเนินธุรกิจแบงก์กสิกรไทยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยกู้เอสเอ็มอี ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ ตั้งเป้าขยายตัวอีก 10%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) จะปรับขึ้นอีก 1 - 2% จนถึงกลางปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 6.5% เป็น 8.5% และจะเริ่มทรงตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว และราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

"หากดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ ปรับตัวแรงเกิน 8.5% อาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวได้"

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ภาระการผ่อนชำระเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อพาณิชยกรรมที่เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าแต่ละราย

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก คาดว่าช่วงไตรมาส 2 - 3 ของปี 2549 จะเริ่มมีการขยับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ หลังจากที่ดอกเบี้ยเงินฝากประจำเริ่มขยับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2548

ปรับโครงสร้างลูกค้าเอสเอ็มอีใหม่

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2549 นั้น นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารกำลังปรับโครงสร้างสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใหม่ โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 ซึ่งจะแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มลูกค้าขนาดกลาง ที่มียอดขาย 50-400 ล้านบาทต่อปี กลุ่มลูกค้าขนาดเล็กมียอดขายอยู่ที่ 10-50 ล้านบาท และกลุ่มลูกค้าขนาดจิ๋วมียอดขายอยู่ที่ ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

"การปรับโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้การประสานงานระหว่างธนาคารกับลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำให้กลุ่มลูกค้าเดิมที่อยู่ในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ปรับลดลงจากที่มีอยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท เหลือ 1 แสนกว่าล้านบาท เนื่องจากเดิมลูกค้าเอสเอ็มอีที่มียอดขาย 50-400 ล้านบาท ธนาคารจะจัดเป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อรายย่อย"

เปลี่ยนเกณฑ์ตั้งสำรองฯเข้มขึ้น

ส่วนนโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญนั้น นายประสาร กล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2548 ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนวิธีการตั้งสำรองฯ ใหม่ โดยพิจารณาจากโอกาสความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกค้าเป็นรายกรณี จากเดิมที่จะตั้งสำรองฯ ตามจำนวนการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะสะท้อนสภาพความเป็นจริงของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น

"วิธีการตั้งสำรองฯ ใหม่ จะทำให้ฐานะของธนาคารมีความแข็งแกร่ง โดยปัจจุบันธนาคารจะตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ 1% ของการปล่อยสินเชื่อ แต่แบบใหม่จะตั้งสำรองฯ มากกว่า 1% โดยลูกค้าที่เราเน้นจะเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ทำให้ธนาคารตั้งตั้งสำรองฯ เพิ่มมากขึ้น โดยไตรมาส 3 มีการตั้งสำรองฯ สูงถึง 1,200 ล้านบาท จากปกติตั้งสำรองฯ ไตรมาสละประมาณ 200-300 ล้านบาท" นายประสาร กล่าว

ด้านแผนการขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่นั้น นายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปี 2549 ธนาคารมีนโยบายขยายสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าขยายตัวไว้ประมาณ 1-2 เท่าของจีดีพี หรือประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ที่สิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท ทำให้สิ้นปี 2549 พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่จะอยู่ที่ 210,000 - 220,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา พอร์ตสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารขยายตัวประมาณ 8% และคาดว่าในอีก 2 เดือนที่เหลือจะสามารถขยายสินเชื่อได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ที่ 10-12% หรือประมาณ 20,000 - 30,000 ล้านบาท

พัฒนาบริการเสริมรายได้ค่าฟี

นายบุญทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเอกชนแล้ว ธนาคารยังมีแผนการระดมทุนด้วยวิธีการอื่นๆ ที่หลากหลายให้กับลูกค้าด้วย โดยธนาคารได้จัดทีมวานิธนกิจที่สามารถทำแผนให้ลูกค้าแต่ละรายเลือกระดมทุนตามความเหมาะสมของการใช้เงิน ซึ่งอาจจะผสมการระดมทุนออกตราสารหรือการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์

"ทิศทางดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ก่อนจะเริ่มนิ่งในกลางปีหน้า ทำให้การกู้เงินจากธนาคารเป็นแหล่งระดมทุนที่ง่ายและเหมาะสมที่สุด เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก รวมทั้งมีกำหนดของระยะเวลากู้เงินระดับปานกลาง 5-7 ปี เพราะธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากในระยะสั้นๆ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง จะทำให้ลูกค้าหันไปสนใจระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"

พร้อมกันนี้ ธนาคารยังมีแผนพัฒนาบริการ Cash Management เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของลูกค้ารายใหญ่เป็น 40-50% ของลูกค้ารายใหญ่ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30% โดยธนาคารจะขยายบริการให้เครดิตแก่ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าของลูกค้าธนาคาร จากเดิมลูกค้าธนาคารจะเป็นผู้ให้เครดิตกับลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อเอง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าธนาคารลดความเสี่ยงและได้รับเงินทันที ขณะที่ธนาคารเองจะได้รับค่าธรรมเนียมจากการให้บริการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปีหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.