ทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปี 49


ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การพิจารณาขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในปี 2549 จะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำสุดของเงินฝากแต่ละประเภท และอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยหลักๆ ได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนพฤติกรรมและกลไกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในอดีตที่ผ่านมา

โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งอัตราผลตอบแทนที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น อัตราผลตอบแทนในตลาดเงิน และอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์ จะต้องไม่ส่งผลกระทบให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ด้อยลงกว่าตัวเลขประมาณการของปี 2548 ไม่เช่นนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อประคับประคองความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชน และรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จำแนกขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2549 ออกเป็น 2 กรณี คือ

กรณีแรก: เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% และสินเชื่อดีของธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวในปี 2549 ได้ไม่ต่ำกว่าที่ทำได้ในปี 2548

โดยในปี 2548 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อดี (Performing Loans) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะเติบโตประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 6.6% ขณะที่ปี 2549 นั้น แม้ว่าการขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะได้รับปัจจัยบวกจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยธปท.ที่โน้มเอียงไปที่ระดับไม่ต่ำกว่า 5% แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อภาคเอกชนและภาคครัวเรือน และอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินในลักษณะที่อนุรักษ์นิยมว่า สินเชื่อดีของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเพิ่มขึ้นในมูลค่าที่ใกล้เคียงกับที่ทำได้ในปีนี้ หรือคิดเป็นการขยายตัวประมาณ 6.2%"

จากสมมติฐานดังกล่าวและการคาดการณ์ว่าธปท.จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่คงจะถูกกดดันให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่อไป และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่คงจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน

เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขด้านแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพื่อประเมินขีดความสามารถในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยพบว่า สินเชื่อดีที่ยังคงเติบโต จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อฐานะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2549 ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.และธนาคารกลางสหรัฐฯ คงจะช่วยทำให้อัตราผลตอบแทนแท้จริงจากสินทรัพย์สุทธิตลาดเงิน

ส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกัน ซึ่งรายได้ดอกเบี้ยต่างๆ ดังกล่าว คงจะช่วยทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 1 ปี มาที่ 3.5% และ 4.25% ในช่วงสิ้นปี 2549 จาก 2.25% และ 3.0% ตามลำดับในช่วงสิ้นปี 2548

สำหรับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้น อาจได้รับการปรับขึ้นในระหว่างปี 2549 ด้วยขนาด 0.50% มาอยู่ที่ 1.25% ในช่วงสิ้นปี 2549 ได้ โดยที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อาจขยับขึ้นมาที่ระดับ 8.0% (ซึ่งยังไม่เกิน Nominal GDP ที่น่าจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 8% ในปีหน้า) เพื่อที่จะรักษาระดับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิได้ไม่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของปีนี้ที่ประมาณ 1.82 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถรักษารายได้ดอกเบี้ยสุทธิไม่ให้ต่ำไปกว่าของปีนี้ได้ แต่การรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Spread) อาจเผชิญความยากลำบากมากกว่า เนื่องจากฐานเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดใหญ่กว่าฐานสินเชื่อ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย มีโอกาสลดต่ำลง โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก-เงินกู้ทุกประเภทในขนาดเท่าๆ กัน

นอกจากนี้ ในสินเชื่อบางกลุ่ม เช่น เอ็นพีแอล สินเชื่อที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ นั้น อัตราผลตอบแทนแท้จริงที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับ อาจไม่ปรับขึ้นตามสัดส่วนเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ธนาคารพาณิชย์ได้ประกาศปรับขึ้นไปอีกด้วย ขณะที่ภาวะการแข่งขันด้านการขยายสินเชื่อที่มีความรุนแรงขึ้น ย่อมจะทำให้การแข่งขันด้านราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์ ทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก

กรณีที่ 2: เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยขยายตัวเพียง 4% และการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงจากปี 2548

กรณีที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ปัญหาราคาน้ำมัน การกลับมาของไข้หวัดนก ฯลฯ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจไม่สามารถรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืมที่ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการในช่วงครึ่งแรกของปีได้ เนื่องจากอาจพบว่าการขยายสินเชื่อดีชะลอตัวลงอย่างมาก (โดยสมมติให้เหลือเพียงครึ่งเดียวของในกรณีแรก) จนมีผลกระทบต่อการรักษาความสามารถในการสร้างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในภาพรวม

ขณะเดียวกัน การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ธปท.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปี (อันเป็นจังหวะที่อัตราเงินเฟ้อคงจะปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก ตามการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงของปี 2548) มาที่ 4.5% ในเดือนธันวาคม 2549 ซึ่งน่าจะเพียงพอในการรักษาเป้าหมายเสถียรภาพเงินเฟ้อไว้ได้ อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังกล่าว อาจส่งผลตามมาให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมลงในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นกัน

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน และ 1 ปี อาจขยับขึ้นได้เพียง 0.25-0.50% จากสิ้นปี 2548 มาที่ประมาณ 2.50% และ 3.50% ตามลำดับในช่วงสิ้นปี 2549 ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ อาจขยับขึ้นได้ 0.25% ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่อาจถูกปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง จนมาอยู่ที่ระดับเดียวกันกับของปี 2548 ที่ 0.75% สำหรับอัตราดอกเบี้ย MLR นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.25% จากสิ้นปี 2548 มาที่ 7.0%

ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.