|
บลจ.ทหารไทยเร่งปั้นแบรนด์รับกระแสธุรกิจกองทุนแข่งดุ
ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.ทหารไทยเปิดแผนปีหน้าเกาะกระแสอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เข็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นทั้ง 6 เดือน 1 ปี ดูดเงินฝากต่อเดือนละกอง พร้อมรองรับเงินลงทุนจากกองทุนเดิมที่จะทยอยหมดอายุ เร่งเดินหน้าสร้างแบรนด์ด้วยการปรับโลโก เพื่อความสอดคล้องกับแบงก์แม่มากขึ้น คาดปีหน้าได้เห็นแน่นอน
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้บริษัทจะเปิดขายกองทุนรวมอีกจำนวน 2 กองทุน นั่นคือกองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ ฟันด์กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่ลงทุนในทองคำ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้
ส่วนอีกหนึ่งกองทุนที่เหลือนั้นจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ชื่อ กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตร 12/49 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วเงินคลัง อายุโครงการ 1 ปี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดขายหน่วยลงทุนได้ประมาณกลางเดือนธันวาคมต่อจากกองทุนเปิดทหารไทย โกลด์ ฟันด์
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บลจ.ทหารไทยเปิดขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนใหม่ไปแล้วทั้งหมด 5 กองทุน ประกอบด้วยกองทุนตราสารหนี้ 4 กอง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 1 กองนั่นคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เซ็นทรัล รีเทล โกรท ที่มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากรวม 2 กองทุนที่จะเปิดขายในช่วงที่เหลือของปีจะทำให้มีกองทุนที่เปิดขายทั้งปีนี้จำนวน 7 กองทุน
สำหรับกองทุนที่เปิดขายหน่วยไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้ง 5 กองทุน สามารถระดมทุนได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ว่าทั้งปีนี้ จะระดมทุนประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ภายใต้การบริหารทั้งหมดประมาณ 58,000 ล้านบาทจากพอร์ตเอ็นเอวีรวม ณ สิ้นปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ 48,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากกองทุนที่บริษัทเตรียมจะเปิดขายหน่วยลงทุนอีก 2 กองทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้น คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้อีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เอ็นเอวีภายในสิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 61,000 ล้านบาท
นางโชติกา กล่าวว่า สำหรับแผนในปีนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจะเปิดขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเดือนละกอง โดยจะมีทั้งอายุ 6 เดือนและอายุ 1 ปี ซึ่งจะมีมูลค่าประมาณกองทุนละ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป เพื่อให้มีความสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการรองรับเงินลงทุนสำหรับผู้ถือหน่วยกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นของบริษัทซึ่งจะทยอยหมดอายุในปีหน้า ที่ต้องการลงทุนในตราสารประเภทดังกล่าวต่อไป รวมทั้งรองความต้องการของลงทุนโดยกองทุนแรกที่จะหมดอายุคือ กองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ 4/49 ซึ่งจะหมดอายุในเดือนเมษายนปีหน้า
“ในปีหน้าเป็นช่วงที่กองทุนตราสารหนี้จะเริ่มครบกำหนดอายุโครงการ ซึ่งจะมีส่วนให้พอร์ตเอ็นเอวีภายใต้การบริการของเราลดลง ดังนั้น เราก็ต้องหากองทุนใหม่ๆ ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนต่อไป”
นางโชติกากล่าว สำหรับกองทุนระยะยาวนั้น เชื่อว่าในระยะนี้ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น กองทุนระยะสั้นน่าจะเหมาะสมกว่า ส่วนกองทุนที่ลงทุนยาวขึ้น 2 ปีหรือ 3 ปี คงยังไม่จำเป็นต้องรีบทำในช่วงนี้ แต่หากนักลงทุนต้องการเชื่อว่าในปีหน้าก็สามารถทำได้อยู่แล้ว
นางโชติกากล่าวถึงภาพลักษณ์ของบริษัทภายหลังการเปลี่ยนแปลงของธนาคารทหารไทยซึ่งเป็นบริษัทแม่ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบโลโกของบลจ.ทหารไทยใหม่ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธนาคารทหารไทยอันเนื่องมาจากการควบรวมกิจการระหว่างไอเอฟซีทีและธนาคารไทยทนุ โดยคาดว่าน่าจะสรุปและเห็นความชัดเจนได้ภายในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของธนาคารทหารไทย ในแง่ของนโยบายหรือจุดยืนของธนาคารเองค่อนข้างมีความสอดคล้องกันกับบลจ.ทหารไทยในปัจจุบันอยู่แล้ว อีกทั้งก่อนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็มีการทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของบลจ.ทหารไทย ก็เพื่อให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น
สำหรับผลดีที่ตามมาจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้บริษัทมีช่องทางในการจำหน่ายหน่วยลงทุนมากขึ้นจากช่องทางเดิมที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ฐานลูกค้าของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมาก็จะมีส่วนเพิ่มลูกค้าของบลจ.มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันบลจ.ทหารไทย มีสัดส่วนการขายหน่วยลงทุนผ่านสาขาของธนาคารทหารไทยประมาณ 63% และขายผ่านบลจ.เองประมาณ 17% ส่วนที่เหลือเป็นการขายผ่านตัวแทนอื่นๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|