กฟผ.ขู่ค่าไฟฟ้าแพงอ้าง 3 ปีลงทุนแสนล.


ผู้จัดการรายวัน(17 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดกฟผ.อนุมัติตั้งคณะทำงานหามาตรการช่วยพนักงานหลังกู้เงินซื้อหุ้น ยันทุกอย่างไม่มีปัญหาพร้อมอุ้มแน่นอน "ณอคุณ" แจงหากไม่ได้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีก 3 ปีต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 4 แห่งใช้เงินร่วมแสนล้านบาทส่งผลค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ขณะที่"ทนง" ชี้ชะลอกระจายหุ้น กฟผ.ไม่กระทบรายได้ปีงบ 49 เหตุประเมินรายได้ไว้เพียง 4,000 ล้านบาท มั่นใจสามารถชี้แจงต่อศาลได้ทุกประเด็น ระบุ พรบ.2 ฉบับที่ศาลรับไว้พิจารณาเคยผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และเชื่อว่าไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

มีรายงานบรรยากาศที่ สำนักงานใหญ่บมจ.กฟผ. อ.บางกรวจ จ.นนทบุรี เวลา 8.30 น.วานนี้(16 พ.ย.) นายคำผุย จีราระรื่นศักดิ์ ผู้จัดการใหญ่ธุรกิจระบบส่ง ในฐานะผู้ทำการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กฟผ.ได้ออกชี้แจงต่อพนักงานกฟผ.ทั่วประเทศผ่านสื่อภายในทั้ง สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ใน 3 ประเด็นได้แก่
1. บมจ.กฟผ.ตระหนักดีถึงความกังวลของพนักว่า อาจได้รับความเสียหายจากผลของคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกรวม 11 คน และขอให้ความมั่นใจแก่พนักงานว่า จะดูแลไม่ให้พนักงานได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน

2. คำสั่งของศาลดังกล่าวเป็นเพียงการระงับการเสนอขายหุ้นไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่ศาลทำการพิจารณาคำฟ้องและยังมิได้มีคำพิพากษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยื่นคำให้การชี้แจงให้ชัดแจ้งว่าการจัดตั้งบมจ.กฟผ.และกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปโดยครบถ้วนและถูกต้องตามกฏหมายทุกประการแล้ว ซึ่งหากศาลมีคำสั่งยกฟ้องหรือคำพิพากษาที่เป็นคุณแก่ บมจ.กฟผ.การเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้

3. คำสั่งของศาลดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดตั้งและการดำเนินธุรกิจของบมจ.กฟผ.ซึ่งหากบมจ.กฟผ.มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ ก็จะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น อันหมายถึงพนักงานที่จองซื้อหุ้นไว้แล้วและกระทรวงการคลัง ตามที่ปรากฏในหนังสือชี้ชวนพนักงานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามในเวลา 10.00 น.ของวันเดียวกันนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานคณะกรรมการ กฟผ.(บอร์ดกฟผ.) ได้เรียกประชุมบอร์ดวาระพิเศษเพื่อหารือถึงมาตรการในการดูแลพนักงานหลังศาลปกครองมีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นบมจ.กฟผ.ออกไปก่อน โดย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานบอร์ดกฟผ. กล่าวหลังการประชุมบอร์ดร่วม 2 ชั่วโมงเพียงสั้นๆ ว่า พนักงานยินดีที่จะรอการกระจายหุ้น แต่ก็ต้องเข้าไปดูแลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะกรรมการบอร์ดกฟผ.กล่าวหลังการประชุมบอร์ด ว่า บอร์ดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดโดยมีนายสันทัด จิรายุวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บัญชี บมจ.กฟผ. เป็นประธาน และยังมีตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ(สร.กฟผ.) เพื่อจะไปสรุปแนวทางในการช่วยเหลือพนักงานหลังศาลปกครองมีคำสั่งระงับกระจายหุ้นบมจ.กฟผ. โดยมาตรการดังกล่าวจะมีการเสนอกลับมายังบอร์ดเพื่อพิจารณาอีกครั้ง 24 พ.ย.นี้

" รายละเอียดคงต้องมาสรุปกันวันที่ 24 พ.ย.นี้ตอนนี้คงยังบอกอะไรไม่ได้ ซึ่งเบื้องต้นพนักงานกฟผ.ก็จะเป็นผู้ถือหุ้นอีกส่วนหนึ่ง ก็จะได้รับเงินปันผลตามปกติ"นายณอคุณกล่าว

อย่างไรก็ตามประเด็นเกี่ยวกับแผนการลงทุนต่างๆ ยังไม่ได้มีการหารือ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่บมจ.กฟผ.ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง 4 แห่งได้แก่ บางปะกง พระนครเหนือ พระนครใต้ สงขลา รวมไปถึงสายส่ง ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 100,000 ล้านบาท หาก 3 ปีข้างหน้ากฟผ.ยังไม่ได้มีการระดมทุนก็คงจะต้องกู้เงินมาดำเนินการและหากรัฐบาลไม่ค้ำประกันก็ต้องยอมรับว่าค่าไฟฟ้าคงจะต้องมีราคาที่แพงขึ้นแน่นอน ส่วนการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าคงเป็นไปไม่ได้ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา

**แย้มหมดค่าใช้จ่ายพอสมควร

นายกฤช เอทเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ที่ปรึกษาทางการเงินกฟผ.กล่าวว่า ได้มารายงานบอร์ดให้ทราบหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งระงับกระจายหุ้นกฟผ. ว่า หลังศาลฯมีคำสั่งระงับกระจายหุ้นกฟผ. ใบจองหุ้นในส่วนของประชาชนก็คงต้องโมฆะ ส่วนพนักงานที่ได้มีการกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ ไปแล้วก็จะถือเป็นผู้ถือหุ้น จากเดิมที่มีเฉพาะกระทรวงการคลังก็จะเป็นคลังกับพนักงาน มีการจ่ายเงินปันผลปกติ และยืนยันว่าการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปตามกฏหมายทุกประการ โดยทั้งหมดก็จะต้องรอศาลฯว่าจะรับวินิจฉัยเกี่ยวกับพ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับหรือไม่

นอกจากนี้ในส่วนของแผนงานต่างๆ คงต้องหยุดไปก่อน แต่ยังไม่ได้ประเมินผลเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายในการโรดโชว์ทั้งภายในและนอกประเทศ รวมถึงต้องการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ การพิมพ์ใบจอง ก็ใช้เงินไปพอสมควร ซึ่งล่าสุดก็ต้องถอนโฆษณาที่ได้วางผ่านสื่อต่างๆ ออกไปด้วยตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.

"หากกระจายหุ้นล่าช้าออกไปแน่นอนว่า ท้ายสุดก็จะต้องมีการทบทวนช่วงราคาหุ้นไอพีโอใหม่ จากที่กำหนดไว้ 25-28 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะออกมาอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพตลาดฯขณะนั้นด้วย ซึ่งหากจะเข้าตลาดฯได้ในช่วงสิ้นปีก็คงเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นช่วงหยุดยาว "

นายกฤชกล่าวว่า การที่กฟผ.ไม่ได้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์คงจะต้องมีการหาวิธีในการจัดหาแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4 แห่งของกฟผ.โดยไม่มีคลังค้ำประกันนั้นก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นก็อาจจะกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าได้ ทางกฟผ.เองก็คงจะต้องหาวิธีดำเนินการเมื่อถึงเวลานั้น

**ยันพ.ร.ฎ. 2 ฉบับถูกต้องตามกม.

นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะกรรมการ กฟผ. กล่าวว่า กรณีที่ใช้ พ.ร.ฎ. ตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจมาล้มเลิกกฎหมาย พ.ร.บ.กฟผ.เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย โดยได้มีการส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วและสามารถใช้ช่องทางนี้ในการดำเนินการได้ เพราะศักดิ์ศรีของ พ.ร.บ.ทุน และ พ.ร.บ.กฟผ. ก็เป็นกฎหมายเช่นกัน

นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากนี้ไปคงจะต้องมีการชี้แจงในเรื่องของรายละเอียดด้านกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบต่อไปว่าการแปรรูป กฟผ. ที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาออกมา 2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2548 เป็นไปตามขั้นตอน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจทุกประการ

**สูญเงินพันล้านเหรียญสหรัฐ

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการเจพีมอร์แกนประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กฟผ. กล่าวระหว่างการเดินทางโรดโชว์หุ้น กฟผ. พร้อมคณะผู้บริหาร กฟผ. ที่สหรัฐ การระงับการกระจายหุ้น กฟผ. มีมูลค่าความเสียหายสูงพอสมควร โดยมีคำสั่งจองซื้อหุ้น กฟผ.จากนักลงทุนต่างชาติมาแล้วประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีผลเสียต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติได้เตรียมที่จะเข้ามาซื้ดหุ้น กฟผ. หลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากบริษัทแม่ให้เข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มพลังงานของไทย ดังนั้น จึงอาจจะโยกย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่คัดค้านตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

**ทนงชี้ไม่กระทบรายได้งบ 49

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการกระจายหุ้น บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) เป็นการชั่วคราวว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2549 มากนัก เพราะประมาณการรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่รายได้หลักของรัฐบาล

ทั้งนี้ จากประมาณการตามเอกสารงบประมาณในปี 2549 จำนวน 1.36 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) จำนวน 15,100 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการแปรรูป บมจ. กฟผ. 4,000 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือเป็นรายได้จากการแปรรูป บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,100 ล้านบาท และบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด จำนวน 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่านักลงทุนจะเข้าใจ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นความเสี่ยงทางกฎหมายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะจบสิ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่การต่อต้านผ่านกระบวนการศาล เพราะสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วงคือ ความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังทางสังคมในการตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่สามารถรับได้

นายทนง กล่าวอีกว่า มีความมั่นใจว่า พระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ คือพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลาว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548 และพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท บมจ. กฟผ. นั้นได้ดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ต้องมีการแก้ไขแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความในลักษณะเดียวกันนี้แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าเมื่อผ่านการตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คงจะไม่มีปัญหา รวมทั้งเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงต่อศาลได้ทุกประเด็น

สำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีก 4 แห่ง คือ บมจ. ทีโอที บมจ. กสท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งมีแผนแปรรูปในปี2549 นั้น คงต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินชี้ขาดกรณีของ บมจ. กฟผ. ก่อน อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อไปเนื่องจากเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

**"วิษณุ"ปัดไม่รู้เรื่องโยนก.พลังงาน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พ.ร.บ.กฟผ. มาตรา 29 โดยระบุว่าไม่ทราบไม่ใช่แกล้งไม่รู้ไม่รู้เลย นึกไม่ออกให้ไปถามกระทรวงพลังงานตนไม่รู้เรื่อง ส่วนที่จะบอกว่า ที่จะมีการขายเขื่อน มันไม่เป็นความจริง ซึ่งเขาแบ่งไว้เรียบร้อยแล้วหากว่ามีการขายหุ้น ว่าส่วนใดจะเป็นของรัฐ และส่วนใดที่ไม่ใช่ของรัฐ ในส่วนของรัฐก็ให้ บริษัท กฟผ. เช่า ในเรื่องของสายส่ง เป็นเรื่องของรายละเอียด ผมไม่ได้ตามเรื่อง ให้ไปถามนายวิเศษ จูภิบาล รมต.กระทรวงพลังงาน และปลัดกระทรวงฯ เอาเอง

ต่อข้อถามว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีกฎหมายขึ้นมาเพื่อควบคุมกิจการไฟฟ้า นายวิษณุ กล่าวว่า เขากำลังทำอยู่ แต่ว่าอยู่ในขั้นตอน ได้ยินว่าเกือบเสร็จแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งระหว่างนี้คิดว่าจะออกเป็นระเบียบสำนักนายกฯ มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ตาม พรบ.ไปก่อน เพราะว่าเราเคยทำแบบนี้ เมื่อมีกฎหมายออกมา ก็กลืนเข้าไป อย่างกฎหมายร่วมทุน ตอนนั้น หม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท่านก็ทำเป็นระเบียบฯไปก่อน พอกฎหมายออกมา ก็ยกเลิกระเบียบ ก็เอาของในกฎหมายมาใส่ในระเบียบ

ส่วนคณะกรรมการอิสระต้องดูทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายส่ง เขื่อน จะมีหลักประกันในเรื่องความโปร่งใสอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่รู้ ผมกลัวคำว่าสายส่งเหลือเกิน เพราะผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร เมื่อถามต่อว่า ใครจะมาเป็นคนดูในเรื่องของคณะกรรมการอิสระดูเรื่องกิจการไฟฟ้า นายวิษณุ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน และตนจะดูเมื่อจะเอาเข้า ครม.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.