เอสพีพี/สมปอง ผลเจริญจิต ผู้สร้างสีสันบนเนื้อดินขาว


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ผู้ผลิตเซรามิก เพื่อส่งออกอย่างไทย จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหว หรือแนวคิดของเขาเกี่ยวกับโควตาส่งออกเซรามิก ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยไม่น้อยกว่า 2-3 เท่าตัว"

สมปอง ผลเจริญจิต กรรมการผู้จัดการ/ผู้จัดการโรงงาน บริษัทเอสพีพี เซรามิก จำกัด, อดีตนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง สมัย 2542/43 ที่ ผ่านมา บอกเล่าถึงสิ่งที่เขาเตรียมการไว้สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ โดยเชื่อว่า ถ้าจีนขอยกเลิกโควตา ที่ได้รับจากประเทศผู้สั่งซื้อเซรามิก เพื่อส่งสินค้าเข้าตลาดได้อย่างเต็มที่ จะมีผลอย่างยิ่งกับเซรามิกจากประเทศไทย

เพราะผู้สั่งซื้อต่างๆ ทั่วโลก ที่เคยสั่งออร์เดอร์มา ที่ผู้ประกอบการในประเทศไทย มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่เขาจะนำดีไซน์เซรามิกรูปแบบต่างๆ ส่งให้ผู้ประกอบการในจีน ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย ประเด็นเรื่องคุณภาพผลิตภั ณฑ์ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะพัฒนาให้ทันกันได้

สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำกันอย่างเร่งด่วนตอนนี้ก็คือ วางระบบภายในองค์กร-การผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อใช้เป็นข้อได้เปรียบในการยึดโยงผู้สั่งซื้อรายใหญ่ในตลาดโลก ที่ก่อนจะสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานใดโรงงานหนึ่ง จะต้องส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานในโรงงานตั้งแต่เรื่อง อนามัย-สิ่งแวดล้อม/การกดขี่แรงงาน ฯลฯ

พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ประกอบการในไทยต้องทำ ISO ไม่ว่าจะเป็น 9002 หรือ 14000 ให้ได้

และถ้าหากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแรงงาน ไม่ผ่านการพิจารณา เป็นไปไม่ได้ ที่ผู้สั่งซื้อรายใหญ่ๆ จะส่งทีมดีไซเนอร์-การตลาด และสั่งซื้อเข้ามา เพื่อสั่งออร์เดอร์จากโรงงานของเรา

ถ้าทำได้ สมปองเชื่อว่าเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่จะสามารถดึงออร์เดอร์จากผู้ค้ารายใหญ่ๆ ในตลาดโลกไว้ในมือได้

แนวทางดังกล่าว สมปองเริ่มนำมาใช้กับเอสพีพี เซร ามิก ได้ระยะหนึ่งแล้ว เริ่มตั้งแต่การจัดโครงสร้างองค์กรภายในให้ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการควบคุม แยกเป็นฝ่ายโรงงาน ที่เขาเป็นผู้ดูแลอยู่ ฝ่ายวิจัย และพัฒนา มีสุปราณี ศิริอาภานนท์ ผู้เป็นภรรยา ควบคุมดู แล และฝ่ายการตลาด มีสุนันทา ศิริอาภานนท์ น้องภรรยาดูแลอยู่ ดูแผนภูมิองค์กรบริษัทเอสพีพี เซรามิก จำกัดประกอบ)

รวมทั้งแนวทางอื่นๆ ที่จะทำให้โรงงานของเขาได้มาตรฐาน ISO โดยเร็วที่สุด

พร้อมกันนั้น ก็ต้องเร่งหาตลาด หรือผู้สั่งซื้อรายใหม่ไว้รองรับตลอดเวลากระจายความเสี่ยงแทน ที่จะผูกติดการผลิตสินค้าป้อนให้กับผู้สั่งซื้อไม่กี่สิบราย เพื่อ ที่ว่าวันหนึ่งหากผู้สั่งซื้อเราโยกออร์เดอร์ก็ยังคงมีออร์เดอร์ใหม่เข้ามาทดแทน

ขณะเดียวกัน สมปองยังจัดให้พนักงาน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นการจัดทำ web site ให้กับ เอสพีพีฯ โดยคาดว่าจะแล้ว เสร็จสมบูรณ์ และเริ่มให้บริการกันได้ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2543 ซึ่ง web site ที่เขากำลังทำขึ้นนี้ มีเป้าหมายหลักอยู่ ที่การประชาสัมพันธ์ บริษัท-ผลิตภัณฑ์ เพื่อเปิดช่องทางหาลูกค้าใหม่อีกวิธีหนึ่ง ไม่ได้มุ่งเน้นไป ที่การค้าปลีกผ่าน อินเตอร์เน็ต

เพราะขณะนี้ เอสพีพี เซรามิก ได้สิทธิจองบูธแสดงสินค้าถาวร จากผู้จัดงานแสดงสินค้า ที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ปีละ 2 ครั้ง (เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคมทุกปี) หลังจาก ที่เขาได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออก เมื่อเข้าเป็นสมาชิกของกรมฯ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทุกครั้ง

จนสามารถสร้างเครือข่ายผู้สั่งซื้อในต่างประเทศได้มากกว่า 60-70 ราย โดยเฉพาะแถบสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อังกฤษ เบลเยียม ฯลฯ ตลอดจนเดนมาร์ก นอร์เวย์ สมปองบอกว่า เขาล้วนแต่มีลูกค้าผู้สั่งซื้อ ที่ถือว่าค่อนข้างเป็นรายใหญ่ประเทศละไม่น้อยกว่า 1 ราย มียอดผลิต/ส่ง ออก ที่ค่อนข้างมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือคือ ไม่น้อยกว่า 96 คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต/ปี เฉลี่ยราว 8 ตู้คอนเทนเนอร์/เดือน มีเตาเผาทั้งสิ้น 9 เตา รวม 46 คิว

และหลังสุดนี้ สมปองมีแนวคิด ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เซรามิกของเขา โดยเฉพาะในด้านแพ็กเกจ-ดีไซน์ใหม่ๆ ให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ที่ค่อนข้างแปลกแยกไปจากผู้บริโภคโซนตะวันตกมาก เพื่อเปิดตลาดใหม่อีกทางหนึ่ง โดยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ เขาได้ร่วมเดินทางไปศึกษาสภาพตลาดเซรามิกในญี่ปุ่นพร้อมกับผู้ประกอบการเซรามิกในภาคเหนือหลายราย พร้อมกับจะนำผลิตภัณฑ์ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ ที่จะจัดขึ้นรองรับการเดินทางมาเยือนของผู้ค้าเซรามิกญี่ปุ่นกว่า 50 รายในเร็ววันนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี สมปองยืนยันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เขาจะไม่ขยายโรงงานอีกต่อไป แต่จะใช้วิธีเพิ่มกำลังการผลิตให้เต็มที่ 100% ให้ได้ถึงแม้จะมีผู้สั่งซื้อรายใหม่เข้ามามากก็ตาม จะต้องรอจนกว่าจะรู้ท่าทีความเคลื่อนไหวของจีน หลังการเข้าเป็นสมาชิก WTO ก่อน

ซึ่งในการพัฒนาคุณภาพ และกำลังการผลิตให้ได้เต็ม 100% นั้น จุดสำคัญ ที่สมปองมองก็คือ การสร้างมาตรฐานให้กับสตาฟฟ์ในโรงงานของเขา ที่มีอยู่ราว 170 คน ให้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานยาวนานที่สุด เท่า ที่จะทำได้ หรือพยายามรักษาคนงาน ให้อยู่กับเขาให้นานที่สุด

วิธีการหนึ่ง ที่สมปองเลือกนำมาใช้กับคนงานของเขานอกเหนือไปจากค่าแรง ที่จ่ายกันตามฝีมือ ประสบการณ์ทำงาน และสูงกว่ากฎหมายแรงงานขั้นต่ำก็คือ สวัสดิการเพิ่มเติมอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก ที่กฎหมายกำหนด

เขาเลือก ที่จะปันผลกำไร ที่บริษัทได้ให้พนักงาน โดยเฉพาะระดับหัวหน้าทีมขึ้นมา ให้ซื้อประกันชีวิตทุกคน โดยบริษัทเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันให้อันถือเป็นการสะสมเงินให้กับตัวพนักงานเองอีกทางหนึ่ง เมื่อครบสัญญาทำประกัน-พนักงานเกษียณตัวเองไป ก็ได้เงินสะสมเป็นก้อนเป็นทุนกลับไปด้วย

นั่นหมายถึง หากสัญญาประกันชีวิตมีอายุ 20 ปี บริษัทก็ได้ช่างฝีมือ ที่สั่งสมประสบการณ์ทำงานมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี มาทำงานให้ด้วย

ขณะที่ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการก่อตั้งโรงงาน บริษัทเอสพีพีฯ ได้ ชื่อว่า เป็นกิจการเซรามิกของลำปาง ที่ขยายตัวได้มากที่สุดภายใน ระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม โดยการเริ่ม ของสมปอง ผลเจริญจิต-สุปราณี ศิริอาภานนท์ 2 สามีภรรยา ในกิจการเซรามิกแห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2530 ที่ ผ่านมานี้เอง

โดยการชักชวน และช่วยเหลือของ สมชาย ผลเจริญจิต ประธานบริษัท แสงชั ยเซรามิก จำกัด ผู้ที่เป็นพี่ชายของสมปอง และเข้ามาลงหลักปักฐาน สร้างโรงงานเซรามิก ที่ลำปางตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันมีโรงงาน ที่ บ้านศรีถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

ซึ่งสมชาย ผลเจริญจิต นับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อบริษัทเอสพีพี เซรามิก จำกัด ในยุคเริ่มต้นค่อนข้างมาก ทั้งในด้านการช่วยวิ่งหาเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อมาใช้ลงทุนการวางรากฐานด้านการผลิต ตั้งแต่เรื่องเทคนิค ขึ้นมา โดยอาศัยประสบการณ์ ที่เขาทำมานานหลายสิบปี จนกระทั่งช่วยให้สมปองเปิดโรงงานเซรามิกขึ้นได้เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2530 ในรูปของโรงงานเจ้าของคนเดียว

ก่อน ที่สมปองจะจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลเมื่อปี 2533 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น ที่ 1 ล้าน บาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3 ครั้ง จนสูงสุด ที่ 15 ล้านบาท เมื่อปี 2537 พร้อมๆ กับได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปีเดียวกัน

ซึ่งสมปอง น้องสมชาย เองก็ไม่ปฏิเสธว่า พี่ชายของเขา มีส่วนช่วยก่อตั้งโรงงาน และวางรากฐานในระยะเริ่มต้น ที่เริ่มผลิตสินค้าประเภทของชำร่วยจำหน่ายในประเทศ เช่น ตลาดเซรามิก ที่พาหุรัด เป็นต้น ซึ่งในระยะ 3 ปี แรกยอดขายก็ไม่หวือหวาเท่าใดนัก เป็นไปเรื่อยๆ

แต่ผู้ที่สร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์เซรามิก ที่ออกจากโรงงานเอส พีพี เซรามิก จนสามารถเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างแท้จริง ก็คือ "สุปราณี ศิริอาภานนท์" ศิษย์เก่าอินดัสเตรียลดีไซน์ จากเทคโนฯ ลาดกระบัง ที่เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของเขา

โดยหลังจาก ที่ร่วมกันก่อตั้งโรงงานได้เพียง 2 ปีเศษๆ สุปราณี ที่มีพื้นฐานทางด้านการออกแบบในตัวอยู่แล้ว และเห็นว่าการผลิตของชำร่วย-กิ๊ฟต์ชอป ส่งขายตามตลาดเซรามิก ในประเทศ ที่แม้ว่าจะอยู่ได้ แต่ไม่ได้ทำให้โรงงานโตเท่าใดนัก จำเป็นที่จะต้องหาทางฉีกรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้ต่างจาก เซรามิก ทั่วไปให้มากที่สุด

"เฉดสี ที่สดใส ที่เพนต์เป็นลวดลายง่ายๆ ไม่ซับซ้อน" เป็นแนวทาง ที่สุปราณี เลือกนำมาใช้กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค และเป็นการตัดสินใจเริ่มต้นในช่วงเวลาก่อน ที่จะจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการส่งออก รวมทั้งเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเป็นปีแรก

ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่เป็นทั้งของชำร่วย กิ๊ฟต์ชอป Tableware ฯลฯ ของเอสพีพี เซรามิกฯ นำออกร่วมงานแสดง สินค้าคราวนั้น ต่างเต็มไปด้วยสีสัน ที่สดใสแตกต่างไปจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ในไลน์เดียวกันอย่างชัดเจน แม้ว่าโดยรูปแบบ-ดีไซน์จะไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก จนมีผู้สั่งซื้อจากการออกร่วมงานครั้งแรก 5 รายด้วยกัน

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างยอดขายเป็นกอบเป็นกำ ให้กับบริษัทเอสพีพี เซรามิก จำกัด จนสามารถขยายกิจการให้เติบโตอย่างสูงสุด ในห้วงเวลาเพียงแค่ 5 ปี หลังจากจดทะเบียน ก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ (ตั้งแต่ปี 2533-37) มีฐานผู้สั่งซื้อเจ้าประจำในมือกว่า 60-70 รายอย่างทุกวันนี้

ตลอดเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา เอสพีพี เซรามิก มุ่งเน้นการให้สีสันในเฉดสี ที่สดใสกับผลิตภัณฑ์เซรามิกของเขาตามเทรนด์สีในแต่ละปี แต่ละฤดูกาล เป็นหลักส่วนดีไซน์รูปแบบต่างๆ จะมีทั้ง ที่ผู้สั่งซื้อดีไซน์มาให้ และเป็นการดีไซน์ขึ้นมาเองของสุปราณี ศิริอาภานนท์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.