บอร์ด ร.ส.พ.ยังไม่ตัดสินใจอนาคตขององค์กร


ผู้จัดการรายวัน(16 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะกรรมการ ร.ส.พ.ยังไม่ตัดสินใจจะฟื้นฟูและยุบเลิกกิจการ โดยให้ผู้บริหาร ร.ส.พ.กลับมาพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง พร้อมเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอแผนฟื้นฟูได้ด้วย ยอมรับปัญหามีมากจนไม่แน่ใจจะพลิกฟื้นกลับมาได้ในอนาคต

นายประสงค์ ตันมณีวัฒนา ประธานคณะกรรมการองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ร.ส.พ. เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. ว่า ภายหลังจากได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการที่นำเสนอโดยนายก่อแก้ว พิกุลทอง รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. คณะกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ว่าจะฟื้นฟูหรือยุบเลิกกิจการ เนื่องจากแผนฟื้นฟูที่เสนอมายังไม่ชัดเจนว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะประเด็นปัญหาคือ ร.ส.พ. ไม่มีเงินสดหมุนเวียนในกิจการ และเมื่อมีรายได้เข้ามาต้องนำส่งกรมบังคับคดีทั้งหมด ซึ่งกิจการทั่วไปแล้ว ถ้าไม่มีเงินสดก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แต่ในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. หากเลือกแนวทางนี้ก็จะต้องใช้เงินกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าแนวทางนี้รัฐบาลจะมีความเห็นเป็นอย่างไร และหากกิจการเดินหน้าต่อไปก็ไม่ชัดเจนว่าจะพลิกฟื้นได้ เนื่องจากมีปัญหามาก ได้แก่ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุมาก รถมีอายุใช้มาแล้ว 16 ปี ถือว่าหมดสภาพ จำเป็นต้องลงทุนใหม่ ซึ่งวงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะใช้ฟื้นฟูนั้น ยังไม่รวมการลงทุนใหม่ด้วย ดังนั้น คณะกรรมการหลายคนอยากให้มีการพิจารณาแนวทางฟื้นฟูให้ชัดเจนอีกครั้ง จึงให้เวลารักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. นำเรื่องนี้กลับไปศึกษาอีก 2-3 วัน

นายประสงค์ กล่าวว่า ส่วนการชุมนุมของพนักงาน รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. จะไปพูดคุยกับพนักงาน พร้อมฟังข้อเรียกร้องว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการได้พิจารณาแนวทางการฟื้นฟูที่ให้กลับไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า ร.ส.พ. ไม่อาจดำเนินกิจการไปได้อย่างยั่งยืน ก็คงจะต้องยุบเลิก

“คณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่อยากหักด้ามพล้าด้วยเข่า จึงให้โอกาส ร.ส.พ.กลับไปพิจารณาในรายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง และดูข้อเสนอของพนักงานด้วย ก่อนจะพิจารณาตัดสินทางเลือกที่เหมาะสมต่อไป” นายประสงค์ กล่าว

ประธานกรรมการ ร.ส.พ.กล่าวอีกว่า สำหรับหนี้สินของ ร.ส.พ. การชำระหนี้สามารถทำได้เช่นกัน เพราะ ร.ส.พ. เอง มีทรัพย์สินต่าง ๆ มูลค่ารวมกว่า 900 ล้านบาทเศษ ก็จะมีการโอนให้กรมธนารักษ์ เพื่อดำเนินการชำระหนี้ต่อไป

ด้านนายก่อแก้ว กล่าวว่า ร.ส.พ. ได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อคณะกรรมการ ร.ส.พ. แต่คณะกรรมการไม่เชื่อว่า ธุรกิจของ ร.ส.พ. จะอยู่รอดได้ในอนาคต แต่คณะกรรมการก็ยังไม่มีมติชัดเจนออกมา เพราะมีการเรียกร้องขอความเห็นใจจากพนักงานให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งเชื่อว่าสามารถฟื้นฟู ร.ส.พ. ซึ่งในวันพรุ่งนี้ เวลา 11.00 น. ได้นัดพูดคุยกับพนักงาน เพื่อให้พนักงานส่วนที่เชื่อมั่นว่าฟื้นฟูได้เสนอแผนฟื้นฟูและจะได้นำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง โดยนัดให้พนักงานส่งแผนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้

จากนั้น เวลา 14.00 น. จะนำแผนฟื้นฟูในส่วนของพนักงานเสนอคณะกรรมการพิจารณาต่อไป เพราะไม่แน่ใจว่าถ้าหากไม่มีการนำเรื่องการขอเงินสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรี จะมีเงินเดือนจ่ายพนักงานในสิ้นเดือนนี้หรือไม่

นายก่อแก้ว กล่าวว่า การพิจารณาเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ส.พ. ที่ยืดเยื้อมานาน เพราะมีความเป็นห่วงว่า พนักงานมีจำนวนมาก โดยอดีตเคยมีพนักงานกว่า 3,000 คน ปัจจุบันมีพนักงาน 1,700 คน หากยุบเลิกกิจการมีพนักงาน 900-1,000 คน ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ โดย 500 คน ในกลุ่มพนักงานที่ใกล้เกษียณอายุ จะมีอายุ 56-60 ปี อีก 200-300 คน เป็นพนักงานที่อยู่ต่างจังหวัด หากยุบเลิกกิจการยังมีบำเหน็จบำนาญนำไปประกอบอาชีพได้ ขณะที่พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งยังสามารถหางานทำได้ ส่วนพนักงานที่จะต้องช่วยเหลือที่มีอยู่ 900 คนนั้น ได้มีการศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือไว้แล้ว 4 แนวทาง คือ

1.ไปทำงานกับหน่วยงาน ประกอบด้วย บขส. ขสมก. รถร่วม ขสมก.
2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
3. พนักงานเก่าที่ซ่อมรถได้ ส่วนนี้น่าจะมีการตั้งกิจการอู่ซ่อมรถประมาณ 50-60 คน ซึ่งหากสนใจทำธุรกิจนี้ก็จะให้ธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อให้
4. จะโอนกิจการแพขนานยนต์ที่มีอยู่ 6 ลำ คือ สงขลา 4 ลำ และนราธิวาส 2 ลำ ให้จังหวัดรับดำเนินกิจการต่อไป โดยมีเงื่อนไขให้รับพนักงานจำนวน 48 คน เข้าทำงาน

สำหรับพนักงานที่เหลืออีก 400 คน ได้หารือกับธนาคารออมสินและเอสเอ็มอีแบงก์ที่จะฝึกอบรมเปลี่ยนอาชีพใหม่ให้

รักษาการผู้อำนวยการ ร.ส.พ. กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ส.พ. ว่า จากที่ ร.ส.พ. มีกิจการทั้งหมด 7 อย่าง แบ่งเป็นกิจการหลัก 4 อย่าง ย่อย 3 อย่าง ร.ส.พ. เสนอเหลือธุรกิจขนส่งและรถยนต์ราชการ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่น่าจะแข่งขันกับเอกชนได้บ้าง และจะมีการลดขนาดขององค์กรเหลือ 750 คน พร้อมกับการปรับปรุงไอที ภาพลักษณ์ให้ทันสมัย ปรับปรุงสำนักงานให้ดูดี บรรยากาศการทำงาน และจะมีการฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของ ร.ส.พ. ซึ่งไม่แน่ใจว่าพนักงานส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 50 ปี จะยังอยากเรียนรู้หรือไม่

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ส.พ. มีหนี้สินประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งได้เจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่ให้ลดหนี้ลง และสามารถเจรจาขอลดหนี้ได้ 390 ล้านบาท แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาและจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นต่อไป ส่งผลให้หนี้ ร.ส.พ. จะลดลงเหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.