อิตัลไทย-ยูนิคฯคว้าBRT


ผู้จัดการรายวัน(16 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กทม.เปิดซองเดินเครื่องรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ที เผยสายแรก ก.ม.8-หมอชิต อิตาเลียนฯ เสนอต่ำสุด 705 ล้านบาท สายที่สอง ช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ยูนิคเอ็นจิเนียริ่งฯ เสนอต่ำสุด 681 ล้านบาท แต่ยังสูงกว่าราคากลางทั้งสองราย เรียกเจรจาต่อรองราคาวันที่ 21 พ.ย.นี้ ด้าน “สามารถ” เผยส่งจม.ขอแก้มติครม.เรื่องขอให้กทม.มีสิทธิในการจัดการเดินรถไปยังมหาดไทยแล้ว 2 ครั้งแต่ยังเงียบกริบ เตรียมส่งครั้งที่ 3

วานนี้ (15พ.ย.) สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดซองประกวดราคาการก่อสร้างรถด่วนพิเศษบีอาร์ที หรือสมาร์ทเวย์ ทั้ง 2 เส้นทาง ผลปรากฏว่าในเส้นทางแรกสายนวมินทร์-เกษตร-หมอชิต รวมถึงส่วนต่อขยาย จากถนนนวมินทร์ถึงถนนรามอินทรา ก.ม. 8 ผู้เสนอราคาต่ำสุดได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เสนอที่ 705 ล้านบาท ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน เสนอราคา 715 ล้านบาทเศษ และบริษัท ซิโนไทย-เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น จำกัด มหาชน 749 ล้านบาทเศษ

ส่วนเส้นทางที่ 2 สายช่องนนทรี-สะพานกรุงเทพ ผู้เสนอราคาต่ำสุดได้แก่ บริษัท ยูนิคฯ 681 ล้านบาทเศษ รองลงมา คือ อิตาเลียนไทยฯ 692 ล้านบาทเศษ และซิโนไทยฯ 710 ล้านบาทเศษ

นายจุมพล ลำเภาพล รองผู้อำนวยการสำนักจราจรและขนส่ง เปิดเผยว่า จากการที่ได้พิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่ยื่นซองเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใน 3 บริษัทที่ยื่นซอง รวมทั้งคุณสมบัติทางเทคนิคผ่านหมดทั้ง 3 บริษัท ดังนั้น จะเลือกบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด และนัดมาต่อรองราคาในที่ 21 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น.คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากต้องปรับลดราคาให้ได้ใกล้เคียงกับราคากลาง โดยเส้นทางที่ 1 ราคากลาง คือ 682 ล้านบาทเศษ เส้นทางที่ 2 อยู่ที่ 660 ล้านบาทเศษ

แต่ถ้าหากบริษัทก่อสร้างไม่สามารถลดราคาลงมาได้ ก็จำเป็นต้องประกวดราคาใหม่ตามระเบียบพัสดุ แต่มั่นใจว่าจะต่อรองได้ และไม่เป็นจุดวิกฤติที่จะทำให้การเดินรถบีอาร์ทีล่าช้า ทั้งนี้ กทม.จะใช้บทลงโทษปรับสูงสุด หากก่อสร้างล่าช้า คือวันละ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ของค่าก่อสร้างรวม

นายจุมพล กล่าวด้วยว่าหลังลงนามในสัญญาการก่อสร้างกับทั้ง 2 บริษัท ใน 2 เส้นทาง จะใช้เวลาก่อสร้าง 180 วัน จากนั้นจะมีการทดลองระบบและการเดินรถก่อนเปิดใช้โดยรายละเอียดของงานก่อสร้าง ประกอบด้วย ส่วนที่ 1. อาคารสถานี ซึ่งต้องมีระบบลิฟท์ สะพานคนเดินข้าม 2 ฝั่งมาที่สถานีซึ่งอยู่เกาะกลางถนน และระบบปรับอากาศ โดยเส้นทางแรกระยะทาง 19.5 กิโลเมตร มี 18 สถานี เส้นทางที่ 2 ระยะทาง 16.5 กม. จากถนนสุรวงศ์ ถึงแยกนราธิวาส ไปถนนพระราม 3 สุดถนนรัชดาภิเษก บรรจบกับถนนราชพฤกษ์ มี 16 สถานี ซึ่งสถานีมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าสายที่ 1 เพราะมีโครงสร้างที่ต้องคร่อมคลอง

ส่วนที่ 2.เส้นทางวิ่ง จะต้องก่อสร้างขอบคันหิน กั้นรถส่วนบุคคลแยกจากรถบีอาร์ที ยกเว้นช่องทางแยก ทางเลี้ยวที่จะใช้สีเหลืองบนพื้นผิวจราจรแทนคันหินกั้น โดยคันหินต้องมีคุณสมบัติรับแรงกระแทกได้สูง ส่วนที่ 3 คือ ระบบงานท่อร้อยสายไฟ คอมพิวเตอร์ เชื่อมโยงเพื่อควบคุมระบบรถ

รองผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวด้วยว่า ได้มีการหารือเบื้องต้นกับเจ้าของเส้นทางที่บีอาร์ทีผ่านหลายหน่วยงานแล้ว เช่น กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท และจะต้องหารือเป็นระยะตลอดการก่อสร้าง เพราะอาจจะกระทบกับทรัพย์สินและการจราจร

ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในการต่อรองและถ้าหากการต่อรองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยก็จะสามารถลงนามในสัญญาและออกหนังสือให้บริษัทที่ประกวดราคาได้เริ่มงานก่อสร้างทันที

ทั้งนี้ กทม.ยังคงตั้งเป้าหมายให้บริการได้ในเดือน ส.ค.2549 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการขออนุญาตเดินรถที่กทม.ได้ส่งหนังสือขอความเห็นชอบไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้กทม.มีใบอนุญาตประกอบการเดินรถเพื่อที่จะสามารถเดินรถโดยสารสาธารณะในกรุงเทพฯได้ ซึ่งขณะนี้กทม.ได้ส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วจำนวน 2 ครั้งเพื่อให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมครม.แต่จนถึงปัจจุบันนี้มหาดไทยยังไม่ได้นำเข้าเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กทม.เตรียมจะจัดจะส่งหนังสือไปอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทางนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯกทม.ได้สั่งการให้สจส.ดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.