ชินแซทฯเปิดแผนไทยคม 5 ลุยทีวีดาวเทียมรองรับกสช.


ผู้จัดการรายวัน(15 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดแผนไทยคม 5 รุกธุรกิจแพร่ภาพทีวีดาวเทียมรองรับไลเซนส์ใหม่ของ กสช. ส่วนไอพีสตาร์โชคดีหลายต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนอุปกรณ์ภาคพื้นดินถูกลง ดาวเทียมมีอายุการใช้งานนานขึ้น และปลอดดาวเทียมคู่แข่งอย่างน้อย 3 ปี ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3 มีรายได้ รวมจากการขายและบริการ 1,398 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 145 ล้านบาท

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักการตลาด บริษัท ชินแซทเทลไลท์ กล่าวว่าดาวเทียมไทยคม 5 ที่จะถูกยิงขึ้นห้วงอวกาศภายในกลางปีหน้า มีแผนไว้รองรับบริการด้านการกระจายสัญญาณภาพ หรือ Video Business ซึ่งปัจจุบันตลาดยังมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะช่องสัญญาณเคยูแบนด์ของไทยคม 5 ทั้งหมด 14 ทรานสปอนเดอร์ บริษัท ยูบีซี ได้มีสัญญาเช่าแล้ว 7 ทรานสปอนเดอร์ ซึ่ง 1 ทรานสปอนเดอร์จะสามารถให้บริการช่องทีวีได้ 12 ช่อง ส่วนที่เหลืออีก 7 ทรานสปอนเดอร์จะรองรับการให้บริการในประเทศไทย 4 ทรานสปอนเดอร์ และอีก 3 ทรานสปอนเดอร์ที่เหลือจะรองรับประเทศในอินโดจีน

"ปัจจุบันจำนวนช่องเปย์ทีวีบนดาวเทียมของ ประเทศเราต่ำกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งการมี กสช. จะทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากการให้ไลเซนส์ใหม่"

เดิมชินแซทฯคาดว่าหลังจากที่ดาวเทียมไทย คม 4 หรือไอพีสตาร์เริ่มให้บริการ ดาวเทียมไทยคมที่ให้บริการในปัจจุบันจะทรงตัวหรือลดความสำคัญลง แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ โดยเฉพาะบริการด้าน แพร่ภาพ หรือ Broadcast กลับเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ ในประเทศปากีสถาน ซึ่งมีการใช้งานมากกว่า 10 ช่องสัญญาณ ซึ่งกลยุทธ์ของการทำตลาดไทยคม ในภาวะที่มีการไหลลงของค่าเช่าช่องสัญญาณเคยูแบนด์ คือการขายแบบเทิร์นคีย์ ลูกค้ามีเฉพาะคอนเทนต์หรือเนื้อหา หลังจากนั้นชินแซทฯจะพร้อมให้บริการทั้งการอัปลิงก์ ดาวน์ลิงก์ เช่าช่องสัญญาณ มีสตูดิโอพร้อมบริการ ซึ่งการขายแบบนี้จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องแข่งขัน ด้านราคากับดาวเทียมดวงอื่น

"เราจะยึดคอนเซ็ปต์ฮอตเบิร์ด หรือการทำ ให้มีช่องทีวีจำนวนมากบนดาวเทียมไทยคม ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทย อินโดจีน ปากีสถาน บังกลาเทศ หรือเนปาล เพื่อทำให้ไทยคมได้รับความนิยมและมีช่องให้มากที่สุดในเอเชีย"

สำหรับไอพีสตาร์นั้นจะเริ่มให้บริการ 5 ประเทศจากทั้งหมด 14 ประเทศภายในปีนี้ เริ่มจาก ไทย ปลายเดือน ต.ค., เวียดนาม ต้นเดือนพ.ย. ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ภายในสัปดาห์นี้ และพม่าภายในสิ้นปี ซึ่งการสร้างรายได้ของไอพีสตาร์ไม่ได้ อยู่ที่การขายวงจรหรือแบนด์วิดท์อย่างเดียว แต่อุปกรณ์ปลายทางหรือเทอร์มินอลจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญ ประมาณว่าไอพีสตาร์จะรองรับ การใช้งานประมาณ 4-5 ล้านราย หรือ 4-5 ล้านเทอร์มินอล ปัจจุบันเทอร์มินอลราคาชุดละ 1 พันเหรียญ หมายถึงหากมีการใช้งานไอพีสตาร์เต็มความสามารถ ชินแซทฯก็จะมีรายได้จากการขายเทอร์มินอล 4-5 พันล้านเหรียญ

ปัจจุบันไอพีสตาร์ขายเทอร์มินอลไปแล้วประมาณ 3 หมื่นชุด และทีโอทีมีแผนที่จะซื้ออีก 1 หมื่นชุด แต่หากดูจากสัญญาการเป็น USO หากคิดเป็นการให้บริการในลักษณะรีเทลบิซิเนส ทีโอทีจะต้องซื้อเทอร์มินอลประมาณ 1.5 แสนชุด ซึ่งคิดเป็น 50% ของคาปาซิตี้ในประเทศไทย

นอกจากนี้ ไอพีสตาร์อยู่ระหว่างทบทวนการตัดค่าเสื่อมราคา หลังจากที่พบว่าเชื้อเพลิงที่เดิมคาดว่าจะทำให้ดาวเทียมมีอายุการใช้งาน 12 ปี เพิ่มขึ้นกลายเป็น 16 ปี ทำให้หลังจากที่บริษัท ทีโอที รับมอบไอพีสตาร์ในฐานะผู้ให้บริการหลัก หรือ NSO (National Service Provider) ก็จะทำให้การตัดค่าเสื่อมยืดเวลาออกไปอีก 4 ปีจากมูลค่าดาวเทียม 400 ล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการไอพีสตาร์ดีกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ในส่วนของชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์ภาคพื้นดินไอพีสตาร์ ยังมีการปรับลดราคาลงซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตถูกลง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นข่าวดีของไอพีสตาร์

ด้านการแข่งขันถึงแม้ไทยคมจะมีคู่แข่งหลาย ราย และประเทศไทยถือว่าเปิดเสรีดาวเทียมตั้งแต่ปี 1999 องค์กรไหนอยากใช้ดาวเทียมดวงไหนก็สามารถเลือกใช้ได้ ซึ่งถือว่าไม่มีผลกระทบต่อชินแซทฯที่ถือว่าตลาดหลักอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่ไอพีสตาร์ถือว่าไม่มีคู่แข่งจากเทคโนโลยีที่แตกต่างจากดาวเทียมดวงอื่นในภูมิภาคนี้ นอกจากนั้นหากใครต้องการสร้างดาวเทียมเหมือน ไอพีสตาร์ที่เป็น Broadband Satellite จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี ก็หมาย ถึงไอพีสตาร์กินตลาด ไปเรียบร้อยและมีความแข็งแกร่งมากแล้ว
ด้านนายธนฑิต เจริญจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนการเงินและการบัญชี ชินแซทฯกล่าวถึงผลประกอบการไตรมาส 3 ว่าชินแซทฯ มีรายได้จากการให้เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมเป็นเงินทั้งสิ้น 641 ล้านบาท และบริการไอพีสตาร์ 231 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสที่ 3/2548 นี้รายได้จากไอพี สตาร์เพิ่มขึ้น 183 ล้านบาท หรือ 381.3% จาก 48 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปี 2547 ส่วนรายได้ จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไตรมาสที่ 3/2548 มีจำนวน 15 ล้านบาท ลดลงจาก 18 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3/2547 และไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาสก่อน

ในไตรมาสที่ 3/2548 รายได้จากธุรกิจในกัมพูชาและลาวเพิ่มขึ้น 30% เป็น 511 ล้านบาท จาก 393 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่อง จากมีจำนวนผู้ใช้บริการในระบบพรีเพดเพิ่มขึ้นอย่างมากในทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ ซึ่งชินแซทฯถือหุ้นจำนวน 40% ได้จ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 จำนวน 93 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.