เบื้องหลังทิ้งหุ้น"บีไอเอชซี" ซิกคอนติเนนท์สฯพลาดโรงแรมใหม่


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยเบื้องหลัง กลุ่มซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส์ ทิ้งหุ้นใน บริษัทบางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด หรือ บีไอเอชซี เป็นเพราะพลาดการเข้าบริหารโรงแรม แห่งใหม่ ที่อยู่ด้านหลังโครงการสยามพารากอน "เอ็ม บี เค" ซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เผยการเสนอซื้อหุ้นในราคา 900 ล้านบาท เป็นเพราะเห็นศักยภาพของโครงการและเชื่อว่าได้ ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคาร ในขณะที่กลุ่มเดอะมอลล์ต้องพลาดการซื้อหุ้น ครั้งนี้ เพราะเสนอราคาน้อยกว่า ด้านการบริหารบีไอเอชซียังใช้ทีมชุดเดิมทั้งหมดในขณะที่ผู้บริหารบีไอเอชซี เตรียมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ในปีหน้า

วานนี้ (28 พ.ย.) คณะผู้บริหาร บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนน ตอลโฮเต็ลส จำกัด หรือบีไอเอชซี พร้อมด้วยผู้บริหาร จากบริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงการเข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่ม ซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส (Six Continents Hotels) ของกลุ่มเอ็ม บี เคส่งผลให้กลุ่มเอ็ม บี เค กลาย เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบีไอเอชซี

พล.ท.เฉลิมชัย จารุวัสตร์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท Six Continents Hotels ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในอันดับหนึ่งของบริษัท โดยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 4,687,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.58% ได้ตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าว โดยได้มอบให้บริษัท โจนส์ แลง ลาซาล เป็นผู้ติดต่อขายหุ้นแก่นัก ลงทุนรายใหญ่เป็นการเฉพาะเจาะจง ซึ่งมีผู้สนใจเสนอซื้อหุ้นเข้ามาหลายราย ได้แก่ กลุ่มเอ็ม บี เค , กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการหรือกบข. รวมทั้งกลุ่มเดอะมอลล์ด้วย แต่กลุ่มเอ็ม บี เค ก็ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประมูล ซื้อหุ้นครั้งนี้ด้วยมูลค่า 900 ล้านบาทเศษและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบีไอเอชซี โดยมีสัดส่วนในปัจจุบัน 30.60% ซึ่งก่อนหน้าที่กลุ่มเอ็ม บี เค จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ในบริษัทบีไอ-เอชซีเพียง 2% เท่านั้น

ทั้งนี้นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม บี เค ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นในครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริษัทที่มีการเติบโตมาโดยตลอด และโครงการสยามเซ็นเตอร์ ดิสคัฟ เวอรี่เซ็นเตอร์ รวมทั้งอาคารสยามทาวเวอร์ ก็ล้วนเป็นโครงการที่มีศักยภาพ และอยู่ใน ทำเลที่ดีที่สุดของประเทศไทย ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนด้านการลงทุนที่คุ้มค่า นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงการฝากเงินสดไว้ในสถาบันการเงิน ได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 2% ซึ่งหากนำมาลงทุนในบริษัทดังกล่าวเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะการได้ผลตอบแทนเพิ่ม ขึ้นเพียง 5% ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการลงทุนในครั้งนี้ทางกลุ่มเอ็ม บี เค ถือว่าเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่า

ทางด้านนางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธาน บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และรองประธานกรรม การ บริษัท สยามพารากอนดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บีไอเอชซี และ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการสยามพารากอน เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเดอะมอลล์ โดยนายสุรัตน์ อัมพุช ผู้เป็นพี่ชาย ได้เสนอขอซื้อหุ้นของกลุ่ม ซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ว่าเสนอราคาน้อยกว่าประมาณการว่าน่าจะอยู่ที่ 600 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ แต่การที่เดอะมอลล์ ไม่ได้เสนอราคามากเช่นกลุ่มเอ็ม บี เคเสนอนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางกลุ่มเดอะมอลล์ ได้ลงทุนในโครงการสยามพารากอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเงินทุนจดทะเบียน ที่จ่ายไปแล้ว 300 ล้านบาท เท่ากับกลุ่มบีไอเอชซี และยังต้องลงทุนเรื่องที่ดินและอื่นๆ อีก ทำให้ไม่มีเงินมากพอที่จะมาซื้อหุ้นในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวออกมาว่า การที่กลุ่มซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส ตัดสินใจขายหุ้นในครั้งนี้เป็นเพราะภายหลังจากที่หมดสัญญาการบริหาร โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อเดือนมิถุนายน 2545 เป็นต้นมา และโรงแรมดังกล่าวได้ถูก ทุบทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากทางกลุ่มซิก คอน ติเนนท์ส โฮเต็ลส ได้เสนอตัวเข้าทำโรงแรมระดับ 5 ดาวพร้อมเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ที่ทางกลุ่มบีไอเอชซี จะทำบริเวณด้านหลังของโครงการสยามพารากอน ซึ่งโครงการนี้จะแยกออกจากสยามพารากอนเป็นคน ละบริษัท มีมูลค่าโครงการในเบื้องต้น 3,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะไม่มีโอกาสได้รับเลือกให้บริหารโครง การโรงแรมแห่งใหม่ เพราะจากการวิเคราะห์ตลาดพบว่าชื่อคอนติเนนตอลนั้น แบรนด์ยังไม่แข็งพอในธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย เพราะเมื่อพิจารณาง่ายๆ ว่าเมื่อลูกค้าต้องการไปรับประทานอาหารที่โรงแรม คนจะนึกถึงโรงแรมอื่นมากกว่าที่จะเลือกไปรับประทานอาหารที่โรงแรมคอนติเนนตอล

นอกจากนี้ทางกลุ่มบีไอเอชซี อาจต้องการเปิด ทางให้กลุ่มเชนโรงแรมรายใหม่เข้ามาบริหารงานดูบ้าง จึงทำให้คาดว่าหากกลุ่มซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาบริหารโรงแรม แล้วต้องขายหุ้นทิ้งในภายหลัง จะทำให้ขายได้ราคาน้อยกว่า ที่สำคัญอีกประการก็คือ หากกลุ่มซิก คอนติเนนท์ส ไฮเต็ลส ไม่ได้บริหารโรงแรมในสยามพารากอน แล้วยังถือหุ้นในบีไอเอชซี ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์ การค้า ไม่ใช่ธุรกิจหลังของกลุ่มซิก คอนติเนนท์ส ก็น่าจะขายหุ้นเพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่อื่นๆ จะดีกว่า

ทางด้านนางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด กล่าวว่า การที่กลุ่มเอ็ม บี เค เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบีไอเอชซีซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจ 4 ส่วนคือ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยาวทาวเวอร์ และอาคารจอดรถสยาม เท่านั้น ในขณะที่โครงการสยามพารากอน เป็นการร่วมทุนระหว่างบีไอเอชซี และเดอะมอลล์ คนละ50/50 ซึ่งต้องแยกเป็นคนละส่วนกัน

สำหรับความคืบหน้าในการคัดเลือกผู้บริหารโรงแรมแห่งใหม่ที่อยู่ด้านหลังโครงการสยามพารากอนนั้น ทางบริษัทได้เชิญกลุ่มโรงแรมที่สนใจเข้ามาเสนอโครงการจำนวน 4 ราย ซึ่งรวมถึงกลุ่ม ซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส ด้วย แต่ล่าสุดกำลังเจรจาใน รายละเอียดกับผู้บริหารโรงแรมอีกรายหนึ่งซึ่งใกล้จะลงตัวแล้ว และจะประกาศชื่อกลุ่มที่จะเข้ามาบริหาร โรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ได้ในเดือนธันวาคม 2545 นี้

ทั้งนี้นางชฎาทิพ ได้กล่าวอย่างโล่งใจว่า เมื่อรู้ว่ากลุ่มซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส ขายหุ้นในส่วนนี้ไปก็รู้สึกดีใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาซื้อเป็นคนไทยด้วยกันเอง เพราะโดยส่วนตัวแล้วชอบทำงานกับคน ไทยมากกว่า เพราะไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษเวลาประชุม ไม่ต้องเตรียมเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ และทำ ความเข้าใจกันได้ง่ายกว่า ทั้งนี้นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่าทราบว่าทางกลุ่มซิก คอนติเนนท์ส จะขายหุ้นในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา และเพิ่งจะรู้ว่ากลุ่มเอ็มบีเค เป็นผู้ชนะการซื้อหุ้นในครั้งนี้เพียง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

สำหรับภายหลังการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มเอ็ม บี เคนั้น ทางเอ็ม บี เค ได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เข้ามาแทนกรรมการชุดเดิม (กลุ่มซิก คอนติเนนท์ส โฮเต็ลส) จำนวน 3 คนที่ได้ลาออกไปแล้ว กรรม การใหม่ ประกอบด้วย นายบันเทิง ตันติวิทย์ ประธาน บริหาร , นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ รองประธานกรรม การบริหาร และนายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็ม บี เค ดีเวลล็อปเมนท์ โดยทั้งสาม คนนี้จะเข้ามาเป็นกรรมการ บริษัท บางกอกอินเตอร์ คอนติเนนตอลโฮเต็ลส จำกัด เพียงเท่านั้น ส่วนการ บริหารงานยังคงใช้ทีมผู้บริหารชุดเดิมทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ทางบีไอเอชซี กำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่โดยจะประกาศใช้ในปี 2546 ด้วย

ด้านความร่วมมือระหว่างกลุ่มเอ็มบีเค และบีไอเอชซี ภายหลังจากที่ได้ผนึกพลังเป็นพันธมิตรกันในครั้งนี้ก็คือ การเอื้อประโยชน์ในธุรกิจค้าปลีกซึ่ง กันและกัน นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะทำทางเชื่อมจาก ศูนย์การค้ามาบุญครอง เข้ามายัง สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ ที่บริเวณชั้น 3 อีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งแบบให้ทางกรุงเทพมหานครพิจารณา และยังมีโครงการที่จะต่อขยายทางเดินเชื่อมจากมา บุญครองไปตามเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อเชื่อมกับสยามเซ็นเตอร์ ต่อไปจนถึงเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และต่อกับเกษร ที่บริเวณด้านหน้าอัมรินทร์พลาซ่าด้วย ซึ่งโครงการในส่วนหลังนี้ใช้เงินค่าก่อสร้างประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะหางบประมาณจากที่ใดมาใช้ในการก่อสร้าง

ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันว่า หลังจากที่โครง การสยามพารากอนเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2548 แล้วพื้นที่ย่านสี่แยกปทุมวันจะเป็นพื้นที่ที่มีศักย ภาพมากที่สุด โดยเฉพาะได้พันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่าง บีไอเอชซี-เอ็ม บี เค-เดอะมอลล์กรุ๊ป และผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะผสานพลังเพื่อพัฒนา ค้าปลีกให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและชอปปิ้งของเอเชีย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.