|

ต่างชาติเมินศก.-หุ้นใบสัง
ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"กรณ์" ชำแหละเศรษฐกิจไทยระดับมหภาคยังมั่นใจ ได้ จุดล่อแหลมอยู่ที่เงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ระดับรากหญ้าลำบาก จากราคาสินค้าแพงขึ้น ตลาดหุ้นไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจเหตุนโยบาย ลงทุนรัฐไม่ชัด โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ พบนักลงทุนต่างชาติไม่เชื่อตัวเลขเศรษฐกิจบางตัว หุ้นในตลาดฯเป็นของรัฐและนักการเมืองซีกรัฐเกือบครึ่งตลาด มิหนำซ้ำหุ้นหลายบริษัทที่รัฐเอี่ยวล้วนมีปัญหา การบิน ไทย ธ.กรุงไทย ปตท. ดึงความโปร่งใสถดถอย กดดัชนีหุ้นไทยย่ำอยู่ที่เดิม 2 ปีแล้ว สะท้อนระบบเศรษฐกิจใบสั่ง
นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ ไทยปัจจุบันยังถือว่ามีเสถียรภาพ เมื่อเทียบเงินสำรองระหว่างประเทศต่อยอดนำเข้า และพิจารณาตัวเลขชี้วัดออก มาดีอยู่ อาทิ อัตราการว่าจ้างงาน ฯลฯ แต่มีจุดที่ล่อแหลมอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าไม่มีความเสี่ยงมากนัก
ทั้งนี้ เศรษฐกิจในระดับมหภาค ยังดีอยู่ แต่ในทางกลับกันในแง่ของภาค ประชาชนโดยเฉพาะรากหญ้าเห็นได้ชัดว่าได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ฯลฯ เป็นคำถามว่าทำไม เศรษฐกิจไม่สะท้อนใหญ่ออกมา ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยก็ไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจาก บริษัทหลักทรัพย์ พบว่า นักลงทุนต่างประเทศไม่เชื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจบางตัวที่มีการประกาศออกมา
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามของนักลงทุนต่างประเทศ อย่างในเรื่องของขีดความสามารถ ในปัจจุบัน ซึ่งขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยอยู่ระหว่างประเทศจีน และอินเดีย ซึ่งจะมีการพิจารณาที่จะเลือกเข้าไปลงทุน ขณะที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งภาครัฐช่วยกระตุ้น แต่ก็ยังไม่มีชัดเจนในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล (เมกะโปรเจกต์) โดยเฉพาะเรื่องระบบขนส่ง-มวลชน
"ผมเคยไปฟังที่มีรมว.คลังพูดถึงนโยบายเมกะโปรเจกต์ มีนายธนาคารจากต่างประเทศจำนวน มากเข้าร่วมฟัง แต่สุดท้ายก็ไม่มีความชัดเจน มองกันว่า การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ยังอีกไกล ทุกคนผิดหวังมาก ไม่มีการตกผลึกในเรื่องนี้"
เมื่อไม่มีความชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการเข้าไปลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนอนาคต สุดท้าย คนต้องมองอนาคต สภาพตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 ปีนี้(2547-2548) ดัชนีหุ้นไทยอยู่เท่าเดิม 600-700 จุด ถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่ถูกมานานแล้วมา 2 ปีแล้ว คนก็ยังงง ว่าทำไม่หุ้น ไม่ขึ้นสักที สุดท้ายคนมองว่า อนาคตยังมีความไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของระดับธรรมาภิบาล (ความโปร่งใส) ที่คอยบั่นทอน ซึ่งจะเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนที่มีภาครัฐและการเมืองในกลุ่มภาครัฐเกี่ยวข้องล้วนมีปัญหา อาทิ บมจ.การบินไทย ก็ไม่มี ความชัดเจนว่าจะดูแลเรื่องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น หรือประโยชน์เพื่อใคร, ธนาคารกรุงไทย ซึ่งรัฐบาลให้สนองนโยบายการปล่อยกู้ ในขณะที่ธนาคารเอกชน ไม่ปล่อยก็ต้องมีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่ บมจ.ปตท. สุดท้ายรัฐบาลก็เข้าไปแทรกแซงล่าสุด เรื่องการให้พยุงค่าเอฟที(ค่าไฟ) ส่วน บมจ.ปิคนิคคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเกี่ยวพันอดีตรัฐมนตรีช่วยที่ผ่านมาก็มีปัญหาเกิดขึ้น
"ตรงนี้เป็นความน่าเชื่อถือของตลาดทุน แม้แต่ธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งแม้จะดูภาพเป็นเอกชนก็ยังไม่วายต้องได้รับแรงกดดันจากการเมือง"
ทั้งนี้ เมื่อ บมจ. กฟผ.ที่จะเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.ก็จะช่วยภาวะตลาดดีขึ้น แต่สุดท้ายก็จะมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจน คลุมเครือในเรื่องรายละเอียดว่า เมื่อแปรรูปแล้วแต่รัฐบาลยังคงถือหุ้นใหญ่ จึงทำให้เกิดความสับสนว่าหน้าที่ในการบริหารนั้นจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ก็จะคล้ายกรณีธนาคาร กรุงไทย ที่ต้องสนองนโยบายของรัฐบาลแล้วมีปัญหา ปตท.ที่ต้องการดูแลผลประโยชน์ของเอกชน แต่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง
ดังนั้น เมื่อ กฟผ. เมื่อเข้า ตลท.แล้วก็จะมีปัญหาตามมาเช่นกัน ซึ่งจะมีปัญหาในเรื่องราคาสินค้า การให้บริการต่อประชาชน ซึ่งสุดท้ายจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงของรัฐบาลได้ยากมาก ต้าน กฟผ.โครงสร้างไม่เหมาะ
นายกรณ์ กล่าว การคัดค้านนำ บมจ.กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้หวังว่าจะให้มีการยุติการนำเข้า แต่ไม่เห็นด้วยในเรื่องของโครงสร้างและจังหวะเวลา การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องไม่ใช่โครงสร้างปัจจุบันนี้ ที่ผ่านมามีการคัดค้านมาตลอด ทั้งการอภิปรายในสภาฯก็ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ จึงได้เลือกไปยื่นหนังสือคัดค้านให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.)
"ตอนนี้อยู่ในช่วงของการพิจารณาการลงทุน เราจะเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุน ซึ่งมีผลต่อการประเมินราคาหุ้น พูดถึงความน่าลงทุนมีแน่นอนเพราะโครงสร้าง กฟผ.ที่รัฐบาลทำออกมาเอื้อประโยชน์แน่นอน"
ภายใต้โครงสร้าง กฟผ.ในปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์ที่ว่า แปรรูปเพื่อมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และไม่ตอบโจทย์ที่เพื่อให้เกิดการแข่งขัน มีการนำสาย ส่งเข้าไปรวมอยู่ใน กฟผ. ซึ่งการที่นำสายส่งไปรวม ยังมีความหมายในแง่ของประชาชนที่เคยถูกเวรคืนที่ดินไปเพื่อให้ กฟผ.สร้างสถานีสายส่ง รัฐบาลไปเวรคืนที่ดินมาแล้วจะเอาที่ดินพวกนี้ไปให้คนอื่นที่จะเข้ามาถือหุ้น ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อเขา
การแยกโรงไฟฟ้าออกจากกันแล้วนำเข้าทีละบริษัทจึงจะทำให้เกิดการแข่งขัน เช่นในอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์แยกโรงไฟฟ้าออกเป็น 3 แห่งแล้วเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ค่าเอฟทีเพื่อลดความเสี่ยง
ความใหญ่ของหุ้น กฟผ.ทำให้กลายเป็นหุ้นที่น่าสนใจ(ฮอต)การขยายตัวของธุรกิจประเภทนี้จะต้องมองยาว 4 ปี หุ้น ปตท.นั้นอิงกับราคาน้ำมัน ส่วน กฟผ.อิงกับค่าเอฟที ซึ่งโครงสร้าง กฟผ.ยังเป็นโครงสร้างที่กำหนดราคาฐานและที่เหลือเป็นค่าเอฟที ทั้งที่ไม่จำเป็น
ถ้าย้อนกลับไปดูที่มาของค่าเอฟที พบว่าในอดีต กฟผ.ไม่มีการกำหนดค่าเอฟที แต่เมื่อมีการกู้เงินจาก เวิลด์แบงก์มา ซึ่งเป็นปกติที่ผู้ให้กู้ต้องการความแน่นอน จึงเสนอสูตรค่าเอฟทีมาเพื่อลดความเสี่ยงให้มั่นใจในเรื่องของรายได้และฐานะการเงินที่แน่นอน บริษัทไฟฟ้าประเทศอื่นก็ไม่เห็นมีค่าเอฟที แต่ปัจจุบัน เราหลุดจากสภาพหนี้แล้ว ระบบใบสั่งนักลงทุนเผ่น
นอกจากนี้ การแปรรูป กฟผ.จะมีผลต่อตลาด ทุนในประเทศไทย ที่ผ่านมาแม้ราคาหุ้นของบริษัท ต่างๆ ใน ตลท.จะเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนในตลาดทุนกลับไม่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของ ตลท. และราคาหลักทรัพย์ของไทยถูกนักวิเคราะห์ระบุว่าต่ำสุด ในเอเชีย จากรายงานสถาบันการลงทุนระหว่างประเทศระบุถึงสาเหตุของตลาดทุนไทยไม่กระเตื้องเป็นเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน เพราะขาดหลักธรรมาภิบาล ภาวะขึ้นลงของตลาดหลักทรพัย์ขึ้นอยู่ กับนโยบายรัฐบาลหรือ ครม. ซึ่งมีการแทรกแซงตลาด หลักทรัพย์ฯ ตลอดเวลา หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจตามสั่ง โดย 40% ที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นคนใน ครม.และคนใกล้ชิด ครม. ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก ไม่มีความโปร่งใส
"หากตลาดหลักทรัพย์ของไทยอยู่ภายใต้การดูแลที่มีธรรมาภิบาล ราคาหุ้นของ กฟผ.ที่จะเข้าตลาดฯจะดีกว่านี้ เพราะความเสี่ยงของนักลงทุนจะน้อยลง ประกอบกับรัฐบาลไม่ตั้งองค์กรอิสระดูแลและกฎหมายรองรับ จึงเหมือนว่าความอิสระที่จะเกิดขึ้นอยู่ภายใต้การดูแลของ ครม.หรือฝ่ายการเมือง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนและตระหนักก่อนนำ กฟผ.แปรรูป" นายกรณ์ กล่าว
อยากให้รัฐบาลไทยดูตัวอย่างของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งก่อนจะมีการแปรรูปการไปรษณีย์ได้เกิดข้อสงสัยจากประชาชนอย่างมาก จึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจ ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยวัดกระแสตอบรับจากประชาชนในเรื่องนี้ และสุดท้ายรัฐบาลญี่ปุ่นชุดเดิมได้รับเลือกเข้ามา แสดงว่าประชาชนนิยม ในนโยบายของรัฐบาล แต่การแปรรูป กฟผ.ของไทย รัฐบาลกลับไม่มีการทำประชามติเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่านโยบายรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีช่องโหว่โดยเฉพาะการกระจาย หุ้นกฟผ. 1,245 ล้านหุ้น โดยเป็นนักลงทุนต่างประเทศ 374 ล้านหุ้น นักลงทุนในประเทศ 625.5 ล้านหุ้น บริษัทจัดการกองทุนหรือกองทุนต่าง ๆ ของรัฐ 249 ล้านหุ้น นอกจากนี้ยังมีกรีนชู หรือขายหุ้นส่วนเกินเพื่อพยุงราคาในช่วงการซื้อขายเดือนแรก 183 ล้านหุ้น ซึ่งจะเกิดช่องโหว่ โดยส่วนใหญ่จะมีการขายให้สถาบันการเงินจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับสัดส่วน นักลงทุนต่างประเทศแล้วจะมีมากถึง 556 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 40% ของหุ้น กฟผ.ทั้งหมด และน่าเป็น ห่วง คือ มีนักการเมืองอาศัยช่องโหว่ตรงนี้โดยซื้อหุ้นผ่านกองทุนต่างประเทศ โดยผ่านบัญชีสถาบัน การเงินที่เปิดไว้ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ อเมริ-กา สวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการควบคุม และจากการที่พรรคถามไปยัง ก.ล.ต.ยังไม่ได้รับคำตอบ โดย ก.ล.ต. อ้างว่าไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่องนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|