ดึงโบรกเกอร์-วายุภักษ์ลงขัน ตั้ง กองทุนบ้านมือ2ฟื้นตลาด


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดไอเดียตั้ง "กองทุนบ้านมือสอง" ฉบับของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ต้องดึงโบรกเกอร์บ้าน มือสอง-วายุภักษ์-กบข.ร่วมลงขันส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ นักลงทุน พร้อมจัดสรรเงินที่ระดมทุนได้ ซื้อทรัพย์บ้านมือสอง และ FIX ดอกเบี้ยระยะยาว รับกับภาวะช่วง ดอกเบี้ยขาขึ้น ผนึกกับมหาวิทยาลัย ราชภัฏผลิตบุคลากรฝีมือด้านช่าง เตรียมจัดประกวดภายใต้แนวคิด "ทีวี แชมเปี้ยน" ชี้การปรับเปลี่ยนรูปแบบ ภายในบ้าน มีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ถึงแม้จะมีแนวคิดจากผู้ประกอบการ ที่เสนอให้ มีการจัดตั้งกองทุนบ้านมือสองขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิด แต่รูปแบบคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพตลาด และเป็นการจัดตั้งที่เกิด ความร่วมแรงร่วมใจ โดยในเบื้องต้น ที่ศึกษาจะแบ่งแยกเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ 2 ส่วน คือ 1. การนำเงินไป ซื้อบ้านมือสองของตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาฯ (โบรกเกอร์) แต่เป็นการ ช่วยเหลือในสัดส่วนที่ไม่มาก เพราะ ว่าในการดำเนินธุรกิจแล้วโบรกเกอร์ จะได้ค่าคอมมิชชันเฉลี่ย 3% แต่บางรายการอาจจะได้สูงถึง 5-7% ก็เป็นไปได้ และส่วนที่ 2. นำรายได้จากการระดมทุนไปคิดค้นผลิตภัณฑ์ สินเชื่อระยะยาวเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ประชาชนที่ซื้อบ้านมือสอง โดยเฉพาะในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยได้เคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจลดลง

"การจะจูงใจให้กองทุนบ้านมือสองเป็นที่สนใจทั้งนักลงทุนและต่อผู้ประกอบการแล้ว ควรจะให้โบรกเกอร์ลงเงินด้วย ตรงนี้คนซื้อสบายใจเพราะมีเงินของโบรกเกอร์อยู่ ขณะที่โบรกเกอร์จะสู้ตาย นอกจากนี้แล้ว ในด้านของภาครัฐก็ควรเข้ามาโปะเงินในการเข้ามาซื้อหน่วย อาทิ ให้กองทุนวายุภักษ์ซื้อก็ได้ หรือจะให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.เข้ามา ทั้งหมดจะยิ่งทำให้กองทุนบ้านมือสองน่าสนใจยิ่งขึ้น อีกทั้งในเรื่อง ของกฎระเบียนและวิธีการควรจะกำหนดใหม่เลย และต้องมีกฎเกณฑ์ที่น้อยลง เพื่อส่งเสริมการลงทุน" นายพงษ์ศักดิ์กล่าวถึงแนวทางผลักดันตลาดบ้านมือสอง เพื่อรองรับการประกาศผลบังคับใช้มาตรการบ้านมือสอง หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ย.48 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นความ กังวลก็คือ การจะหาบริษัทหลัก-ทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่เก่งในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี จะต้องมีความเก่งในการขายหน่วยลงทุนของกองทุนบ้านมือสอง

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องของขนาดของกองทุนนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนควรมีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นประเภทที่อยู่อาศัยบ้าง ซึ่งคงต้องมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขายบ้านมือสองหรือทรัพย์รอการขายของโบรกเกอร์ และจากบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) ในแต่ละปีมีมูลค่าการขาย อย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ข้อมูลฯได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัย ราชภัฏต่างๆ เพื่อจัดให้มีการอบรมและเรียนรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้าน และตกแต่งภายในบ้าน และนำนักศึกษาเหล่านี้มาแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขยายตัวของบุคลากร หรือจัดเข้ามาแข่งขันคล้ายในต่างประเทศ เช่น ทีวี แชมเปี้ยน และเมื่อนักศึกษเหล่านี้จบออกมาจะ ได้เข้ามาทำงาน รวมถึงจะมีการออกแบบ (ดีไซน์) ภายในบ้านหรือห้องน้ำให้มีความแตกต่างไปจากเดิม เพื่อเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บ้านและลดภาพเดิมๆของประชาชนเกี่ยวกับบ้านมือสองอีกส่วนหนึ่ง

นายวิศิษฐ์ คุณาทรกุล อุปนายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การตั้งกองทุนจะต้องร่างหลักเกณฑ์ ต่างๆ ขึ้นมาโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เหมือนกองทุน อสังหาริมทรัพย์ 1-4 ที่มีการจัดตั้งมา แล้ว โดยผู้เสนอขอตั้งกองทุนจะเป็น เอกชนหรือหน่วยงานรัฐก็ได้ ขนาดเงินทุนของแต่ละกองประมาณ 500 ล้าน บาทและสามารถตั้งได้หลายกอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.