"ฟิลิปส์"เจาะลูกค้ารพ.


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ประธานบริษัทฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ฯ เปิด นโยบายหลังเข้ารับตำแหน่ง เกาะติดการเติบโตทางการแพทย์ของไทย ส่งแผนกเครื่องมือแพทย์เติบโตกว่า 30% ส่วนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ใช้นโยบายลดการลงทุนหันว่าจ้างผลิตตามแผนบริหารจัดการ ระบุเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนโยบายฟิลิปส์ทั่วโลก เผยในส่วนของกลุ่มไฟฟ้า และแสงสว่างเตรียมเจาะเข้าโครงการขนาดใหญ่ทั้ง ภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าต่อปีเติบโตไม่น้อยกว่า 10% มียอดรายได้มากกว่า 7 พันล้านบาท

แถลงการณ์ครั้งแรกของนายยาน เอ็กเกอบีน หลังเข้ามารับตำแหน่ง ประธานและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2549 บริษัทจะเติบโตไปพร้อมกับนโยบายของภาครัฐบาล เนื่องจากสินค้าของฟิลิปส์ ทั้งกลุ่มเครื่องมือแพทย์, ไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่าง ตลอดจนเซมิคอนดักเตอร์ หรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ โดยในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ตั้งแต่ปี 2547 มีการเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 30% มาโดยตลอด เพราะคนไทยมีพฤติกรรมรักษาดูและสุขภาพมากขึ้น ขณะที่โรงพยาบาลก็ปรับตัวพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาและดูแลผู้ป่วย ตามแผนผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับออฟเอเชีย

"โรงพยาบาลมีชื่อหลายแห่งที่สั่งซื้อเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ สั่งซื้อเครื่องตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น, เครื่องเอกซเรย์คอมพิเตอร์ โรงพยาบาลสมิติเวช สั่งซื้อเครื่องอัลตราซาวนด์ 3 มิติ และเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง iE33 โรงพยาบาลรามคำแหงซื้อเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าโรงพยาบาลศิริราช สั่ง ติดตั้งเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดีสั่งติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, เครื่องมือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น"

ลดลงทุนในทรัพย์สินหันใช้เอาต์ซอส

นอกจากนั้นในส่วนของสินค้ากลุ่มไฟฟ้า และอุปกรณ์แสงสว่าง บริษัทจะมุ่งเน้นตลาดหลักที่ลูกค้าโครงการ โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ขณะที่กลุ่มสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเติบโตสูงเป็นไปในทิศทางของความต้องการของตลาดในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ RFID โซลูชัน ซึ่งจะนำไปใช้ในระบบลอจิสติกส์, อี-พาสสปอต และ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อมีการผลิตจำนวน มากขึ้น ราคาต่อหน่วยจะลดลง ทำให้สามารถทำตลาดได้กว้างขึ้น

ล่าสุดได้ลงทุนกว่า 800 ล้านบาทขยายโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มกำลังผลิต RFDI โซลูชันเท่านั้น แต่ในส่วนของการผลิตชิปหรือหน่วยความจำขนาดเล็ก ที่ใช้เทคโนโลยีไม่มากนัก จะเน้นเอาต์ซอส คือจ้างโรงงานอื่นผลิต ตรงนี้ถือเป็นนโยบายหลักของบริษัทแม่ และเป็นนโยบายเดียวกันทั่วโลก

"เราจะเลือกลงทุนที่เป็นสินทรัพย์ให้น้อยลง และเอาต์ซอสให้มาก โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากนัก นโยบายนี้เราปฏิบัติกันมานานแล้ว ซึ่งฟิลิปส์ประเทศไทยก็เช่นกันที่จะต้องปฏิบัติให้เหมือนกับฟิลิปส์ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ตรงนี้ถือเป็นหลักบริหารจัดการที่สำคัญของบริษัท นอกจากนั้น" เตรียมหวนทำตลาดหม้อหุงข้าว

ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนชิ้นเล็ก ในปี 2549 บริษัท มีแผนผลักดันสินค้าใน 2 กลุ่มหลัก คือ เครื่องดูดฝุ่น และหม้อหุงข้าว โดยเฉพาะหม้อหุงข้าว นับเป็นการกลับมาทำตลาดอีกครั้ง หลังจากหยุดไป 2 ปี โดยปีหน้าจะออกรุ่นใหม่ 11 รุ่น ทั้งนี้ เพราะยังมองเห็นช่องทางทำตลาด ซึ่งเราเชื่อว่าจากนวัตกรรมสินค้าภายใต้แบรนด์ฟิลิปส์ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นสินค้าระดับพรีเมียม จะช่วยให้เราทำตลาดง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะส่งผลให้ฟิลิปส์ ในภูมิภาคนี้มีรายได้รวมสูงถึง 1.8 หมื่นล้านยูโร ในปี 2548 และจะเติบโตเป็น 2.3 หมื่นล้านยูโรในปี 2549 โดยภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่ เป็นอันดับสองรองจากประเทศจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจากการประชุมของประธานฟิลิปส์ในอาเซียน ที่ได้ประชุมกับคณะกรรมการ บริหารในหัวข้อการเติบโตธุรกิจในอาเซียน ได้ข้อสรุปตรงกันว่าเรื่องการลงทุนจะโฟกัสลงไปที่ตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์
สำหรับผลประกอบการของฟิลิปส์ ประเทศไทย ปีนี้จะเติบโตมากกว่า 10% จากปี 2547 ที่มียอดขายกว่า 7 พันล้านบาท และจากแผนงานดังกล่าวข้างต้นในปี 2549 บริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโตอีกไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน ส่วนยอดการส่งออก ปี 2547 มียอดส่งออกมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน

สำหรับสินค้าใน 5 กลุ่มหลักของบริษัทที่ทำรายได้สูงสุดตามลำดับคือ แผนกคอนซูเมอร์- อิเล็กทรอนิกส์, ส่วนกิจการไฟฟ้าและอุปกรณ์แสงสว่าง, ส่วนเซมิคอนดักเตอร์, แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนชิ้นเล็ก และแผนกเครื่องมือ แพทย์ โดยในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีการ เติบโตสูง จะช่วยเพิ่มรายได้เข้าบริษัทได้มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.