แก้เกณฑ์สำรอง ลดNPLแบงก์รัฐ


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คลัง-แบงก์ชาติ ตั้งคณะทำงานร่วม คิดโมเดลการตั้งสำรองเอ็นพีแอลสถาบันการเงินเฉพาะกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับการปล่อย สินเชื่อมากขึ้น ตั้งเป้าได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน สนองนโยบาย รมว.คลัง ลดเอ็นพีแอลสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งเหลือต่ำกว่า 10% ภายใน 3 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมา ทางกระทรวงการคลังได้เรียกหารือผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ถึงแผนการปรับลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หลังจากได้รับมอบนโยบายจาก นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งไปคิดแผนการ ลดเอ็นพีแอลของตนเองให้เหลือต่ำกว่า 10% ภายในเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารจากสถาบันการเงินการเงินเฉพาะกิจ เพื่อช่วยกันคิดโมเดลในการตั้งสำรองหนี้สูญของ สถาบันการเงินเฉพาะกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อที่แท้จริงมากขึ้น โดยได้ให้เวลา คณะทำงานดังกล่าวสรุปรูปแบบเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้สูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

"อย่างเช่น ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นช่วงฤดูและมีรายได้ตามช่วงฤดูที่เก็บเกี่ยว หรือ อย่างลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการส่งออก ที่มีรายได้ตาม ช่วงเวลาเหมือนกัน ดังนั้น การที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ในช่วงที่เขายังไม่มีรายได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหากลายเป็นเอ็นพีแอลได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหนี้ดังกล่าวยังไม่ได้เป็นหนี้เสีย"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากเรื่องเกณฑ์ในการตั้งสำรองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่สำคัญ คือ 1. เรื่องระบบฐานข้อมูลที่ไม่ดี และไม่ครอบคลุม เพียงพอ 2. ปัญหาในการติดตามทวงหนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และ 3. ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้ลูกหนี้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด เช่น ลูกหนี้ไม่ได้รับใบแจ้งหนี้จากเจ้าหนี้ และต้องจ่ายค่าปรับที่ชำระหนี้ช้า เมื่อเจรจาต่อรองก็ใช้เวลา 2-3 เดือน กลายเป็นเอ็นพีแอลไปก่อน เป็นต้น

"เรื่องระบบฐานข้อมูลสำคัญมาก ต้องพยายามทำให้อัปเดตมากที่สุด ขณะที่ต้องมีมาตรการติดตามทวงหนี้ที่จริงจัง และต้องแก้ไข ปัญหาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวลูกหนี้ แต่ส่งผลให้ ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่ง กรณีนี้มีอยู่เยอะมาก"

นายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งมีการตั้งสำรองหนี้สูญแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งพยายามทยอยตั้งสำรองให้ครบตามเกณฑ์ของ ธปท. เช่น ธ.ก.ส.ในอดีตที่ผ่านมา มีการตั้งสำรอง ปีละ 10% และตั้งสำรองครบ 100% ในปีที่ 10 แต่ปัจจุบันทยอยสำรองในปีแรก ปีที่สอง และสำรองเต็ม 100% ในปีที่ 3 เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เป็น การหารือถึงแนวทางในการปรับลดเอ็นพีแอลตามนโยบายของ รมว.คลัง โดยมีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานย่อย มีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานฯ เพื่อศึกษา แนวทางการปรับลดเอ็นพีแอลในทุกๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการคิดรูปแบบการตั้งสำรองหนี้สูญให้เหมาะสมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ในขณะนี้ว่า เกณฑ์การตั้งสำรองใหม่จะทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มหรือลดลงอย่างไร

สำหรับสินเชื่อคงค้างสุทธิ ในระบบสถาบัน การเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2548 นี้ มีอยู่จำนวน 1,717,778 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2547 ที่อยู่ที่ 991,181 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอล ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 92,755 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.41% ลดลงจาก สิ้นปี 2547 ซึ่งอยู่ที่ 8.60% สำหรับกำไรสุทธิ ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 9,719.31 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 10,164.04 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เคยเสนอให้รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกค้าที่ธนาคารต้องการข้าไปช่วยเหลือ ให้มีความแข็งแรง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. กรณีที่ ธ.ก.ส. เข้า ไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากทาง การ ซึ่งกลุ่มที่เอสเอ็มอีแบงก์ต้องการเข้าไปช่วย ผลักดันกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นสินค้าส่งออก และการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.