สปส.ใส่เกียร์ถอย...โยกเงินลงทุนตปท. จับตานโยบายลงทุน "มหานครสุวรรณภูมิ"


ผู้จัดการรายวัน(14 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้สถานการณ์ล่าสุดสำหรับนโยบายการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีเงินกองทุนประกันสังคมภายใต้การบริหารจัดการมูลค่ากว่า 3.1 แสน ล้านบาท จะยอมถอยในส่วนของนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม ยังมี แนวคิดที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนประมาณ 5% ของมูลค่าทรัพย์สินของสปส. หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

โดย ไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า สปส. ได้ยุติการนำเงินกองทุนประกันสังคม 8 พันล้านบาทไปลงทุน ในต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการนำเงินกองทุนไปลงทุนต่างประเทศนั้นเป็นแค่การศึกษาหาทางเพิ่มผลกำไรเท่านั้น แต่เมื่อสังคมไม่เห็นด้วยก็คงจะไม่ดื้อดึงไปลงทุนเด็ดขาดรวมทั้งจะยกเลิกการนำเงิน 5% ของกองทุนประกันสังคมไปจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ด้วยแต่จะหันมาลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายในประเทศแทน

โดยขณะนี้กำลังศึกษาในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, โครงการเมกะโปรเจกต์ ของรัฐบาล นอกจากนี้ สปส. กำลังศึกษาแนวทางการลงทุนในมหานครสุวรรณภูมิภายใต้โครงการก่อสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก คาดว่าจะต้องใช้เงินกองทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
"ไม่ได้หมายความว่า สปส. กลับลำแต่เป็นนโยบายของรัฐมนตรีที่บอกว่า ถ้าสังคมยังไม่เห็นด้วย ยังไม่เข้าใจก็จะไม่มีการนำเงินไปลงทุนเด็ดขาด แต่แนวทางนี้ก็ยังไม่ได้หายไปทีเดียวยังคงต้องศึกษาพร้อมไปกับการทำประชาสัมพันธ์ซึ่งที่ผ่านมาเราอ่อนมากไม่สามารถทำให้สังคมเข้าใจได้" เลขาธิการ สปส. กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานกองทุนประกันสังคมในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2548) มีขนาดสินทรัพย์สุทธิ 311,950 ล้านบาท โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งสิ้น 7,786 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.29% ต่อปี ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับจากพันธบัตรและเงินฝากธนาคาร 6,651 ล้านบาท เงินปันผลรับจากหุ้นสามัญ 656 ล้านบาท และกำไรจากการขายหุ้นสามัญจำนวน 479 ล้านบาท ถือเป็นการยอมถอยในก้าวแรก หลังโยนก้อนหินถามทาง เพื่อโยกเม็ด เงินกองทุนที่มีจำนวนมากพอสมควรไปลงทุนต่างประเทศ นัยว่าเพื่อกระจาย ความเสี่ยงการลงทุน และหาผลตอบแทนที่สูงกว่าตามคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารเงินลงทุน ซึ่งได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ เข้ามาศึกษาแนวทางการลงทุนของสปส. เพื่อให้เงินที่บริหารอยู่งอกเงย

พิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่า จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญ บริษัท Willliam M. Mercer ที่ได้เสนอแนะให้กองทุนแบ่งเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ก็เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น และลดความเสี่ยงซึ่งกองทุนประกันสังคมในต่างประเทศมีนโยบายลงทุนในต่างประทศคิดเป็น 10% ของขนาดสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนแต่ในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศของสปส.นั้นคิดเป็นประมาณ 1-2% ของสินทรัพย์ของกองทุนเท่านั้นถือว่าน้อยมาก ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงน้อยมากจากการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนอนาคตจะเพิ่มการลงทุนอีกหรือไม่นั้นก็จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งว่า ผลตอบแทนจากที่ลงทุนไปแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาของบริษัท Willliam M. Mercer นั้นผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในประเทศ ทั้งในส่วนของหุ้น ตราสารหนี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนประมาณ 8-9% ตราสารหนี้ประมาณ 4-5% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนประมาณ 6-7% และตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4%

ขณะที่มุมองของกลุ่มองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานอย่าง วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส.ว.กทม.ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการหลักประกันทางสังคม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้ตรวจสอบการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในต่างประเทศ และจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความไม่โปร่งใสในการนำเงินจำนวน 10% ที่ใช้บริหารงานประกันสังคม ไปใช้ในการบริหารประเทศของรัฐบาล

"เงินจากกองทุนประกันสังคม เป็นเงินที่เชื่อมโยงกับชีวิตของผู้ประกันตนจำนวน 8.3 ล้านคน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต หากมีการนำไปลงทุนที่ทำให้เกิดกำไรและเป็นความเสี่ยง ผู้ประกันตนควรมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ ในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยไม่มีความมั่นใจในความโปร่งใส และวิตกกับความเสี่ยงในการลงทุนจึงไม่เห็นด้วยกับสำนักงานประกันสังคม จึงขอยื่นหนังสือให้ กมธ.พัฒนาสังคมฯ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยเร่งด่วนด้วย" น.ส. วิไลวรรณ กล่าว

ถือเป็นการออกมาแสดงจุดยืนของผู้ใช้แรงงานต่อการติดตามตรวจสอบ ความโปร่งใส ของการบริหารเงินกองทุนของผู้ทำประกันตนที่น่าจับตามอง พอสมควร และที่สำคัญการที่สปส.ได้ประกาศนโยบายการลงทุนใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะเข้าไปลงทุนใน "มหานครสุวรรณภูมิ" หรือการเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังมีกระแสการต่อต้านเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นตัวจุดประเด็นให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องเพราะว่านโยบายดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล และเป็นประโยชน์ที่คาบเกี่ยวกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทางการเมืองหรือไม่!!! (โปรดติดตามตอนต่อไปอย่างลุ้นระทึกสำหรับนโยบายการลงทุนของสปส.)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.