|
เปิดแผนรัฐปลุก "การค้า-ลงทุน" รัสเซีย ส่งออกโตปีละ30% -ซีพีเล็งเปิดโรงงานไก่
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก มีแผนบุกตลาดที่จะสร้างโอกาสให้นักธุรกิจไทย รวมไปถึงการชี้แนะลู่ทางธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตและเป็นที่ ต้องการของชาวรัสเซียให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามา ทำการค้า การลงทุน อีกทั้งการเตรียมความพร้อมในการรับปัญหาหรืออุปสรรค ต่าง ๆ เพื่อทำให้นักธุรกิจประสบความสำเร็จ สร้างผลกำไร เข้าประเทศได้มากที่สุด ขณะที่ซีพีเล็งเปิดโรงงานไก่
"อัครพงศ์ ทีปวัชระ" ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) รักษาราชการแทนอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงลู่ทางในการทำธุรกิจในรัสเซีย
การค้าในรัสเซียโตต่อเนื่อง
การค้าระหว่างไทยกับรัสเซียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศ
รัสเซีย ทำให้ประชากรรัสเซียมีความต้องการในการซื้อสินค้ามากขึ้นเป็นผลให้ไทยส่งออกมารัสเซียมากขึ้น นอกจากนี้รัสเซียเป็นแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งไทยมีความต้องการเพื่อนำไปผลิตต่อภายในประเทศ เช่น เหล็ก สินแร่อื่นๆ และน้ำมัน ปัจจุบันรัสเซียได้มีการลงทุนพัฒนาการนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้
ดังนั้น การนำเข้าของไทยจากรัสเซียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นด้านการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียนั้น เนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปรัสเซียเป็นสินค้าประเภทเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเบา เช่น อาหาร เครื่องรับโทรทัศน์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเป็นสินค้าประเภทอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและสินแร่ต่างๆ ทำให้ไทยต้องขาดดุลการค้ารัสเซียมาโดยตลอด และปริมาณการขาดดุลการค้าน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลการค้าไม่ได้ส่งผลในทางเชิงลบเท่านั้น เพราะการนำเข้าสินค้าของไทยจากรัสเซียเพื่อนำเข้าไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อส่งออกต่อไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศในอีกทางหนึ่ง
สินค้าของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกมารัสเซีย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าว อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ข้าว น้ำตาลทราย ปลาแห้ง สิ่งทอและเสื้อผ้า รองเท้าและชิ้นส่วน เป็นต้น
รัสเซียปรับยุทธศาสตร์ดูดต่างชาติลงทุน
ปัจจุบัน มีนักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนในรัสเซียน้อยมาก เพราะไม่มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยในด้านการลงทุนและกฎระเบียบด้านการลงทุนของรัสเซีย ไม่เพียงแต่นักธุรกิจของไทยเท่านั้น นักลงทุนต่างชาติจากประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในรัสเซีย โดยจะเห็นได้จากปริมาณการลงทุนของต่างชาติ (Foreign Direct Investment) ในรัสเซียค่อนข้างต่ำ (under investment)
สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนในรัสเซีย คือ ปัญหาการคอร์รัปชั่นที่สูงมาก และระบบทางราชการที่ซับซ้อนและยุ่งยาก นอกจากนี้ ปัญหาด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็เป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่กล้าเข้ามาลงทุน เรื่องนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลรัสเซียพยายามแก้ไขและสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ขณะนี้ รัฐบาลรัสเซียอยู่ในระหว่างการกำหนดแผนงานหลักที่จะเอื้ออำนวยการส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งไทยเข้ามาลงทุนมากขึ้น ส่วนแนวทางการแก้ไขดังกล่าวยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
โดย รัฐบาลรัสเซียจำกัดการลงทุนของต่างชาติไว้เพียงไม่กี่สาขา เช่น น้ำมัน ดังนั้น รัฐบาลรัสเซียได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อมเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านพลังงานอื่นๆ มากขึ้น อีกทั้ง รัฐบาลรัสเซียได้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ Ecomomic Zone เพื่อสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งภายใต้ Zone นี้ นักลงทุนจากต่างชาติจะได้รับสิทธิพิเศษในด้านภาษี เช่น ไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าวัตถุดิบ
อย่างไรก็ดี มีนักธุรกิจของไทยเข้ามาลงทุนเปิดบริษัทนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องสำอางจากประเทศไทย 1 ราย ซึ่งมีโกดังเก็บสินค้าของตนเอง และมีบริษัทตัวแทนในรัสเซีย นอกจากนั้นยังมีสินค้าอาหารอีก 1 ราย โดยบริษัททั้งสองไม่มีการลงทุนในด้านการผลิตสินค้า เป็นเพียงผู้นำเข้าเท่านั้น
นอกจากนี้ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ มหาชน จำกัด ได้เดินทางมารัสเซียเพื่อศึกษาถึงความเป็นได้ในการเปิดโรงงานผลิตเนื้อไก่ในประเทศรัสเซีย ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า
ธุรกิจร้านอาหารไทย-สปาเฟื่อง
ปัจจุบัน มีร้านอาหารที่ขายอาหารไทยประมาณ 4-5 ร้าน แต่ มีเพียง 1 ร้านเท่านั้น ที่ได้รับใบรับรองจากมาตรฐานจากกรมส่งเสริมการส่งออก เนื่องจากมีคุณสมบัติสอดคล้องกับที่กรมฯ ได้กำหนด สำหรับร้านอาหารอื่นๆ มีการทำอาหารไทยและอาหารของประเทศอื่นๆ หลายชนิด ขณะนี้ มีพ่อครัว-แม่ครัวจากไทยเข้ามาทำงานในกรุงมอสโกประมาณ 20-30 คน
นอกจากนี้ ร้านอาหารไทยแฟรนไชส์ "Blue Elephant" อยู่ในระหว่างการดำเนินการเปิดสาขาในกรุงมอสโก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดได้ก่อนสิ้นปีนี้
ทิศทางการเปิดร้านอาหารไทยในรัสเซียมีแนวโน้มที่สดใส ชาวรัสเซียนิยมบริโภคอาหารไทยมากขึ้น และมีความประสงค์ที่จะเปิดร้านอาหารไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับการเข้ามาทำงานของพ่อครัวและแม่ครัวไทยในรัสเซีย และเปิดโอกาสสำหรับการขยายการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องปรุงของไทยมากขึ้น
ส่วนธุรกิจสปาและนวดแผนไทยในกรุงมอสโก ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีนักธุรกิจรัสเซียได้ลงทุนเปิด ประมาณ 2 ร้าน โดยจ้างบุคลากรนวดแผนไทยซึ่งเป็นคนไทยเข้ามาทำงานในกรุงมอสโก ซึ่งธุรกิจนี้มีแนวโน้มไปในทางทิศทางดี
ขณะเดียวกันนักธุรกิจจากรัสเซียเดินทางไปประเทศไทยประมาณปีละ 100,000 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และชาวรัสเซียส่วนใหญ่ต้องการที่จะเดินทางไปเที่ยวเมืองไทยหลายครั้ง
อุปสรรคทางการค้า/ลงทุนในรัสเซีย
เงื่อนไขการชำระเงิน : เนื่องจากนักธุรกิจชาวรัสเซียไม่นิยมการเปิด L/C แต่นิยมชำระ
ค่าสินค้าเป็นเงินสด โดยจะอยู่ในรูปของจ่ายเงินก่อนล่วงหน้าประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้า และจ่ายส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ก่อนที่สินค้าจะออกจากท่าเรือของผู้ส่งออก (เงื่อนไขของการจ่ายส่วนที่เหลือจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่ข้อตกลงของผู้ส่งออกและผู้นำเข้า) วิธีการชำระเงินแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่นิยมของผู้ส่งออกไทย เนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ผู้ซื้ออาจไม่จ่ายส่วนที่เหลือก็ได้ (ในหลายครั้ง ผู้นำเข้ารัสเซียไม่ยอมจ่ายเงินส่วนที่เหลือหรือจ่ายช้ากว่ากำหนดเวลา) เรื่องนี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้อขายกันระหว่างนักธุรกิจไทยและรัสเซีย
ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ผ่อนคลายไปในระดับหนึ่ง เนื่องจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทย (EXIM Bank) และธนาคารการค้าต่างประเทศของรัสเซีย (Vneshtorg Bank) ได้มีการลงนามในความตกลงฯ ซึ่งภายใต้ความตกลงฯ นี้ EXIM Bank จะให้เครดิตไลน์แก่ ผู้นำเข้าของรัสเซียโดยผ่านทาง Vneshtorg Bank จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย Vneshtorg Bank จะให้เครดิตกับผู้นำเข้ารัสเซียที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย 180 วัน ขณะที่ผู้ส่งออกของไทยจะได้รับเงินจาก EXIM Bank ทันที
ภาษาการสื่อสาร : นักธุรกิจรัสเซีย นักธุรกิจรัสเซียในระดับกลางและระดับเล็กส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษอังกฤษได้ จึงเป็นปัญหาในการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดจาก การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในรัสเซียของผู้ส่งออกไทยในหลายๆ งาน ที่สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการส่งออก ในหลายครั้ง นักธุรกิจรัสเซียมีความสนใจในการซื้อสินค้า และมีการเจรจาซื้อขายสินค้าในงานแสดงสินค้าระหว่างกัน โดยมีล่ามที่จัดให้โดยสำนักงานส่งเสริมการค้า ณ กรุงมอสโก จึงไม่มีปัญหาในขณะนั้น แต่ภายหลังจากที่เสร็จงานฯ แล้ว และจะมีการติดตามความคืบหน้าในการซื้อขาย ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ส่งออกไทยติดต่อกับผู้นำเข้าของรัสเซีย โดยใช้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากนักธุรกิจของรัสเซีย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่รู้ภาษาอังกฤษของชาวรัสเซีย
กฎระเบียบการนำเข้าของรัสเซียที่ซับซ้อนและยุ่งยาก : ในการนำเข้าสินค้าเข้ารัสเซีย มีกฎระเบียบควบคุมการนำเข้าที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับการนำเข้าสินค้าของไทย สินค้าที่นำเข้าต้องมีใบรับรองควบคุมคุณภาพสินค้า (สินคาอุตสาหกรรม) และ ใบรับรองด้านสุขอนามัย (สินค้าเกษตรกรรม) และมีบางสินค้าต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียและต้องใช้เวลานาน เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ที่ทำด้วยวัตถุมีค่า) และต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย ในบางสินค้า ผู้นำเข้าต้องมีใบอนุญาต (license) จึงจะสามารถนำเข้าได้
แผนกระตุ้นส่งออกไทยขยายตัวร้อยละ 30
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก ได้ดำเนินการแผนงานต่างๆ ในการสนับสนุนขยายการส่งออกสินค้าของไทยมาตลาดรัสเซีย ในปี 2548 นี้ สำนักงานฯ คาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยมารัสเซียจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30
กิจกรรมต่างๆ ที่สำนักงานฯ ได้ดำเนินการ คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าไทยและผลไม้ไทย ร่วมกับห้างสรรพสินค้า/ร้านค้า/ซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของรัสเซีย ในการจัดสัปดาห์อาหารไทยและผลไม้ไทย เพื่อสร้างความรู้จักในอาหารไทยและผลไม้ไทยแก่ผู้บริโภคชาวรัสเซีย และการส่งเสริมการขายสินค้า OTOP ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างความรู้ให้แก่ผูบริโภคชาวรัสเซียทราบถึงสินค้าไทยและคุณภาพของสินค้าไทย รวมทั้งผลไม้ ซึ่งปัจจุบัน คนรัสเซียยังไม่รู้จักมากนัก
ด้านการลงทุน สำนักงานฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมโยงการติดต่อระหว่างนักธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนในรัสเซียกับนักธุรกิจรัสเซีย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|