|

ปรีดี พนมยงค์ : รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ (1)
โดย
อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในยุคสมัยที่เราต่างเรียกหาผู้นำทางการเมืองที่เราสามารถยึดถือศรัทธาได้ ทรงคุณธรรมและมีความรู้ความสามารถสูง เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริตและมีอุดมการณ์อันสูงส่ง
จึงขอนำเอาเรื่องราวของ ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ มาเล่าขานอีกครั้งหนึ่ง ครับ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 ของเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ ได้มีมติประกาศให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเป็นบุคคลสำคัญของโลกอย่างเป็นทางการ และมีการจัดพิมพ์การเฉลิมฉลองบุคคลและเหตุการณ์สำคัญเป็นรูปเล่ม เพื่อแจกจ่ายประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก
ลูกชาวนาแห่งกรุงศรีอยุธยา "ปรีดี พนมยงค์" เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 บนแพทางด้านใต้คูเมืองอยุธยา ราชธานีเก่าแห่งสยาม ท่านเป็นบุตรชายคนโตของนายเสียงกับนางลูกจันทร์ เป็นบุตรคนที่สองในบรรดาบุตรทั้งหมด 6 คนได้แก่ นางธราทรพิทักษ์ (เก็บ) นายปรีดี นายหลุย นางนิติทัณฑ์ประภาศ (ชื่น) นางเนื่อง ลิมปินันท์ นายถนอม
บรรพบุรุษข้างย่าของบิดาท่านปรีดี (นายเสียง) นั้นมีหลักฐานสืบไปถึงนายกองคนหนึ่งแห่งกองทัพสยามที่ทำการต่อสู้ในสงครามกับพม่าจนตัวตายกลางสนามรบในคราวเสียกรุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2310 นายกองผู้นี้สืบเชื้อสายมาจาก พระนม ประยงค์ พระนมแห่งพระมหากษัตริย์ องค์หนึ่งในสมัยอยุธยา
จากการเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ระบุว่า พระนมชื่อประยงค์นี้เป็นผู้สร้างวัดเล็กๆห่างจากมุมกำแพงพระราชวังโบราณทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร พระนมประยงค์นี้ ชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า พระนมยงค์ วัดจึงได้ชื่อตามนามผู้สร้างและต่อมาก็เป็นชื่อสกุลของบรรพบุรุษท่านรัฐบุรุษปรีดี
ส่วนบรรพบุรุษข้างปู่ของนายเสียงนั้นมีเชื้อสายจีนซึ่งสัมพันธ์ญาติกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน อาสาสมัครร่วมรบในกองทหารของเจ้าตาก และทำการต่อสู้รักษากรุงจนตัวตายในสนามรบ
จิตสำนึกของความรักชาติของบรรพบุรุษก็ได้ถ่ายทอดมายัง ลูกหลานอย่างนายปรีดีอย่างเต็มเปี่ยม
ท่านปรีดีเริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้าน หลวงปราณี (เปี่ยม) อำเภอท่าเรือ อ่านออกเขียนได้แล้วจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวก โรงเรียนวัดศาลาปูน โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า ไปศึกษาต่อโรงเรียนสวนกุหลาบได้ 6 เดือนและได้ลาออกไปช่วยบิดาทำนาระยะหนึ่ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ด้วยการที่เรียนหนังสือเก่งสอบเป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ต่อมาได้สอบชิงทุนของรัฐบาลไปเรียนจนจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายและสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยปารีส
สิ่งที่ ท่านปรีดี ได้จากฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ความรู้ทางกฎหมายอย่างเดียว มีทั้งความรู้ทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักปรัชญาทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่อย่างวอลแตร์ มองเตสกิเออ และรุสโซ
ความคิดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นกับท่านปรีดีมาก่อนที่จะไปเรียนฝรั่งเศสทั้งจากเหตุการณ์ในประเทศอย่าง เหตุการณ์ ร.ศ. 130 แรงบันดาลใจจากข้อเขียนของ เทียนวรรณ และ กศร กุหลาบ และเหตุการณ์การปฏิวัติในจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูโดย ดร. ซุน ยัด เซ็น
พอมาเรียนฝรั่งเศส ท่านปรีดี จึงไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนนักเรียนทั่วไป ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2466-2467 ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นในยุโรปจัดตั้งสมาคม สามัคยานุเคราะห์ หรือ มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า S.I.A.M
การประชุมคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ค.ศ. 1927 (ตรงกับปฏิทินไทยขณะนั้น คือ ปี พ.ศ. 2469 ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2470) ประชุมทางการครั้งแรกที่หอพัก Rue Du Sommerard ซึ่งกลุ่มนักเรียนผู้ก่อการได้เช่าห้องใหญ่ไว้สำหรับการประชุมโดยเฉพาะ มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ ข้าราชการและนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรม ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ รัชกาลที่ 6
ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าฝรั่งเศส นายตั้ว พลานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส
ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ท่านปรีดีเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป การประชุมเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ได้ดำเนินการเป็นเวลา 5 วัน
มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และให้มีการดำเนินการให้ สยาม บรรลุเป้าหมาย 6 ประการ
อันเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ หนึ่ง รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
สอง รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก
สาม บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
สี่ ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ห้า ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน หก ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ท่านปรีดีได้ทำการบันทึกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า " โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังฤกษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้นเราจึงเห็นว่า วิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup D'etat หรือการยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait Accompli คือ พฤติกรรมที่สำเร็จรูปแล้ว" (ต่อฉบับหน้า)
โปรย สิ่งที่ ท่านปรีดี ได้จากฝรั่งเศสจึงไม่ใช่ความรู้ทางกฎหมายอย่างเดียว มีทั้งความรู้ทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|