|

เสียงคร่ำครวญจากนักลงทุน"ขาใหญ่" "สหกรณ์ออมทรัพย์-มูลนิธิ"ถูกขังลืม
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นักลงทุน"กระเป๋าหนัก"สหกรณ์ออมทรัพย์ และมูลนิธิ กลายเป็น "กลุ่มก๊วนทุกข์ของคนมีเงิน" ทันทีที่เม็ดเงินไหลทะลักเข้ามากองจนสูงมิดหัว ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนไหลรูด ไม่ครอบคลุมต้นทุนค่าใช้จ่าย ตำหนิช่องทางลงทุนตีบแคบเหมือนถูก "ขังลืม"เพราะถูกกักบริเวณเฉพาะฝากแบงก์กับลงทุนพันธบัตรรัฐบาล กระทั่งวิ่งไม่ทันกระแสทุนไร้รอยตะเข็บ ที่ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนจนไล่จับแทบไม่ทัน...
ทั้งๆที่ธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่ง ไม่ว่า แบงก์เล็กหรือใหญ่ กำลังทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นทีละนิด แต่การปรับแต่ละครั้งก็ไม่ทำให้ผลตอบแทนจากการฝากเงินของนักลงทุนรายใหญ่มีหน้าตาออกมาดีสักเท่าไร
รูปแบบการลงทุนที่เลือก "กักบริเวณ" โดยอาศัยกฎหมายการลงทุนที่เข้มงวดจึงทำให้ ทั้งมูลนิธิและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินกองท่วมอยู่มากมาย ไม่มีทางออกอื่น นอกจาก นำเงินไปฝากกับแบงก์และซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ผลตอบแทนลดลงเรื่อยๆ
ช่องทางลงทุนที่จำกัดอาณาบริเวณมานานพอๆกับอายุของสหกรณ์และมูลนิธิ จึงทำให้เม็ดเงินที่พอกพูนขึ้นไม่มีที่ไปหรือไม่มีทางออก แถมนอนแน่นิ่งอยู่นานจนเหมือน "ถูกขังลืม"
"นี่เขาเรียกว่า ความทุกข์ใจของคนมีเงิน" สวัสดิ์ แสงบางปลา ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ช่องทางลงทุนที่ไม่ปรับตัวตามกระแสโลกคือ ความทุกข์ใจของนักลงทุนรายใหญ่ ที่มีวัฒนธรรมการลงทุนค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม ทั้งมูลนิธิ และสหกรณ์ออมทรัพย์
หากจะวัดกันที่ตัวเงิน ทั้งมูลนิธิและสหกรณ์ออมทรัพย์ถือเป็นนักลงทุนสถาบันที่ค่อนข้างเนื้อหอมเตะจมูกผู้จัดการกองทุนแทบทุกแห่ง มูลนิธิในกรุงเทพฯกว่า 65 พันแห่ง มีเม็ดเงินสูงราว 2 แสนล้านบาท
ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีอยู่กว่า 1 พันแห่ง มีทรัพย์สินรวมกันประมาณ 5 แสนล้านบาท โดย 76% ให้สมาชิกกู้ ส่วนเงินที่เหลือส่วนใหญ่มักจะไปกองอยู่ในห้องเซฟของธนาคารพาณิชย์
โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์เงินหนาติดอันดับหนึ่งในห้า พบว่าแต่ละแห่งมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงระดับหมื่นล้านบาท รวมกันก็ปาเข้าไปถึง 8 หมื่นล้านบาท
แต่เม็ดเงินที่ไหลทะลักเข้ามากองอยู่ใน มูลนิธิและสหกรณ์ออมทรัพย์ ก็ไม่สามารถนำไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ได้ตามอำเภอใจได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้เข้มงวด ต่างจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ค่อนข้างยืดหยุ่นกว่ามาก
ช่องทางการลงทุนอาจมองเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ที่ละเลยไม่ได้ก็คือ ความรู้ความเข้าใจของบรรดาสมาชิกและกรรมการที่ยังขาดความเป็นมืออาชีพด้านการลงทุนจึงยังมีหลายกองทุนที่เลือกจะฝากเงินและซื้อพันธบัตรรัฐบาลเก็บตุนไว้อย่างเหนียวแน่น
ขณะที่บางแห่งเริ่มว่าจ้างผู้จัดการกองทุนบริหารทรัพย์สินให้ แต่ส่วนใหญ่ยังเทน้ำหนักไปที่ตราสารหนี้มากถึง 80% ตราสารทุนไม่เกิน 20% หรืออาจขยายแต่ก็ไม่เกิน 30-40%
ปัญหาที่ชวนปวดหัวของสหกรณ์ออมทรัพย์จึงไม่ต่างจากมูลนิธิมากนัก เพียงแต่มูลนิธิจะตกอยู่ในอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากกว่า
เพราะในขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์จะนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น ต้องได้รับความเห็บชอบจาก คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ(คพช.) ที่มีนายทะเบียนคือ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งถูกล้อเลียนว่าไม่มีตัวตนไม่รู้ไปอยู่ไหน
แต่ฝั่งมูลนิธิกลับแย่ยิ่งกว่าคือ ไม่รู้ว่าจะยื่นเรื่องการขยายช่องทางลงทุนให้กับใคร เพื่อให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร
โสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย บอกว่า รายได้ของมูลนิธิมีเข้ามา 3 ทางคือ จากการบริจาค จัดกิจกรรมและดอกผลจากการฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีเข้ามามากกว่าช่องทางอื่นๆ
" ถ้าดอกเบี้ยสูงๆก็คงพอเลี้ยงตัวเองได้ แต่พอดอกเบี้ยดิ่งลงเราก็ต้องมาหารือกัน เพราะดอกผลไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำ"
มูลนิธิดังกล่าว มีเม็ดเงินสูงระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการดีไซน์รูปแบบการลงทุนเอาไว้หมดแล้ว แต่ก็ต้องฝันค้างเพราะเจอกฎเกณฑ์ที่ล็อคเอาไว้แน่นหนา
ที่สำคัญคือ ไม่โชคดีตรงที่พอจะยื่นเรื่องเข้าไปที่หน่วยงานต้นสังกัดคือ กรมการปกครอง ก็ไม่รู้จะประสานงานกับใครเพราะไม่มีตัวตน มีบางมูลนิธิเคยยื่นเรื่องเข้าไปแต่ก็เงียบหาย
" เคยมีคนแนะนำให้ยื่นศาลปกครองเพื่อตีความข้อความกฎหมาย เพราะเรื่องที่ส่งเข้าไปมักจะส่งกลับมาแบบที่เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นนายทะเบียน แถมยังเฉยทุกครั้ง ทำแบบไม่สนใจ เคยให้ฝ่ายกฎหมายทำเรื่อง ก็นัดไม่ได้ และไม่มีหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรเลยสักครั้ง"
นอกจากนั้น หน่วยงานต้นสังกัด มักจะบอกเหตุผลด้วยถ้อยคำเดิมๆว่า มูลนิธิสามารถนำทรัพย์สินมาจัดสรรเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ แต่จะลงทุนในหุ้นกู้ กองทุนวายุภักษ์ หรือหน่วยลงทุนเหมือนกับสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่ได้
โสภาวดีบอกว่า การลงทุนในรูปกองทุนส่วนบุคคลยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะติดการตีความในข้อบังคับของกฎหมายที่ยังไม่ยอมให้แก้ไข
" เขามองว่า การลงทุนนอกเหนือจากเงินฝากและพันธบัตรรัฐบาลขัดกับวัตถุประสงค์มูลนิธิ ซึ่งต่างจากบริษัทหรือห้างร้าน"
ที่ผ่านมามีการขอเข้าพบเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การลงทุนที่ไม่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะโครงสร้างการลงทุนที่ควรจะกำหนดให้รอบคอบ
ปกติ คนที่ทุกข์ใจมักจะเป็นคนมีเงินน้อยหรือไม่มีเลย แต่คราวนี้กลับเปลี่ยนไป เพราะถึงแม้จะมีเงินมาก และไม่มีหนทางจะหาดอกผลให้พอกพูน ก็มีความทุกข์เหมือนกัน แถมยังมากกว่าอีกด้วย....
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|