จับชีพจร-วัดความดัน"นักรูด" บัตรKTCเติมน้ำมันปีละ8พันล้าน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะการกำหนดเพดานคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าธุรกิจ "บัตรเครดิต"ของทางการ อาจเริ่มเห็นผลกระทบโดยตรงกับปริมาณบัตร แต่ที่ทางการควบคุมให้อยู่ในกรอบแทบไม่ได้เลยก็คือ การพยายามดิ้นรนหาทางออกของผู้ประกอบการ ที่สะท้อนออกมาในรูปแคมเปญส่งเสริมการขาย ซึ่งมากระจุกตัวในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ว่ากันว่าการขีดกรอบให้เดินยังใช้ไม่ได้สำหรับ "นักรูด" ขณะที่โปรแกรมล่อใจให้จับจ่ายใช้สอยก็ยังมีอยู่ชุกชุม....

ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการด้านเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ ที่ถูกจำกัดพื้นที่ขยายฐานลูกค้าโดยหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำลังหาทางออกให้กับหนทางที่ตีบตันของธุรกิจบัตรเครดิต ถ้าสังเกตุเห็นโปรแกรมส่งเสริมการขายที่มีอยู่ชุกชุมตลอดช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้

รูปแบบแคมเปญทั้งของแบงก์ไทย-เทศ รวมถึงนอนแบงก์ ที่ยิงผ่านสายตาสื่อแทบทุกประเภทจึงมีหน้าตาหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่หนีการลด แลก แจก แถม หากลูกค้ารูด รูด รูดและรูดการ์ดให้มากที่สุด...

ธวัชชัย ธิติศักดิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บมจ.บัตรกรุงไทย เอ่ยถึงการเทงบกว่า 150 ล้านสำหรับแคมเปญเขย่าตลาดบัตรเครดิตช่วง 3 เดือน(พ.ย.2548-ม.ค.2549) โดยเลือกกิจกรรมแจกทองลูกค้าที่รูดเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จะได้ลุ้นรับทองคำแท่งหนัก 1,500 บาท มูลค่า 15 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือน

รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ร่วมกับพันธมิตรมากหน้าหลายตา อาทิ สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ โรงพยาบาล ท่องเที่ยว โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น นาฬิกาและเครื่องประดับ

กิจกรรมที่อัดงบช่วงโค้งสุดท้าย ที่ถือเป็น "ฤดูไฮซีซั่น" ของการจับจ่ายใช้สอยของธุรกิจบัตรเครดิตหลากหลายค่ายจึงหวังจะกระตุ้นกำลังซื้อทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ โดยพุ่งตรงไปที่บัตรใบที่สอง หรือ "second card"

ธวัชชัย บอกว่า เคทีซี จะโฟกัสไปที่ กลุ่ม "second card"

" กิจกรรมนี้เชื่อว่าจะทำให้เพิ่มปริมาณบัตรใหม่อีก 2 แสนบัตร เราเลือกแคมเปญแจกลุ้นรางวัลทองคำ เพราะทองคำราคาสูง และคนส่วนใหญ่ชอบซื้อทองในช่วงใกล้ปีใหม่"

แผนส่งเสริมการขายที่ซาลงไปมากของเคทีซีหากเทียบกับแบงก์ไทยและเทศ รวมถึงคู่แข่งรายอื่น ก็ยังไม่ทำให้ถูกโค่น "บัลลังก์" แชมป์ได้ง่ายนัก โดยเคทีซียังมีฐานลูกค้าที่ถือบัตรมากเป็นอันดับหนึ่ง ที่ 1.2 ล้านบัตร

อย่างไรก็ตาม การปล่อยหมัดชุดครั้งนี้ก็ทำให้เชื่อว่า จะทำให้ผู้คนควักเงินจากกระเป๋าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน จากที่มีอยู่เฉลี่ย 5.7 พันบาทต่อคนต่อเดือน โดยเป็นลูกค้าแอคทีพ 7 พันบาทต่อคนต่อเดือน

ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้า เคทีซีปัจจุบันสูงถึง 4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 4.8 พันล้านบาทต่อเดือน โดยมีหมวดที่ใช้จ่ายสูงสุดคือ การรูดบัตรเติมน้ำมันที่สูงระดับ 8 พันล้านบาทต่อปี รองลงมาคือ ดีสเคาน์สโตร์ 4 พันล้านบาทต่อปี โรงพยาบาล 2 พันล้านบาทต่อปี และดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ 2 พันล้านบาท

ธวัชชัย มองว่า เมื่อ 5-10 ปีก่อน เงินพลาสติกอาจพกเพื่อความโก้ หรือเท่ แต่ปัจจุบันบัตรเครดิตกลายเป็นเรื่องของวัตถุประสงค์และความจำเป็น ดังนั้นการวางแผนส่งเสริมการขายก็ต้องมองถึงหมวดหลักที่จะกระตุ้นให้ผู้คนเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้วย

" พันธมิตรเราจึงเน้นหนักที่หมวดหลักพวก น้ำมัน อาหาร เช่น โออิชิ บาบีคิวพลาซ่า หรือซีสเลอร์"

นอกจากนั้น แทบทุกบริษัทก็หมายตาจะโหมแคมเปญเร่งลูกค้ารูดบัตรช่วงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นฤดูกาลของการใช้จ่าย ขณะที่เคทีซี ก็มีตารางเวลาจัดกิจกรรมครั้งนี้ในแต่ละสัปดาห์ เพราะนอกจากเร่งการใช้จ่าย ยังมีตัวแปรที่คือ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ที่ผลักให้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงเป็นเงาตามตัว ทำให้ทุกบริษัทต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

ผลประกอบการปีนี้บอกว่า ผลกำไรของเคทีซีไม่ลดลงมาก แต่มาร์จิ้นก็ลดลงจาก 3% กว่ามาเป็น 3% ต้นๆ แต่อย่างน้อยเคทีซีก็มีหมัดเด็ดคือ จะไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี เหมือนกับค่ายอื่นๆ แต่ที่ไม่ต่างกันคือ เตรียมจะปรับเพิ่มการเก็บดอกเบี้ยลูกค้าขึ้นอีกในปี 2549 จาก 17.75% เป็น 18% เต็มเพดานที่รัฐกำหนด

จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ สำหรับนักช้อป และราชาเงินผ่อนทั้งหลาย เพราะหันไปทางไหนก็จะเห็นเหมือนกันหมดคือ "มืดแปดด้าน" ซ้ายก็ปรับดอกเบี้ย ขวาก็ปรับดอกเบี้ย ภาระที่แบกบนบ่าหนักอยู่แล้ว ก็จะยิ่งหนักยิ่งขึ้นอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.