ช่อง 3 เล็งตั้งทีวีเพิ่มโฟกัส 4 ช่องหลัก เผยไตรมาสสามรายได้-กำไรร่วง


ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บีอีซี เวิลด์ เล็งตั้งสถานีโทรทัศน์เพิ่ม โฟกัส 4 ช่องหลัก กีฬา ข่าว บันเทิง เด็ก สร้างช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้นหนีข้อจำกัดที่มีแต่ปรับค่าโฆษณา ชี้มีความพร้อมอยู่แล้ว ได้เปรียบคนนอกวงการทีวี เตรียมพร้อมรองรับ ปรับสัดส่วนการผลิตรายการเหลือผู้จัดนอกเครือ 20% หวังควบคุมให้ได้เบ็ดเสร็จ เผยไตรมาสสามรายได้ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12% กำไรร่วง 23 ล้านบาท

นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสถานีโทรทัศน์อีกจากเดิมที่มีช่อง 3 ช่องเดียว หลังจากที่ กสช. ได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นเรียบร้อย โดยสนใจทำสถานีโทรทัศน์ประเภทเด็ก กีฬา ข่าว บันเทิง ซึ่งต้นทุนของรายการเด็กกับกีฬาจะสูงมาก แต่ทั้งนี้คงต้องศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากผู้ที่ทำธุรกิจทีวีเดิมอยู่แล้วจะขยายเพิ่มอีกย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าผู้ที่จะเข้ามาใหม่

นายฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน กล่าวเสริมว่า โดยหลักการแล้วบริษัทฯ มีศักยภาพที่จะทำได้หลายช่อง แต่ทั้งนี้ตัวชี้วัดคือตลาดจะรับได้มากน้อยเท่าใดเท่านั้นเอง อีกทั้งบริษัทฯ ก็มีความพร้อมและศักยภาพอยู่แล้ว เพราะอยู่ในุธุรกิจนี้มานาน อีกทั้งมีบุคลากรรองรับมาก และที่ผ่านมาก็มีการเตรียมตัวรองรับในระดับหนึ่งแล้ว

"ถ้าหากว่าเรามีช่องใหม่มันก็ย่อมมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้นทั้งจากฐานของกลุ่มคนดู และเม็ดเงินจากการโฆษณามากกว่าการที่มีเพียงช่องเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเราจะโตด้วยการปรับราคาค่าโฆษณาเท่านั้นหรือ ขณะที่เราต้องลงทุนมากขึ้น เช่นในปีหนึ่งๆ เราลงทุนกว่า 1,600 ล้านบาท และต้องเพิ่มขึ้นตลอดเวลาทุกปี" ธุรกิจโทรทัศน์เช่นเดียวกับธุรกิจทุกอย่างจะเติบโตได้ต้องมีการแข่งขันกันมากขึ้น ดังนั้นถ้าในอนาคตยิ่งมีโทรทัศน์หลายช่องก็ยิ่งดี เพราะอย่างน้อยที่สุด สินค้าที่เป็นรายเล็กๆ ก็มีโอกาสมีช่องทางที่จะโฆษณาในช่วงเวลาอื่นๆ บ้าง เพราะที่ผ่านมาสินค้ารายใหญ่มีเงินมากและมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารโทรทัศน์ก็มักได้เวลาดีๆ ไปหมด

นายฉัตรชัยกล่าวว่า การเตรียมพร้อมนั้น ส่วนหนึ่งคือ การปรับตัวทางด้านการผลิตรายการ ซึ่งบริษัทฯ ได้ปรับสัดส่วนมาตลอดจนปัจจุบันมีสัดส่วนรายการที่บริษัทฯ ผลิตเองหรือบริษัทฯที่ผลิตให้กับช่อง 3 มานานเพียงช่องเดียวอยู่ในสัดส่วน 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นผู้จัดภายนอก ซึ่งต่างจากช่องโมเดิร์นไนน์กับช่องไอทีวีที่มีผู้จัดผู้ผลิตรายการนอกจำนวนมาก ทั้งนี้บริษัทฯ มีเหตุผลเพื่อให้สามารถควบคุมคอนเทนต์หรือเนื้อหารายการต่างๆ ได้ซึ่งจะพบว่า รายการที่ผลิตเองจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่าเช้านี้ ผู้หญิงถึงผู้หญิง เป็นต้น นอกนั้นก็เป็นการซื้อลิขสิทธิ์รายการมาออกอากาศที่ช่อง 3 แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ล่าสุดคือหนังเกาหลีเรื่อง แดจังกึม

สำหรับผลประกอบการของกลุ่มบริษัทฯ บีอีซี เวิลด์ ในไตรมาสที่สามปี 2548 มีรายได้จากการขายโฆษณา 1,183 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสที่สองปีนี้ที่ทำได้ 1,270 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ทำได้ 1,344 ล้านบาท หรือลดลง 12% ส่วนกำไรมีประมาณ 206 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีกำไร 384 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผลตามฤดูกาล และอัตราการใช้นาทีโฆษณาลดต่ำลงในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ค่อนข้างมากจากการถดถอยของเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผลต่างนั้นปรับแคบลงมาเรื่อยแล้ว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีกำไรโดยรวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ลดลง 50% จากปีก่อนหน้า ส่วนรายได้คาดว่าจะลดลง 15-16%

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า ภาวะ 2 เดือนหลังนี้ คาดว่าน่าจะดีขึ้นเพราะเป็นช่วงการใช้จ่ายเงินในตลาด แต่โอกาสที่จะทำได้เหมือนกับปีก่อนคงยากแล้ว แต่เชื่อว่าปีหน้าน่าจะดีขึ้นแล้ว เพราะว่าเรามาถูกทางทั้งละคร รายการข่าว และอื่นๆ ที่เราปรับตัวมาตลอด

สำหรับส่วนแบ่งจำนวนผู้ชมนั้น จากตัวเลขล่าสุดของเอซีนีลเส็นระบุว่า จากช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วกับปีนี้พบว่า ช่อง 3 มีส่วนแบ่ง เพิ่มจาก 22% เป็น 24%, ช่อง 5 เพิ่มจาก 7.6% เป็น 8%, ช่อง 7 ลดลงจาก 45.5% เป็น 43%, ช่องโมเดิร์นไนน์ เพิ่มจาก 9.8% เป็น 11%, ช่อง 11 เพิ่มจาก 2.6% เป็น 3%, ช่องไอทีวี ลดลงจาก 12.5% เป็น 11%

ขณะที่ส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาของแต่ละช่องนั้น ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ถึงเดือนกันยายนพบว่า ช่อง 3 มีประมาณ 7,646 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 20.6%, ช่อง 5 มีประมาณ 6,067 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 16.3%, ช่อง 7 มีประมาณ 10,537 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 28.4%, ช่องโมเดิร์นไนน์ มีประมาณ 5,115 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 13.8%, ช่อง 11 มีประมาณ 878 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 2.4%, และช่อง 11 มีประมาณ 6,909 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.6%

ทั้งนี้ มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้พบว่า มีทั้งสิ้น 65,576 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของสื่อโทรทัศน์มากที่สุด มีประมาณ 37,160 ล้านบาท หรือประมาณ 56.67% เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มี 35,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.78% ของตลาด เพิ่มขึ้นมาประมาณ 5%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.