|
TOP ฟุ้งผลประกอบการ Q4 เจ๋ง
ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยออยล์มั่นใจผลประกอบการไตรมาส 4/2548 เจ๋ง ใกล้เคียงไตรมาส 3 ที่ฟันกำไรทะลุ 6 พันล้านบาท เหตุค่าการกลั่นยังสูงและรับรู้กำไรจากบริษัทลูก คาดแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบ ปีหน้าทรงตัวระดับ 55 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ธุรกิจการกลั่นน้ำมันขาดแคลนอยู่ทำให้ค่าการกลั่นสูง พร้อมทั้งเร่งโครงการฮอตออยล์ที่ร่วมกับไทยลู้บเบส ทำให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นอีก 5 พันบาร์เรล/วัน โดยจะให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 49 เร็วกว่ากำหนดเดิมครึ่งปี
ดร.ปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการอำนวยการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลประกอบการไตรมาส 4/2548 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2548 ที่มีรายได้ 70,723 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,253 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้อ่อนตัวลง จึงขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน แต่เชื่อว่าปลายปีนี้ราคาน้ำมันจะดีดตัวสูงขึ้นทำให้มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันมาชดเชย รวมทั้ง บริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าในอนาคตกำไรจากบริษัทลูกจะอยู่ที่ 30-40% ของกำไรทั้งหมด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยออยล์มีกำไรในไตรมาส 3/2548 เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 83% เนื่องจากรับรู้กำไรจากบริษัทย่อยถึง 1,750 ล้านบาทสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรเพียง 8 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 800 ล้านบาท และค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
โดยไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ IPT ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าเอกชนอิสระ (ไอพีพี) เดินเครื่อง ผลิตไฟเต็มที่ 700 เมกะวัตต์เป็นครั้งแรกนับ ตั้งแต่ก่อตั้งมา ทำกำไรทันที 500 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท
"ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้อ่อนตัวลงมาเหลือเพียง 52-53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ตุลาคมมีการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน แต่อาจจะมีกำไรจากการสต๊อกน้ำมันก็ได้ในช่วงปลายปี ถ้าราคาน้ำมันดีดตัวลงขึ้น ซึ่งไตรมาส 3 ปีนี้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา เพราะราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นสูงมาก อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปค่าการกลั่นในช่วงครึ่งปีแรกจะต่ำกว่าครึ่งปีหลัง"
ดร.ปิติ กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบในปีหน้าคาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50-55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันเชื่อว่าเป็นระดับราคาที่ผู้ใช้น้ำมันยอมรับได้ หากราคาน้ำมันดิบสูงกว่านี้มากจะทำให้ประชาชนประหยัดการใช้ รวมไปถึงการหาพลังงานทดแทน ขณะที่ธุรกิจการกลั่นน้ำมันยังคงขาดแคลน ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงอยู่ ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของไทยนั้นจะโตประมาณ 5% ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ไทยออยล์มีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการกลั่นหน่วยกลั่นที่ 3 อีก 50,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2550 โครงการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีน ของบริษัท ไทยพาราไซลีน จาก3.48 แสนตัน/ปีเพิ่มเป็น 8.53 แสนตัน/ปี เสร็จปี 2550 และการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 38 เมกะวัตต์แล้วเสร็จในปีเดียวกัน รวมทั้งยังมีโครงการอีกหลาย โครงการของบริษัท ไทยลู้บเบส ซึ่งเป็นบริษัทลูก อาทิ โครงการฮอต ออยล์ โดยนำน้ำมันร้อนที่ได้จากกระบวนการผลิตของไทยลู้บเบสเข้าสู่กระบวนการกลั่นของไทยออยล์ ทำให้ไทยออยล์ มีการกลั่นเพิ่มมากขึ้นอีก 5,000 บาร์เรล โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในกลางปี 2549 เร็ว กว่ากำหนดการเดิมที่ตั้งไว้ปลายปี 2549 ส่งผลให้ไทยออยล์มีรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า
"โครงการฮอตออยล์เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนเพียง 100 กว่าล้านบาท แต่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี โดยจะมีรีเทิร์นภายใน 4 เดือน ทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นอีก 5,000 บาร์เรล ซึ่งขณะนี้ได้เร่งให้ดำเนินการแล้วเสร็จในกลางปีหน้าเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ตั้งไว้ปลายปี 2549"
สำหรับโครงการผลิตเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปีหน้า ขนาดกำลังการผลิตเอทานอล 1-2 ล้านลิตร/วัน ใช้เงินลงทุน 150-250 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2ปี ซึ่งเอทานอลที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากผู้ใช้รถหันมานิยมใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น
เดิมโครงการดังกล่าวจะผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากเห็นว่าไทยส่งออกมันเส้นไปจีนจำนวนมาก โดยจีนนำไปผลิตเป็นเอทานอล จึงเห็นว่าไทยน่าจะเป็นผู้ผลิตเอทานอลแล้วส่งออกจะดีกว่า แต่เนื่องจากกำลังการผลิตเอทานอลในไทยยังไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจที่จะยื่นขออนุญาตเป็น ผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศแทนผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้ใบอนุญาต แต่ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานเอทานอลแต่อย่างใด สำหรับแหล่งเงินลงทุนนั้นจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
บีบลดค่าการกลั่น : ได้ไม่คุ้มเสีย
ดร.ปิติ กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้โรงกลั่นลดค่าการกลั่นลงเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันตัวลงว่า โดยทั่วไปราคาน้ำมันดีเซลในช่วงปลายปีจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการจะปรับลดค่าการกลั่นลงมานั้นตนเห็นว่าจะเป็นการทำลายโครงสร้างธุรกิจ เพราะค่าการกลั่น 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นราคาน้ำมัน 25 สต./ลิตร หากไทยออยล์มีค่าการกลั่นอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เท่ากับไทยออยล์ได้ค่าการตลาดเพียง 2 บาท/ลิตร ซึ่งถือว่าต่ำมากเพราะต้องลงทุนสูงมาก เมื่อเทียบกับสถานีปั๊มน้ำมันที่ลงทุนน้อยกว่า แต่ได้ค่าการตลาด 1-1.50 บาท/ลิตร
ดังนั้น หากรัฐจะให้โรงกลั่นลดค่าการตลาดลงเหลือเพียง 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เท่ากับว่าช่วยลดราคาน้ำมันลงแค่ 1 บาท/ลิตร แต่จะเป็นการทำลายโครงสร้างธุรกิจ ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนสร้างโรงกลั่นใหม่ ทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นไป ตามกลไกตลาดดีกว่า
นอกจากนี้ เมื่อไทยออยล์มีผลการดำเนินงานที่ดี ภาครัฐก็จะได้ประโยชน์ทางด้านภาษี โดยปีนี้คาดว่าไทยออยล์จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึง 4 พันล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วที่จ่ายภาษีไป 1-2 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันตลาดขายปลีกน้ำมันมีการแข่งขันรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นตัวกำหนดให้โรงกลั่นไม่สามารถทำกำไรได้เต็มที่อยู่แล้ว เพราะโรงกลั่นต้องขายน้ำมันในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าโรงกลั่นให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว และช่วงใดค่าการกลั่นสูงเกินไป ลูกค้าก็จะหยุดการสั่งซื้อน้ำมันไปจนกว่าจะต่ำลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|