"ลาภวิสุทธิสิน"ปิดตำนานปิคนิค ดีลแรกซื้อซากสร้าง-โกย-ขายทิ้ง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิดตำนานปิคนิคฯ "ลาภวิสุทธิสิน"สร้างปรากฏการณ์ซื้อซาก แต่งหน้าทาปาก เมื่อหุ้นเปิดซื้อขาย เททิ้ง จาก 77% ธีรัชชานนท์-สุภาพร 2 พี่น้องแต่ละรายถือต่ำกว่า 5% วานิชเผยมีบางกลุ่มทุนทำก่อนปิคนิคแต่ถือยาว โดนแรงบีบต้องถ่ายหุ้นต่อให้จึงรุ่งเรืองกิจ

การทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลลาภวิสุทธิสิน โดยธีรัชชานนท์โอนหุ้นออกไปเมื่อ 21 ตุลาคม 2548 เหลือ 3.21% เช่นเดียวกับสุภาพรที่โอนหุ้นออกไปเมื่อ 26 ตุลาคม เหลือเพียง 4.02% แน่นอนว่านับจากนี้หากผู้ถือหุ้น 2 รายนี้จะถอนตัวออกจากบริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ PICNI คงไม่มีใครทราบอีกต่อไป

ทั้งที่ในวันเดียวกับที่สุภาพรโอนหุ้นออกไปให้กับผู้เข้ามาใหม่อย่างสุวิมล ทองกร นั้น เป็นวันที่ PICNI แจ้งมายังตลาดหลักทรัพย์ว่าใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน มีหุ้น 273.38 ล้านหุ้นคิดเป็น 9.25% ส่วนธีรัชชานนท์มี 199.72 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.76%

มรสุมที่ถาโถมเข้าใส่ตระกูลลาภวิสุทธิสินนั้นเริ่มถูกจับตาจากสาธารณชนเมื่อมีชื่อของบรรดานักการเมืองเข้ามาร่วมถือหุ้น พร้อมกับพี่ใหญ่ของตระกูลคือสุริยา ลาภวิสุทธิสิน มีชื่อเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลทักษิณสอง

55 ล้านครอง 77%

ก่อนหน้านี้ตระกูลลาภวิสุทธิสินได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบี. กริม เอ็นจิเนียริ่ง ซีสเต็มส์ จำกัด(มหาชน) ที่ประสบปัญหาจากพิษเศรษฐกิจ โดยเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้นใหม่ตามแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ เดือนสิงหาคม 2545 ครั้งนั้นพบชื่อของวราวุฒิและสุภาพร ลาภวิสุทธิสินเข้ามาถือหุ้น 5.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 77.64% จากราคาพาร์ 10 บาทต่อหุ้น พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทปิคนิคแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน)

หลังจากนั้นมีการเพิ่มทุนอีก 326 ล้านบาท เมื่อ 11ธันวาคม 2545 เพื่อซื้อธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว คือ ยูเนี่ยนแก๊ส แอนด์ เคมิคอล ซึ่งเป็นกิจการของตระกูลลาภวิสุทธิสิน และดำเนินธุรกิจใหม่เมื่อเดือนเมษายน 2546 และพ้นจากแผนฟื้นฟูเมื่อ 18 กันยายน 2546

ถัดมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 400 ล้านบาทเป็น 750 ล้านบาทพร้อมปรับราคาพาร์จาก 10 บาทเป็น 5 บาท ด้วยการออกเป็นหุ้นสามัญพร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิ

ครั้งนั้นได้จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิให้ผู้ถือหุ้นเดิม 20 ล้านหน่วย อีก 10 ล้านหน่วยจัดสรรให้ประชาชนทั่วไป แต่จากรายงานที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) พบว่าธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน ซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวที่ราคา 0 บาท จำนวน 23.84 ล้านหน่วย และสุภาพร ลาภวิสุทธิสิน ซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวที่ราคา 0 บาท จำนวน 34.25 ล้านหน่วย

จากนั้นก็พบรายการซื้อและขายของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 รายนี้ตั้งแต่ช่วงที่หุ้นช่วงที่ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ จนถึงปลายปี 2547 ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาพผู้แทนราษฎร เบ็ดเสร็จได้เงินออกมากว่า 681 ล้านบาท

ด้วยการที่มีรายชื่อนักการเมืองเข้ามาถือหุ้นใน PICNI ทำให้หุ้นตัวนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ จนกระทั่งมีนาคม 2548 ก.ล.ต.สั่งให้แก้ไขงบการเงินในปี 2547 ทั้งเรื่องการบันทึกบัญชีและการจ่ายค่าความนิยมในบริษัทย่อยที่ PICNI ซื้อกิจการ จนกระทั่งมีการกล่าวโทษธีรัชชานนท์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการในขณะนั้นและสุภาพร รองกรรมการผู้จัดการ พร้อมผู้เกี่ยวข้องอีก 7 ราย

การถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต.พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจเศรษฐกิจสานต่อคดีนี้ ส่งผลให้สุริยาต้องพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และโดดเข้ามาแก้ปัญหาใน PICNI ด้วยตัวเองด้วยการเพิ่มทุนเท่าตัว เพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่ครบกำหนด และผ่านพ้นไปด้วยดีพร้อมกับการเข้ามาของกลุ่มใหม่และการถอยของกลุ่มลาภวิสุทธิสิน

ไม่ใช่แค่ปิคนิคตัวเดียว

ถึงวันนี้การถอยของตระกูลลาภวิสุทธิสิน จาก 77.64% เมื่อสิงหาคม 2545 จนเหลือต่ำกว่า 5% และไม่เข้าข่ายต้องรายงานการซื้อขายต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)อีกต่อไป ถือเป็นการปิดเกมของลาภวิสุทธิสินใน PICNI อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนจะถอยออกไปจริงหรือไม่ผู้ถือหุ้นรายใหม่จากตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจคงให้คำตอบได้ดี

กรณีของปิคนิคถือเป็นกรณีแรกที่กลุ่มทุนใหม่เข้าซื้อกิจการบริษัทที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ(Rehabco) และลดสัดส่วนจนเหลือสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายเล็กที่ไม่มีบทบาทในการบริหารกิจการอีกต่อไป

วาณิชธนกิจรายหนึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนรายใหม่ที่เข้ามาซื้อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจหลายแห่ง เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาใหม่โดยใช้เงินไม่มากนัก และถือเป็นการเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม

ก่อนหน้า PICNI ก็มีหลายบริษัท แต่กลุ่มทุนเหล่านั้นยังคงถือหุ้นและบริหารงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพฤติกรรมของกลุ่มทุนเหล่านี้ก็ไม่แตกต่างกัน คือ เมื่อซื้อซากของบริษัทได้แล้วก็เจรจาปรับโครงสร้างหนี้จนสามารถเปิดซื้อขายหุ้นได้ ถือเป็นธรรมชาติที่หุ้นประเภทนี้เมื่อเปิดซื้อขายจะสร้างผลตอบแทนจากราคาปิดครั้งสุดท้ายได้ราว 500-1,000%

จากนั้นกระบวนการสร้างความคึกคักให้กับราคาหุ้นก็เริ่มตามมาไม่ว่าจะเป็นการแตกพาร์ เพิ่มทุนแล้วแจกใบสำคัญแสดงสิทธิฟรี หรือการขยายธุรกรรมทางธุรกิจออกไปอีก เมื่อราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นก็จะมีแรงขายของกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เข้าไปบุกเบิกตามออกมา

แน่นอนว่าการขายหุ้นออกมานั้นมีทั้งขายออกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว และขายออกเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้หนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินทุนที่นำมาซื้อหุ้นในครั้งแรกว่าเป็นเงินมาจากแหล่งใด หากเป็นเงินทุนของตนเองการขายหุ้นออกมานั้นก็เท่ากับเป็นการนำเอาเงินที่ลงทุนกลับคืนมา ถ้าราคาหุ้นเดินหน้าต่อส่วนต่างที่เหลือก็จะเป็นกำไร แต่บางรายจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินมาซื้อกิจการ ดังนั้นก็ต้องหาทางคืนเงินกู้ดังกล่าว ส่วนมากจะใช้กำไรของบริษัทมาชำระคืน ส่วนหุ้นที่ขายออกไปได้ก็มักเพื่อเข้ากระเป๋าตัวเอง

วิธีการแสวงหาประโยชน์ไม่ได้จำกัดแค่การขายหุ้นออกมาเท่านั้น ธุรกรรมบางประเภทช่วยอำพรางการถ่ายเงินออกของผู้บริหารบริษัทได้อย่างแนบเนียน เช่น ซื้อสินค้าแพงกว่าความเป็นจริง จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับคู่ค้าที่ไม่มีตัวตน หรืออ้างว่าลงทุนแต่กลับไม่มีความคืบหน้าในเนื้องานนั้น

"จริง ๆ แล้วปัญหาในปิคนิคนั้น ถือเป็นโชคไม่ดีของกลุ่มลาภวิสุทธิสิน ที่หน่วยงานอย่าง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์เอาจริงเอาจังในเรื่องธุรกรรมที่ไม่โปร่งใส ทั้งที่ก่อนหน้านี้บางบริษัทก็ทำในลักษณะที่ไม่แตกต่างกับปิคนิค"แหล่งข่าวกล่าว

ถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีหน่วยงานที่ช่วยดูแลนักลงทุน เพราะธุรกรรมเหล่านี้นักลงทุนทั่วไปคงเข้าถึงยากและไม่มีอำนาจพอที่จะตรวจสอบ และกรณีนี้ยังเป็นการปรามกลุ่มทุนอีกหลายกลุ่มที่เตรียมทำในลักษณะเดียวกันกับปิคนิค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.