ก้าวสำคัญทุนโทรคมนาคมไทยขายทิ้งหรือปรับตัวเพื่ออยู่รอด


ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เปรียบ 2 เส้นทางทุนสื่อสารไทย หลังเกิด กทช.ตระกูลเบญจรงคกุลเลือกขายดีแทคทิ้งให้ฝรั่ง ในขณะที่กลุ่มทรูของเจียรวนนท์เลือกซื้อยูบีซีจากเอ็มไอเอช จัดทัพธุรกิจครอบคลุมบริการแบบไร้พรมแดนเทคโนโลยีและอยู่เหนือความคลุมเครือขอกฎเกณฑ์ กทช.และกสช.

ธุรกิจโทรคมนาคมไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญทั้งในด้านการกำกับดูแลจาก กทช. และ กสช. รวมทั้งถึงเวลาของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจาก 2G ไปยุค 3G และการเข้ามาของเทคโนโลยีไวร์เลส บรอดแบนด์อย่างไว-แม็กซ์ ประมาณว่าธุรกิจโทรคมนาคมในช่วง 2 ปีถัดจากนี้ไป จะใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยน้ำหนักจะอยู่ที่โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G ที่คาดว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะออกกฎเกณฑ์ได้ภายในสิ้นปี และให้ใบอนุญาตได้ประมาณกลางปีหน้า

เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาทของแต่ละโอเปอเรเตอร์ทำให้การหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติกลายเป็นประเด็นร้อนที่โลคัล โอเปอเรเตอร์ต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น กล่าวชัดเจนว่า ธุรกิจโทรคมนาคมไทยยังหอมหวนในสายตาต่างชาติเพียงแต่ต่างชาติจะเลือกเข้ามาลงทุนด้วยวิธีใดเท่านั้น

ในขณะที่ต่างชาติมองการเปิดเสรีและการมี กทช.ไทยเป็นโอกาสในการรุกเข้าธุรกิจโทรคมนาคม แต่กลายเป็นวิกฤตของทุนไทยที่หากไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นได้ก็ย่อมถูกเทกโอเวอร์ เหมือนที่เกิดกับดีแทคของตระกูลเบญจรงคกุลที่ในอดีตถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจสำคัญของกลุ่มชินวัตร และถือว่าเป็น 1 ใน 4 ตระกูลใหญ่ในวงการโทรคมนาคมที่ประกอบด้วยชินวัตร เบญจรงคกุล เจียรวนนท์ และน้องเล็กตระกูลวิไลลักษณ์

สิ่งที่ผู้ประกอบการ และนักวิชาการมอง 1 ปี กทช.ไม่ห่างไกลกันมากนัก อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นว่า "1 ปีที่ผ่านมา กทช.ทำงานแต่อาจไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ เอกชนอยากเห็นเงื่อนไขให้เร็วที่สุด เพราะมีผลกระทบกับมูลค่าสัมปทาน แต่ผมยังไม่ได้มองว่า กทช.ทำให้เอกชนอ่อนแอมาก"

กรณีดีแทคเกิดมานานแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เทเลนอร์เคยยื่นของซื้อหุ้นดีแทค แต่บุญชัย เบญจรงคกุล ยังไม่อยากขายและไม่อยากให้เทเลนอร์ถอนตัว ในแง่บริหารงานซีอีโอร่วมทำงานกันไม่ได้ เหมือนกรณีออเร้นจ์ที่เคยมีฝรั่งกับไทยและไทยกับไทย ไปไม่รอดเพราะทิศทางบริหารไม่ชัดเจน และถ้าบุญชัยจะทำต่อต้องลงทุน 3G ซึ่งไม่ใช่แค่โครงข่ายแต่ต้องลงทุนเรื่องแอปพลิเคชัน นอนวอยซ์ และที่สำคัญธุรกิจโทรคมนาคมไทยหนีการเมืองไม่พ้น ถึงแม้ กทช.จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมได้โดยเฉพาะเรื่องแอ็กเซสชาร์จ

"กทช.ผมมองว่าอยู่ในประเด็นการเมือง ไม่ได้มีผลทางตรง แต่มีผลทางอ้อม"

ส่วนการหาพาร์ตเนอร์ของทีเอออเร้นจ์ไม่ใช่ของใหม่ เพราะต้องหาทุนยาว การเป็นรายใหม่เข้าตลาดจำเป็นต้องมีทุนเย็นเพื่อใช้กลยุทธ์ราคาเป็นเรื่องธรรมดา การหาพาร์ตเนอร์ต่อไปคงต้องมีทุกรายแม้กระทั่งเอไอเอส ขึ้นอยู่กับว่าต้องผสมกับใครสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปไม่ใช่ Economy of Scale แต่เป็น Economy of Scope อยู่ที่นอนวอยซ์และแอปพลิเคชั่น

การแข่งขันปัจจุบันแบบไทยๆ แข่งกันอยู่ในจุดสมดุลย์ แต่เมื่อมีพาร์ตเนอร์ต่างชาติหรือโอเปอเรเตอร์ต่างชาติเข้ามาสักราย จะทำให้ดุลการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่เงินทุน แต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีนอนวอยซ์และแอปพลิเคชัน

"1 ปีกทช.เท่าที่เห็นมีแค่การออกใบอนุญาตให้ไอเอสพีและทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม โดยอย่างอื่นยังไม่เห็น โดยเฉพาะไลเซนส์ เฟรมเวิร์กและกฎกติกาการแข่งขันต่างๆ"

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นยังยอมรับว่าทรูและทีเอออเร้นจ์จำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติสัก 20-25% หากต้องการลงทุนใน 3G และไว-แม็กซ์ ในขณะที่กระแทกกทช.ว่าผู้ประกอบการคนไทยน่าจะเข้มแข็งมากกว่านี้ หากกทช.คิดถึงทุนไทยที่ฝังรากธุรกิจมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะประเด็นที่เอกชนตามสัญญาสัมปทาน อาจได้รับการปฏิบัติไม่ทัดเทียมกับคนที่ขอใบอนุญาตใหม่

แต่สิ่งที่ทรูปรับตัวแตกต่างจากตระกูลเบญจรงคกุลทิ้งดีแทค เพราะทรูเลือกที่จะซื้อแทนที่จะขาย โดยซื้อยูบีซี และเอ็มเคเอสซี จากเอ็มไอเอชเพื่อให้บริการแบบไร้พรมแดน มุ่งสนองตอบไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย เป็นการจัดทัพธุรกิจ ให้อยู่เหนือ กฎเกณฑ์ที่ยังคลุมเครือระหว่าง กทช. และ กสช. โดยเฉพาะ triple play บริการที่กำลังจะมาถึงในอนาคต อันใกล้ ซึ่งเป็นบริการที่เชื่อมโลกโทรคมนาคมกับโลกมีเดียเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นบริการทั้งเสียงผ่านโทรศัพท์ในระบบไอพี, บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์ทีวี

ทรูจึงกลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่รวบรวมสิทธิในการให้บริการ หรือไลเซนส์ในมือมากและเกือบครบถ้วนที่สุด ขาดแต่เพียงมือถือ 3G และ เกตเวย์วงจรต่างประเทศเท่านั้น

ในขณะที่สิ่งที่ศุภชัยเฝ้ามองคือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Wi-Max หรือ Worldwide Interoperability for Microwave Access ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ไร้สายที่พัฒนาจากไว-ไฟแต่สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลได้เร็วกว่าเดิม โดยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 75 เมกะบิตต่อวินาทีและครอบคุลมพื้นที่ได้กว้างกว่าคือประมาณ 15 กม. โดยประโยชน์ของไวแม็กซ์จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพ คุณภาพสายทองแดงหรือสายโทรศัพท์ รวมทั้งยังสามารถครอบคลุมในพื้นที่ DSL เข้าไปไม่ถึง เพื่อให้บริการในพื้นที่ประชากรไม่หนาแน่น หรือพื้นที่ห่างไกลในชนบทหรือนอกเมือง

ไว-แม็กซ์จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนของโครงข่ายไร้สายความเร็วสูงหรือไวร์เลส บรอดแบนด์ที่อาจทำให้กลุ่มทรูไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาโครงข่ายดาวเทียมสื่อสาร ที่ปัจจุบันผูกขาดให้บริการเพียงรายเดียว

การจัดทัพธุรกิจของกลุ่มทรูวันนี้ ทำให้กลุ่มทรูดูผุดผ่องขึ้นทันตา ไม่ว่าจะเป็นความครบเครื่องด้านสิทธิ ให้บริการคอนเทนต์ที่หลากหลายและการเป็นเจ้าของโครงข่ายที่ครอบคลุม ทั้งหมดกำลังเพิ่มมูลค่าให้กลุ่มทรู โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งหรือรอไลเซนส์ใหม่จาก กทช.หรือ กสช.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.