จับตา 'สปา' ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ด่วน ! สร้างตลาด ขายความต่าง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- สิ้นยุค ! ธุรกิจ 'สปา' คาบช้อนเงิน ช้อนทองพร้อมโกยเงินเข้ากระเป๋า
- ราคาน้ำมันกระทบต้นทุน ฐานลูกค้าหด การแข่งขันเดือด ปัจจัยลบรุมกระหน่ำ
- แต่วิกฤต เป็นโอกาส เมื่อ 'ธุรกิจบริการ' เป็นจุดขาย-จุดแข็งของประเทศ
- กูรูแห่งวงการ ชี้ทางออกนำพาธุรกิจโต้คลื่นตลอดรอดฝั่ง และรายใหม่อยู่ได้อย่างยั่งยืน

จากตัวเลขการยื่นขอคำรับรองมาตรฐานสถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อเสริมสวยและนวดเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดกว่า 2,000 รายจากทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างการติดต่อของยื่นขอรับรองอีกจำนวนมากนั้น ย่อมสะท้อนการเข้ามาลงทุนธุรกิจบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และจัดว่าเป็นธุรกิจที่ยังเป็นดาวรุ่งสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แต่ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฎควบคู่ไปกับการทยอยปิดกิจการ ปัจจัยหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือภาวะเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่าสปา นวดไทย ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และหลายรายผูกติดกับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการที่เข้ามาทำธุรกิจตามกระแสโดยไม่มีการทำแผนธุรกิจที่ชัดเจน

- 'ISMED' ส่งสัญญาณ พยุงรายเก่า

ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการ สายการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เปิดเผย “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจอันได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวชาวไทย รวมถึงการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่ลดลง ประกอบกับการแข่งขันของจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการสปา นวดไทยทั้งสิ้น

ภาพดังกล่าว ทำให้สถาบัน กลับมาทบทวนบทบาทใหม่ จากที่ผ่านมาเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจทั้งการอบรม จัดสัมมนาให้ความรู้ รวมถึงการประสานแหล่งเงินทุนต่างๆ จึงหันมาเน้นฟื้นฟูผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้ส่งเสริมจนสามารถประกอบกิจการได้แล้ว กลับมาทบทวนธุรกิจกันใหม่ เสริมศักภาพ ผู้ประกอบการและธุรกิจภายใต้ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ

โดยจะเริ่มในปี พ.ศ. 2549 ประสานกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้และคอนเน็ตชั่นกับสปารายใหญ่ในประเทศนั้นๆ จัดอบรม สัมนาเข้มข้นในประเด็นการตลาดและการสร้างความแตกต่างของธุรกิจ รวมถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายหรือปรับปรุงกิจการ เพิ่มเติมการให้บริการด้วยโนว์ฮาวและเทคโนโลยีใหม่ๆ

"เป้าหมายในตอนนี้ไม่ใช่จำนวน แต่เป็นเรื่องของคุณภาพและมูลค่าเพิ่มที่จะใส่ลงไป เช่น กระตุ้นการใช้บริการหรือทรีตเม้นท์ที่มีราคาสูงขึ้นเพิ่มรายละเอียดต่างๆ ลงไป"

ธนันธน์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและเอกชนก้าวค่อนข้างเร็ว แต่ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องหยุดยืนแล้วมองรอบตัวว่าเกิดอะไรขึ้นและเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการกระโจนเข้าเข้าสู่ธุรกิจเหมือนที่ผ่านมา

แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการสปา นวดไทยยังเป็นดาวรุ่งและยังไม่อิ่มตัว ซึ่งยังเป็นโอกาสธุรกิจของนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้ามา เพราะเป็นธุรกิจที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ซึ่งเรามีความพร้อมอย่างมากทั้งบุคลากร วัตถุดิบสมุนไพรไทยที่เป็นจุดขาย รวมถึงสถานที่ทำเลต่างๆ

- แนะทบทวนแผนธุรกิจ

ธนันธน์ แนะว่า ผู้ประกอบการต้องหันมาทบทวนแผนธุรกิจ กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดขึ้น รวมถึงการสร้างความแตกต่าง หากมองโอกาสทางการตลาดในวิกฤตจะพบว่าจำนวนคู่แข่งขันหรือผู้ประกอบการรายอื่นต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก กลุ่มลูกค้าผู้ชายมีแนวโน้มเติบโต หรือตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ เช่นกลุ่มคนทำงานวัย 25-35 ปี ซึ่งในภาพรวมธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพจะเห็นแนวโน้มเติบโตทั้งระบบ

"อาจต้องขยายฐานตลาดลูกค้ามากขึ้น จากที่จับลูกค้าต่างประเทศก็มุ่งลูกค้าภายในประเทศ เจาะกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนขึ้น อย่างตอนนี้กลุ่มผู้ชายเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น"

ธนันธน์ ให้แนวคิดในการกำหนดกลยุทธ์ไว้ว่า ต้องสร้างจุดขายที่โดดเด่น หรือบริการที่เฉพาะตัว การตกแต่งและการกำหนดลูกค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง ใช้เครื่องมือการตลาดสมัยใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตลาดบนอินเตอร์เน็ตและการขายเชิงรุก การสร้างคนสร้างทีมงานของตัวเอง สร้างระบบการจัดการที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงการสร้างแบรนด์

ทั้งนี้ จากการรวบรวมผลสำรวจของสถาบัน พบว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสปามีปัญหาด้านการทำตลาดมากที่สุดคือไม่สามารถรักษาลูกค้าเก่าให้กลับมาใช้บริการได้ จากสถิติลูกค้าใหม่ 10 รายมีกลับมาใช้บริการเพียง 3 รายเท่านั้น สาเหตุที่พบเกิดจากไม่ได้รับความพึงพอใจจากบริการตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งมาจากผู้ให้บริการไม่ได้มาตรฐาน และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ซึ่งผู้จัดการสปาไม่อยู่ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจในขณะนั้นได้

พร้อมให้ข้อคิดไว้ว่า หัวใจของธุรกิจบริการคือบุคลากร โดยเฉพาะเทอราปิสต์ ทั้งนี้ต้องมีระบบการคัดเลือกเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสม มีระบบการตอบแทนที่ยุติธรรม และให้เห็นถึงโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ มีระบบการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ระบบการติดตามและประเมินผลงานที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่เครื่องมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน นั้นควรหาพันธมิตรที่มีแนวคิดทางธุรกิจที่สอดคล้องกัน พันธมิตรต้องมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นชัดเจน กำหนดขอบเขตความร่วมมือด้านต่างๆ กำหนดแผนงานปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม กำหนดเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้ กำหนดกลยุทธ์แบรนด์กลุ่ม

"และในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ผู้ประกอบการที่ทำอยู่ต้องมีความเป็นมืออาชีพ รับมือกับความต้องการของลูกค้าที่ไม่สิ้นสุด และต้องมีทักษะบริหารจัดการเพื่อรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เป็นนักปฏิบัติมากกว่านักเพ้อฝัน" ธนันธน์กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตด้านจำนวนของผู้ใช้บริการ อาจไม่ก้าวกระโดดอย่างที่ผ่านมาด้วยปัจจัยลบที่กล่าวมาทั้งหมด ทั้งนี้ตนมองเรื่องการแข่งขันระหว่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน ที่ดึงนักท่องเที่ยวไปได้มาก เพราะตลาดหลักของธุรกิจสปายังอิงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ฉะนั้นการลงทุนควรพิจารณาให้หนัก แนวโน้มในขณะนี้การลงทุนควรหาพันธมิตรเช่นเปิดในโรงแรม รีสอร์ท แทนการลงทุนเองทั้งหมดน่าจะป้องกันความเสี่ยงด้านการลงทุนได้

- SME BANK เข้มปล่อยกู้

ระพีพรรณ ประวัติวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สถาบันพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME BANK) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาคธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และธุรกิจสปาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยนั้นทำให้การพิจารณาสินเชื่อต้องเป็นไปอย่างรอบครอบและละเอียดมาขึ้น หมายถึงผู้ประกอบการต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนโดยเฉพาะการตลาดจะทำให้สามารถประเมินระยะเวลาในการคืนสินเชื่อที่ปล่อยไป

สำหรับปัจจัยหลักต่อการพิจารณาสินเชื่อว่า จะดูที่โอกาสความเป็นไปได้ของธุรกิจ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อต้องจัดทำแผนธุรกิจที่ละเอียดตั้งแต่แนวคิดต่อการเข้ามาลงทุนในธุรกิจดูตลาดและภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน การผลิต การเงิน และการบริหาร

"ผู้ขอกู้ต้องมีระยะการคืนสินเชื่อที่ชัดเจน นั้นคือการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ การจะสร้างตลาดได้ต้องฉีกแนวด้วย ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ผู้ขอสินเชื่อ ต้องแสดงแผนธุรกิจให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น" พีระพรรณกล่าวและว่า

จากผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นเห็นชัดเจนในปี 2548 นี้ อัตราการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการชะลอตัว จากเป้าการปล่อยกู้ในกลุ่มท่องเที่ยว ปี 2548 เดิม 2,600 บาท แต่ภาวะเศรษฐกิจจึงได้ปรับเงินปล่อยกู้ใหม่ เหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท ตัวเลข ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2548 เพิ่งปล่อยสินเชื่อไปเพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับสินเชื่อธุรกิจสปามีไม่เกิน 10%

อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของสถานบันฯ ในการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ จึงมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข็งขันให้กับผู้ประกอบการรายเดิมจัดการอบรม สัมมนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่นั้นเป็นการให้องค์ความรู้ต่อการเข้ามาทำธุรกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นก่อนเข้าสู่ธุรกิจ

พีระพรรณ กล่าวถึงปัจจัยหลักต่อการพิจารณาสินเชื่อว่า จะดูที่โอกาสความเป็นไปได้ของธุรกิจ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อต้องจัดทำแผนธุรกิจที่ละเอียดตั้งแต่แนวคิดต่อการเข้ามาลงทุนในธุรกิจดูตลาดและภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขัน การผลิต การเงิน และการบริหาร

ข้อมูลสนับสนุนจากงาน ‘สปาแอนด์บิวตี้ สวย...รวย...รุ่ง’ โดยเอสเอ็มอีแบงก์ พีเพิลมีเดีย นิตยสารชี้ช่องรวย


- แบ่งสรร ปันส่วนลงทุน

ธนัฎฐา ไชยวงศ์วัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เนชเชอรัล บี สปา จำกัด ผู้ให้บริการ ‘จอมพลสปา’ ฉายภาพให้เห็นถึงการเข้ามาลงทุนธุรกิจสปา ในฐานะบริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจ ว่า ในปี 2548 มีผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการคำปรึกษาธุรกิจสปาเพิ่มขึ้น ซึ่งพบมากในต่างจังหวัด ที่หลายรายเข้าสู่ธุรกิจนี้ด้วยกระแสและยังเข้าใจว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดีกว่าทำธุรกิจอย่างอื่น

แต่ขณะเดียวกันยังพบว่ามีกลุ่มที่เข้าใจธุรกิจที่ต้องการเปิดสปาเพราะมองเห็นโอกาสของธุรกิจในจังหวัดนั้นๆ โดยเฉพาะมีกลุ่มลูกค้าระดับบีขึ้นไปที่มีกำลังซื้อสามารถเข้ามาใช้บริการสปาได้เพราะยังไม่มีรายใดเปิดให้บริการ

แต่สำหรับผู้ประกอบการรายเดิม ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นจะเลือกปรึกษาบางเรื่องเท่านั้น เช่น การเพิ่มทรีตเม้นท์ใหม่ๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการต่างๆ ปรับปรุงสถานที่ รวมถึงการวางตำแหน่งสินค้าเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ เป็นกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท ที่เริ่มเข้ามาขอคำปรึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มบริการ และยกระดับภาพลักษณ์ของโรงแรม รีสอร์ท ขึ้นและเป็นการให้บริการที่ครบวงจรให้กับลูกค้าที่เข้าพัก

สำหรับการเข้ามาลงทุนในธุรกิจสปานั้น จากที่เข้ามารับคำปรึกษาจะมีเม็ดเงินลงทุนเฉลี่ยรายละ 5 แสนบาท ซึ่งตนมองว่าเป็นเงินที่ค่อนข้างน้อยหากต้องการเข้ามาทำธุรกิจสปาอย่างจริงจัง เพราะจะขาดความครบวงจรด้านการให้บริการ

ธนัฎฐา ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ลงทุนธุรกิจสปาว่า ควรมีเงินลงทุนขั้นต่ำประมาณ 1.5 ล้านบาท พื้นที่ 1 คูหา 3 ชั้น (ไม่รวมพื้นที่ซักล้าง) จะสามารถให้บริการที่มีองค์ประกอบครบทั้งนวดตัว นวดเท้าและการทำทรีตเม้นท์ต่างๆ พื้นที่ไม่อึดอัด มีเงินหมุนเวียนต่อเดือน 30,000-50,000 บาท สำหรับการคืนทุนอยู่ที่ทำเลเป็นส่วนสำคัญและการบริการให้เกิดการเข้ามาใช้บริการซ้ำ

ซึ่งผู้ขอรับคำปรึกษานั้น ตนจะเริ่มถามคอนเซ็ปต์กันก่อน ว่าต้องการนำเสนอสปาในรูปแบบไหน และมีเงินทุนเท่าไรเหมาะสมหรือไม่ เช่น มีเงินลงทุนไม่มากน้อย แต่ต้องการสปาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือในส่วนนี้การลงทุนค่อนข้างสูง

และแนะนำการบริหารเงิน เพราะกว่า 50% หมดไปกับการตกแต่งสถานที่ การจัดวางตำแหน่งบุคลากรที่เหมาะสมกับบริการและขนาดพื้นที่ที่ให้บริการ 20% เป็นการตลาด สื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก ที่เหลือเป็นอุปกรณ์ สินค้า ทั้งนี้การให้คำปรึกษา จะแนะนำจัดหาอุปกรณ์ ของสำคัญที่ต้องใช้ภายในสปาให้ทั้งหมด ราคาค่าปรึกษาจะพิจารณาเป็นรายตามรายการที่ปรึกษา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.