|
แฟคตอรี่เอ๊าท์เลท เพิ่มดีกรี 'FN' ผู้บุกเบิก ปรับตัวสู้ศึก
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแสแฟคตอรี่เอ๊าท์เล็ทมาแรง "เอฟเอ็น" ปรับตัว ชูจุดเด่นสินค้าส่งออก คุณภาพดีราคาประหยัด และบริการเยี่ยม ยึดแนวคิดธุรกิจมุ่งรักษาฐานลูกค้าเดิม พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่
ช่อทิพย์ ส่งวัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจในรูปแบบการขายสินค้าราคาถูกจากผู้ผลิตว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ขณะเดียวกับความต้องการของผู้บริโภคในสินค้าประเภทนี้มีเพิ่มขึ้น เป็นความนิยมใช้สินค้าแบรนด์เนมที่มีคุณภาพแต่ราคาต่ำ ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มของราคาน้ำมัน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมาณ 3 รายที่อยู่ที่ตลาดนี้ ได้แก่ 1. พีน่าเฮ้าส์ 2.แฟชั่นเอ๊าท์เลท และ3.ซีเอ็มจีเอ๊าท์เลทของกลุ่มเซ็นทรัล
ดังนั้น "เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท" (FN Factory Outlet) ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งออกหลากหลายชนิดมาลดราคากว่า 50% ถึง 80% จึงเตรียมปรับตัวรับกระแสการแข่งขันที่สูงขึ้น และการเติบโตของธุรกิจรูปแบบนี้ โดยยังคงเน้นการเป็นสินค้าส่งออก การรักษามาตรฐานสินค้าคุณภาพราคาพอเหมาะ และบริการที่ดีให้ลูกค้าไปบอกต่อ และการประชาสัมพันธ์ในจังหวะที่เหมาะสม
นอกจากนี้จะเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เช่น การสร้างพันธมิตรใหม่มากขึ้น เพื่อมาขยายกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ จากเดิมที่มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยทำงาน อายุ 35 ปีขึ้นไป มีรายได้ประมาณ 30,000-50,000 บาท/เดือน/ครอบครัว เช่น มีกลุ่มสินค้ากีฬาจากอาดิดาสอยู่แล้วจะหาสินค้าจากเซ็กเม้นท์อื่นๆ มาเสริม และอาจจะใช้ฐานลูกค้าเดิมช่วยขยายตลาด ซึ่งลักษณะของกลุ่มลูกค้าเอ้าท์เลท คือกลุ่มที่มีเงิน ไม่สนใจแบรนด์ และชอบสินค้าที่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถที่จะใช้การกำหนดจำนวนผลิตเพื่อมาขายในช่องทางนี้โดยเฉพาะเพราะความต้องการของตลาดยังไม่สูงมากพอ จึงยังคงใช้สินค้าจากการเหลือจากการส่งออกแล้วจึงจะมากระจายตามสาขาที่มีอยู่เท่านั้น เพราะคนไทยยังนิยมสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ แต่ไม่นิยมแบรนด์ไทยด้วยกันเอง
จุดเด่นของ "เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท" คือ รักษาจุดยืนของการเป็นสินค้าส่งออกซึ่งจะไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น เพราะกว่า 90% เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกทั้งแบบที่รับจ้างผลิตและติดแบรนด์ของฟลายนาวโดยไม่มีจำหน่ายในไทย ที่เหลือประมาณ 5 % เป็นสินค้าของพันธมิตร เช่น ไนกี้ อาดิดาส เพื่อรักษาเครือข่ายและเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า ขณะที่คู่แข่งเป็นสินค้าที่หาซื้อได้จากช่องทางปกติ เพียงแต่นำมาลดราคามากกว่าเดิมในช่องทางนี้
โดยสินค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย เสื้อผ้าประเภทต่าง ๆ สำหรับบุรุษ สตรี และเด็ก, เครื่องหนังหลากหลายประเภท, อุปกรณ์เครื่องนอน, อุปกรณ์สำหรับตกแต่งบ้าน, สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมายจากโรงงานในเมืองไทยที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ชั้นนำ ซึ่งผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะโดดเด่นทั้งเรื่องดีไซน์ วัสดุคุณภาพเทียบเท่าผลิตภัณฑ์จากนานาประเทศ ราคาประหยัดจากโรงงานมาจำหน่ายให้กับคนไทย โดยปัจจุบันมี 4 สาขา คือ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี พัทยา และโคราช และวางแผนจะเปิดสาขาใหม่ที่เชียงใหม่ในปีหน้า ตามเป้าหมายที่จะเปิดสาขาตามเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะนอกจากจะเน้นกลุ่มลูกค้าคนไทยยังมุ่งกลุ่มต่างชาติด้วย
ส่วนแนวทางในการทำธุรกิจ ช่อทิพย์ กล่าวว่า ไม่ชอบเลือกใช้เงินกู้เพราะไม่ต้องการเป็นหนี้ ซึ่งหมายถึงว่าขยายธุรกิจกับต้องทำกำไรให้ได้เท่านั้น ซึ่งต้องดูแลทั้งการควบคุมต้นทุนมากที่สุด ขณะเดียวกันที่คุณภาพและการบริการต้องดี เพราะฉะนั้นจะขายอย่างไรให้กำไรมากและคนมามากจึงทำราคาสูงไม่ได้จึงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้เสมอ
ประกอบกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจว่า ยึดหลัก "ยิ่งน้อยยิ่งมาก" คือ การมีกำไรต่อหน่วยต่ำเพื่อให้ขายได้จำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งเหมาะกับรูปแบบธุรกิจนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าลูกค้าที่ให้ความสนใจสินค้าเอ๊าท์เลท เพราะเป็นสินค้าที่หาหาต้องใช้ความพยายามในการเลือกสรรเลือกซื้อจึงจะได้ของที่สวยและดีแบบที่หายากและไม่เหมือนใคร หรือเท่ากับความรู้สึก "ยิ่งปิดยิ่งอยากรู้" พร้อมทั้ง การใช้วิธีคิดที่ต้องบริหารเชิงรุกโดยการนำปัญหาที่เห็นว่าจะเกิดขึ้นแนะนอนในอนาคตมาสะสางก่อน เพื่อให้เมื่อถึงเวลานั้นจะความรุนแรงของปัญหาจะเบาลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|