ยักษ์ใหญ่ "เอไอเอ" เลื่อนตั้งบลจ.อ้างขอเวลาประเมินสถานการณ์


ผู้จัดการรายวัน(11 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

AIA ร่อนหนังสือถึงสำนักงาน ก.ล.ต.ขอเลื่อนจัดตั้ง บลจ.ออกไปก่อน อ้างบริษัทแม่อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ ขณะที่ธุรกิจกองทุน สำรองเลี้ยงชีพเตรียมบุกตลาดด้วยการเปิดทางเลือก สมาชิกกองทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ผ่าน Multiple Funds Choice คาดมูลค่าทรัพย์สินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขยายตัว 10-15% ในปีหน้า เผยผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

นางภควิภา เจริญตา รองประธานฝ่ายจัดการกองทุน บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ว่า ล่าสุดบริษัทแม่ได้มอบนโยบายให้เลื่อนการจัดตั้งบลจ.ออกไปก่อน โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากบริษัทแม่อยู่ระหว่างจัดโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ และประเมินสถานการณ์ตลาดใหม่

"เราได้ทำหนังสือไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขอเลื่อนจัดตั้ง บลจ.ไปแล้ว เนื่องจากบริษัทแม่ต้องการประเมินสถานการณ์ตลาด" นางภควิภากล่าว

นางภควิภากล่าวว่า บริษัทได้พัฒนากองทุนสำรองเลี้ยงชีพรูปแบบใหม่ Multiple Funds Choice เพื่อให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกกองทุน ที่มีนโยบายการลงทุนที่มีความสอดคล้องกับความต้องการ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของสมาชิก

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 เอไอเอมีพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการ 11,394.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ 10,246.78 ล้านบาท

นางภควิภากล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการของเอไอเอในปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยทุกกองทุนให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยในส่วนของกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ให้อัตราผลตอบแทนประมาณ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบสูงถึง 14% ส่วนพอร์ตการลงทุนในปี 2548 ในช่วง 9 เดือนแรก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยรวมให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยในส่วนของกองทุนผสม ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้และตลาดหุ้นให้อัตราผลตอบแทนสูงถึง 4%

สำหรับรูปแบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรูปแบบใหม่ Multiple Funds Choice คณะกรรมการกองทุน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างหรือฝ่ายสมาชิก จะร่วมกับบริษัทจัดการกองทุน พิจารณาเลือกกองทุนตามประเภทของการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยอาจเลือกกองทุนจำนวน 2-4 กองทุน จากนั้นจะกำหนด แผนการลงทุน โดยในแต่ละแผนการลงทุนจะประกอบด้วยสัดส่วนการลงทุนที่แตกต่างกัน เช่น แผนการลงทุนที่ 1 อาจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 100% แผนการลงทุนที่ 2 จะลงทุนในตราสารหนี้ 60% และกองทุนหุ้น 40% และแผนการลงทุนที่ 3 อาจลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 40% กองทุนหุ้น 40% และกองทุนต่างประเทศ 20% ซึ่งสมาชิกกองทุนสามารถเลือกแผนการลงทุนใดก็ได้ที่คาดว่าจะให้ผล ตอบแทนที่ดี และอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ ซึ่งจะต่างจากรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทั่วไปที่จะถูกนำไปลงทุนตามกรอบนโยบายเดียว สมาชิกไม่สามารถที่จะแบ่งเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่จูงใจกว่าได้

นางภควิภากล่าวว่า ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในส่วนของการคิดค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกับลูกค้า อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันในจุดนี้ โดยคาดว่าหลังจากที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เชื่อว่าจะกระตุ้นตลาด และทำให้สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการขยายตัวประมาณ 10-15% ในปี 2549 และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนในสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องปรับรูปแบบการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนในระดับที่สูงใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษา และแนวทางการจัดตั้ง เชื่อว่าการเกิดขึ้นของ กบช.จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทจัดการทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวทางการจัดตั้ง กบช.กระทรวงการคลังจะนำรูปแบบที่เหมาะสมมาใช้เพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจโดยรวมมากจนเกินไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.