|

พันธมิตรธุรกิจความจำเป็นเร่งด่วนของทรู
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
“ทรูได้เปิดหาพันธมิตรต่างชาติที่จะเข้าร่วมทุนเพิ่มในสัดส่วน 20-25%” ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และทีเอ ออเร้นจ์ กล่าวในงานแถลงข่าวงานหนึ่ง สองสัปดาห์หลังจากข่าวการขายหุ้นยูคอมของผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลเบญจรงคกุล ให้แก่เทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์
เหตุผลที่ทรูจำเป็นต้องมองหาพันธมิตรต่างชาติคือ เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจสื่อสารเพิ่ม หลังจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดให้ใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ที่ต้องใช้งบลงทุนเครือข่ายสูง
“การที่เราเปิดรับพันธมิตร เพราะเห็นแนวโน้มการให้ไลเซ่นต์ที่ชัดเจนขึ้นของกทช.” ศุภชัยกล่าว หลังจากที่สองสัปดาห์ก่อนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเรื่องการหาพันธมิตรต่างชาติ โดยบอกแต่เพียงว่าต้องรอให้ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจากกทช.ก่อน แต่ยังคงจุดยืนที่บริษัทต้องถือหุ้นส่วนใหญ่เพื่อควบคุมการบริหาร
"บทเรียนจากออเร้นจ์ ทำให้เราอยากได้พันธมิตรใหม่ที่ลงทุนจริงจังอย่างน้อย 7-10 ปี” ศุภชัย กล่าว “ส่วนข่าวที่ว่ามีการเจรจากับ เทเลคอม มาเลเซีย นั้น กำลังเจรจาผ่านอินเวสเมนท์แบงก์ตัวแทนของเทเลคอมมาเลเซีย” ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในครึ่งปีแรกของปี 2549 เพื่อให้ทันกับเงื่อนเวลาการขอใบอนุญาตจาก กทช.และการแข่งขันในตลาด
ส่วนพันธมิตรจะเข้าถือหุ้นในทรู คอร์ปอเรชั่น หรือทีเอ ออเร้นจ์ นั้น ขึ้นกับเงื่อนไขประเภทของการลงทุน
“หลักการหาพันธมิตร ถ้าสนใจบริการ triple play ก็จะมาลงทุนในทรู แต่ถ้าสนใจบริการโทรศัพท์มือถือก็จะมาลงในออเร้นจ์” ศุภชัยกล่าวถึงหลักการ
พันธมิตรที่เหมาะสมของทรูควรเป็นใคร?
ปัจจัยของความสำเร็จในธุรกิจมือถือในยุคต่อไป (3G) คืออะไร?
หากไม่หาพันธมิตรต่างชาติ ธุรกิจโทรคมนาคมสัญชาติไทยจะอยู่รอดในสภาพการแข่งขันได้หรือเปล่า?
บทวิเคราะห์
หลังจากเบญจรงคกุลทิ้งยูคอมให้เทเลนอร์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหมู่ผู้ประกอบการเทเลคอมเอกชนอีก 2 รายที่เหลือ ว่าจะอยู่อย่างไรในเมื่อธุรกิจเทเลคอมไทยกลายเป็นธุรกิจระดับโลกไปแล้ว ผู้ประกอบการรายใดไม่แข็งแกร่งพอ ก็อาจถูกเตะพ้นวงโคจรได้
การทิ้งหุ้นยูคอมของเบญจรงคกุลเป็นการบอกให้ทราบว่าเทเลคอมไทยได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงในยูคอมได้ไม่นานจะมีการวิเคราะห์และถกเถียงถึงอนาคตเทเลคอมอย่างหนาหู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบุกเข้าสู่ตลาดไทยของกลุ่มเทเลคอมเอเชียที่เตรียมรุกเข้าสู่ตลาดไทยอีกคำรบหนึ่ง
ยกกรณีเอไอเอสไว้ไม่กล่าวในที่นี้ เพราะเดี๋ยวเรื่องจะยาวเกินไป เนื่องจากเอไอเอสมีพันธมิตรต่างชาติถือหุ้นอยู่แล้วคือสิงคโปร์ เทเลคอม
โอเปอเรเตอร์ที่จำเป็นต้องหาพันธมิตรโดยด่วนคือทรู
วันแถลงข่าวของ บุญชัยบอกว่าเจ้าของบริษัทคู่แข่งขันของแทคคือพานทองแท้และซีพี ซึ่งบอกเป็นนัยๆว่ายิ่งใหญ่มาก ยากจะหาใครเทียมทานในสยามประเทศ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว ซีพีก็ไม่ได้แข็งแกร่งเฉกเช่นอดีตที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องประสบวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการขยายตัวมากจนเกินไป จนต้องประนอมหนี้จำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง
ทรูมีความได้เปรียบที่มีทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและมือถืออยู่ในบริษัทเดียวกัน ซึ่งแตกต่างจากโอเปอเรเตอร์ค่ายอื่นๆที่มีเพียงมือแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น กระนั้นก็ตามการมีโทรพื้นฐานอยู่ไม่ได้ถือเป็นความได้เปรียบมากมายเฉกเช่นอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะโทรศัพท์พื้นฐานไม่ได้ทำกำไรมากอย่างที่คาดไว้ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะใช้เครือข่ายนั้นขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เช่น อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ซึ่งกำลังทำอยู่
หัวใจสำคัญที่ต้องเร่งหาพันธมิตรมาเสริมด่วนคือออเร้นจ์ซึ่งต้องเปลี่ยนไปเป็นทรูในอีกสองหรือสามปีข้างหน้าเมื่อหมดวาระที่ออเร้นจ์ให้ใช้ชื่อแล้ว ออเร้นจ์ในธุรกิจโอเปอเรเตอร์อยู่ในฐานะล่อแหลม ขนาดยังไม่เข้าสู่ระบบ 3 G เครือข่ายก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ยังห่างจากแทคอีกหลายขุม เพราะการขยายเครือข่ายจำเป็นต้องอาศัยเงินจำนวนมหาศาล ขณะที่ออเร้นจ์ทิ้งหุ้นในราคาเพียง 1 บาทเท่านั้น ส่งผลให้ออเร้นจ์กลายเป็น Niche Operator ไปโดยปริยาย
สถานการณ์ที่แทคมีเทเลนอร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หมายความว่าพร้อมจะกระโจนเข้าสู่ระบบ 3 G ได้ทันทีที่ใบอนุญาตออก อีกทั้งการมีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็เท่ากับว่ามีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาลไทยสูง ซึ่งแตกต่างจากสมัยที่เบญจรงคกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
หากทรูยังไม่สามารถหาพันธมิตรทางธุรกิจได้ในเร็ววัน The Future isn’t Bright อย่างแน่นอน
กว่าจะมาเป็น TRUE
TRUE เป็นทั้งชื่อแบรนด์ และชื่อบริษัทของกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในเครือซีพี ก่อนหน้าปี 2547 ธุรกิจโทรคมนาคมในเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังไม่ได้ถูกจัดระเบียบให้อยู่ในชื่อ TRUE หากแต่อยู่ในชื่อของ Telecom Asia (TA) และอื่น ๆ ชื่อทีเอนั้นเป็นที่รู้จักการนานกว่าสิบปีแล้ว นับแต่ซีพีกระโจนเข้าสู่ธุรกิจสื่อสาร ผ่านการประมูลสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน
หลังจากได้ครอบครองตลาดโทรศัพท์บ้านและสำนักงาน (ที่เรียกว่า Land Line หรือ Fixed Line) กลุ่มซีพีก็ต้องการบุกเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ซีพีได้เจรจาข้อซื้อบริษัท Wireless Communication Services (WCS) จากแทค (ของตระกูลเบญจรงคกุลในขณะนั้น) เพื่อให้ได้มาซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทรัพยากรสำคัญในการดำเนินธุรกิจผู้ใหบริการโทรศัพท์มือถือ
กลุ่มซีพีได้หาพันธมิตรต่างชาติอย่าง ”ออเร้นจ์” ยักษ์มือถือจากประเทศอังกฤษ ในเครือ France Telecom ทีเอออเร้นจ์ ลงสู่ตลาดเป็นผู้เล่นรายที่สาม ในปลายปี 2544 ก่อนที่สามปีต่อมา (2547) ออเร้นจ์จะขายหุ้นคืนในราคาที่ต่ำมาก ถอยออกจากตลาดไทยอย่างไม่เป็นท่า
แบรนด์มือถือออเร้นจ์นั้นมีอายุจำกัด ใช้ได้อีกเพียง 3 ปี หลังจากนั้นแบรนด์มือถือจะเปลี่ยนมาเป็น TRUE ทิศทางของ TRUE มุ่งหวังให้เกิดการสร้างพลังผนึก (Synergy) ระหว่างธุรกิจต่าง ๆ ในเครือตั้งแต่ โทรศัพท์บ้าน, โทรศัพท์มือถือ, อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์, เคเบิ้ลทีวี ฯลฯ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|