|

ยุทธ์ศาสตร์ใหม่แลนด์โรเวอร์ พุ่งเป้าจับกลุ่มLUXURYเป๋าตุง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
-วงในชี้แลนด์โรเวอร์กำลังอยู่ระหว่างปรับตัว ไม่เน้นเพิ่มตัวแทนจำหน่ายแต่มุ่งขายรถราคาสูงเป็นหลัก
-คาดเร็วๆ นี้ ทั้งแลนด์โรเวอร์ วอลโว่ และจาร์กัวร์มีโอกาสอยู่ในโชว์รูมเดียวกันตามนโนบายพีเอจีของฟอร์ด
แลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์ เดินหน้าลุยตลาดรถเอสยูวี หรูเมืองไทยต่อ แม้จะพบว่ายอดขายเพิ่มถดถอยลงไป แต่ก็ต้องปรับตัวรับสภาพตลาด โดยไม่มีการขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่าย และเริ่มเน้นกลยุทธ์เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มอย่างจริงจัง
แม้ปีนี้แลนด์โรเวอร์จะไม่อยู่ในบรรยากาศแฮปปี้มากนัก โดยริชาร์ด เฮกห์ ประธานบริหาร บริษัทแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์ ยอมรับว่า ต้องมีการปรับเป้ายอดขายลงจากที่ตั้งไว้ตอนต้นปีคือ 500 คัน เหลือเพียง 400 คัน แต่ก็เป็นเพราะสภาพตลาดรถหรูโดยรวมลดลงมากถึง 25% และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
นักวิเคราะห์วงการรถยนต์ไทย มองว่า อนาคตของอันใกล้ของแลนด์โรเวอร์ น่าจะมีการรวมกับแบรนด์รถยนต์ในกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มพีเอจี (Premier Automotive Group) เป็นการรวมแบรนด์รถหรู 3 แบรนด์ที่ถือหุ้นโดยบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ประกอบด้วย วอลโว่ แลนด์โรเวอร์ และจาร์กัวร์
ปัจจุบันทั้งแลนด์โรเวอร์ และวอลโว่ มีความสัมพันธ์ในระดับที่ใกล้ชิดกันมาก และพร้อมจะมีการรวมรถยนต์ทั้ง 2 แบรนด์เข้าอยู่ในโชว์รูมเดียวกัน เหลือเพียงจาร์กัวร์เท่านั้นที่ปัจจุบันลิขสิทธิ์ในเมืองไทยยังอยู่ในมือของกลุ่ม เอเอเอส ออโต้ แต่ก็เชื่อว่าในอีกไม่นานนัก จะมีโชว์รูมของกลุ่มพีเอจี เกิดขึ้นในไทยอย่างแน่นอน ซึ่งในที่สุดทั้ง 3 แบรนด์จะใช้ศักยภาพในการดำเนินการร่วมกัน เท่ากับเป็นการลดต้นทุนไปพร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ยังไม่มีการรวมกันทำตลาดอย่างเป็นทาง และแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์เองก็เริ่มมีการปรับตัวบ้างแล้วทั้งการบริหาร จัดการและกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ สิ่งแรกคือการลดต้นการบริหารงาน กล่าวคือแลนด์โรเวอร์น่าจะไม่มีพูดถึงการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในอนาคตอันใกล้ แต่จะใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในการทำตลาด ขณะที่งานบางอย่างก็มีการจ้างบุคลากรนอกบริษัทเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเป็นรูปแบบคล้ายกับๆ การดำเนินการของผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ
ขณะที่ด้านผลิตภัณฑ์ รถยนต์ของแลนด์โรเวอร์ หันมาเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มจริงอย่างจริงจัง ซึ่งก็เป็นเพราะความต้องการรถยนต์ประเภทขับเคลื่อนสี่ล้ออเนกประสงค์ของไทยลดลงด้วยนั่นเอง อย่างไรก็ดีในตลาดที่เป็นเฉพาะกลุ่มจริงๆ อย่างเช่นกลุ่ม LUXURY นั้น ถือว่ามีศักยภาพสูง เนื่องจากตลาดกลุ่มที่ใช้รถยนต์ประเภทนี้จะไม่มองอุปสรรค์ในเรื่องเศรษฐกิจ หรือราคาน้ำมันเท่าใดนัก แต่สิ่งที่ตลาดกลุ่มนี้ต้องการคือ ความเป็นตัวของตัวเอง และไม่เหมือนใคร
สำหรับศูนย์บริการนั้นแลนด์โรเวอร์ ก็คงจะไม่เพิ่มจำนวนด้วยเช่นกัน แต่จะใช้กลยุทธ์ในการให้บริการที่เรียกว่าบริการฉุกเฉิน 24 ชั่วโมงเข้ามาเสริม ซึ่งเหล่านี้นักวิเคราะห์วงการรถยนต์มองว่า แบรนด์แลนด์โรเวอร์จะไม่โตมากนัก แต่ก็จะไม่ถดถอยไปมากกว่านี้เช่นกัน
โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการ ตัดสินใจนำเข้ารถยนต์รุ่น เรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต ซึ่งเป็นรถกลุ่มเอสยูวีที่ถือว่ามี่ราคาค่อนข้างสูง โดยรุ่นเรนจ์โรเวอร์ สปอร์ต ที่นำเข้ามาทำตลาดมีด้วยกัน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ คอมมอนเรล วี 6 ขนาด 2.7 ลิตร ราคา 6.28 ล้านบาท รุ่นเครื่องยนต์วี 8ขนาด 4.4 ลิตร 300 แรงม้า ราคา 8.45 ล้านบาท และรุ่นเครื่องยนต์เบนซินวี 8 ซูเปอร์ชาร์จ ขนาด 4.2 ลิตร 390 แรงม้า ราคา 9.65 ล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวจากแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์ระบุว่า รถยนต์รุ่นนี้เป็นที่ต้องการของตลาดพอสมควร และมีปริมาณออเดอร์รออยู่พอสมควร โดยเฉพาะรุ่นท๊อป หรือแม้แต่รุ่น ดิสคัพเวอรี่ซึ่งมีราคาสูงกว่าคันละ 4 ล้านบาท ก็มียอดขายเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน
เพราะฉะนั้นแม้ปริมาณยอดขายรถยนต์ของแลนด์โวเรอ์จะลดลง แต่เมื่อพิจารณากันที่เม็ดเงินรายได้ของแลนด์โรเวอร์ ก็ยังถือว่ามีผลประกอบการที่ดี เนื่องจากราคาจำหน่ายต่อหน่วยสูงขึ้นนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|