อานิสงฆ์ “ดีสนีย์แลนด์”แพคเกจสุดฮิตคาเธ่ย์ฯรับเต็มๆ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เดือนกันยายนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวกว่า 1.7 ล้านคนที่เดินทางเข้าฮ่องกงคงสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จเบื้องต้นของการเปิดดิสนีย์แลนด์ ขณะที่ความใฝ่ฝันของฮ่องกงที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 16 ล้านภายในปี 2005 นั้นดูเหมือนจะไม่ไกลเกินจริง ซึ่งแม้แต่คนไทยเองก็เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวฮ่องกงมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 22.7%เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกัน

ส่งผลให้ธุรกิจการบินมีจำนวนคนเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะต้องต่อสู้กับภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจและพิษของราคาน้ำมันก็ตาม การปรับตัวเพื่อรับกระแสของดิสนีย์แลนด์ของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 48 จึงหนีไม่พ้นเรื่องของการจัดแพคเกจอัดเข้าไปในการเดินทางกับคาเธ่ย์ฯ

การทำตลาดที่เน้นหนักไปการทำโปรโมชั่นของสายการบินคาเธ่ย์ครั้งนี้สามารถสังเกตเห็นได้จาก การจัดแพ็คเกจ “ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ ” ที่มีตั้งแต่เฟสแรก จนถึงเฟสที่สาม โดย 2 เฟสแรกมียอดขายแพ็คเกจประมาณ 600-700 คน ส่วนแพ็คเกจชุดที่ 3 นี้ทาง ยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดประจำประเทศไทยและพม่า คาดว่า จะมียอดทะลุไม่ต่ำกว่า 1,000 คน

“สาเหตุที่เราตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนนั้น เพราะกระแสการตอบรับที่ดีของนักท่องเที่ยวไทยที่มีต่อแพ็คเกจท่องเที่ยวฮ่องกงใน 2 เฟสแรกดีมาก และราคาแพ็คเกจเองนั้นเริ่มต้นที่ 19,300 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่คุ้มค่า ถ้าเทียบกับแพ็คเกจของสายการบินอื่น ๆ” ยงยุทธ มองถึงความสดใสในแพ็คเกจ “ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์”

ในราคาแพ็คเกจที่ 19,300 บาทนี้ รวมตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง บัตรผ่านประตูเข้าดิสนีย์แลนด์ ค่าภาษีสนามฮ่องกง ค่าประกันภัยการเดินทาง พร้อมห้องพักโรงแรม 2 คืนซึ่ง จุดเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวในแพ็คเกจนี้ได้ก็คือ “การพักในโรงแรมของดิสนีย์แลนด์ 1 คืน และโรงแรมชั้นนำในฮ่องกงอีก 1 คืน ซึ่งแพ็คเกจอื่นไม่มี แต่เรามีเสริมให้ เพราะลูกค้าต้องการค้างคืนที่ดิสนีย์แลนด์ด้วย ไม่ใช่แค่ตามโรงแรมที่ไหนก็ได้เพียงอย่างเดียว” ยงยุทธ กล่าว

การจัดแพ็คเกจนี้จะลากยาวไปถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีที่มีวันหยุดมาก อย่างคริสมาสต์ วันขึ้นปีใหม่ มาเที่ยวที่ฮ่องกง โดยผ่านสายการบินคาเธ่ย์ฯ ให้มากที่สุด นอกจากนี้ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวไทยที่จะใช้ซื้อแพ็คเกจนี้ นักท่องเที่ยวชาวพม่า เขมร ลาว ก็หันมาซื้อแพ็คเกจนี้เช่นเดียวกัน โดยคิดเป็น 10% ของจำนวนผู้ซื้อแพ็คเกจนี้ทั้งหมด ในช่วงเฟส 1 และ 2

ลำพังทรัพยากรธรรมชาติหรือสถานที่ท่องเที่ยวของเกาะฮ่องกงเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปได้ตลอดปี ดังนั้นทางการท่องเที่ยวของฮ่องกง จึงพยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาเรียกนักท่องเที่ยวให้เดินทางมา บวกกับการวางตัวเองให้เป็นสถานที่ช้อปปิ้งที่สามารถบินไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่จำเป็นต้องรอฤดูกาลท่องเที่ยว เหมือนกับสถานทีท่องเที่ยวตามธรรมชาติต่าง ๆ

ดังนั้น การจัดอีเว้นท์ หรือกิจกรรมบนเกาะฮ่องกงต่าง ๆ อย่าง “กีฬาแข่งม้าระดับโลกที่ฮ่องกง (Hong Kong International Races)” ซึ่งกิจกรรมนี้จะดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าไปชมได้อย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งตรงนี้ทางคาเธ่ย์ แปซิฟิค จึงจัดแพ็คเกจขึ้นมารองรับตลาดคนไทยตรงนี้ด้วย ภายใต้ชื่อ “Fly n’See hong Kong International Races” โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 21,100 บาท พร้อมตั๋วเข้าชมการแข่งขัน เครื่องบินไปกลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง ห้องพักโรมแรม 2 คืน ฯลฯ หรือแม้แต่แพ็คเกจอย่าง “ฮ่องกงซูเปอร์ซิตี้” ที่จัดมานานกว่า 10 ปีแล้ว มียอดนักท่องเที่ยวประมาณ 6,000-7,000 คนต่อปี ก็เป็นแพ็คเกจที่สร้างรายได้ให้กับคาเธ่ย์ แปซิฟิคมานนานแล้วเช่นกัน

ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา คาเธ่ย์ฯ เติบโตมากกว่า 20% แต่ว่ามีผลกำไรแค่ 5 ร้อยกว่าล้านเหรียญยูเอสเอ ซึ่งทางคาเธ่ย์ฯ ถือว่ากำไรลดลงจากปีที่แล้วถึง 70% เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ดังนั้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 นี้ ทางคาเธ่ย์ฯ จึงอัดโปรโมชั่นเพิ่มเข้าไปอีก เพื่อหวังดึงรายได้และอัตราการเติบโตให้สูงขึ้น ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากฮ่องกสู่ลอนดอนเป็นวันละ 4 เที่ยวบิน จากเดิมที่บินอยู่วันละ 3 เที่ยวบิน ถือได้ว่าคาเธ่ย์เป็นเพียงสายการบินเดียวในเอเชียที่ให้บริการในเที่ยวบินนี้มากที่สุด ในขณะที่เส้นทางจากกรุงเทพฯ-อินเดีย ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความถี่ในการบินให้มากขึ้น จาก 4 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ กลุ่มลูกค้าที่มีมากขึ้นจนคาเธ่ย์ฯ ต้องเพิ่มความถี่ในการบิน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนักธุรกิจที่ไปทำการค้า หรือไปลงทุน กลุ่มต่อมา คือกลุ่มชาวอินเดียในไทย ที่เดินทางกลับประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เดินทางเยอะสุด และที่สุดด้วย ในขณะที่กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่เดินทางเข้าอินเดียเพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กิจกรรมทางศาสนา

นอกจากนี้ทางคาเธ่ย์ฯ ยังใช้โอกาสครอบรอบ 25 ปี มาเป็นตัวจัดอีเว้นท์เพื่อกระตุ้นยอดผู้ใช้บริการให้สูงขึ้น ด้วยการออกแคมเปญ “เอเชีย ไมล์ 2 เท่า” สำหรับผู้ที่เดินทางสู่กรุงลอนดอน ซึ่งถือว่าเป็นการโปรโมทเส้นทางบินที่เปิดใหม่ พร้อมๆ กับการกระตุ้นยอดขายไปด้วยในตัว แต่ทั้งนี้ ทางคาเธ่ย์ฯ เองได้ตีวงจำกัดให้เฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกเอเชียไมล์เท่านั้น ที่จะได้รับของรางวัลจากแคมเปญนี้

ช่องทางการตลาดที่คาเธ่ย์หยิบนำมาใช้

ภาพรวมของตลาดคนไทยที่เดินทางเข้าฮ่องกง ถือว่ามีมากขึ้นกว่าเดิมถึง 20% ซึ่งถือว่าดีที่สุดที่ทางคาเธ่ย์ได้ทำตลาดมากว่า 50 ปี ซึ่งมี 4 ปัจจัยเป็นตัวกระตุ้น

* การทำโปรโมชั่น และแคมเปญต่าง ๆ ที่คาเธ่ย์ ได้ทำมาโดยตลอด
* การมีตารางเวลาบินที่ค่อนข้างถี่และครอบคลุมในแต่ละสัปดาห์ ผู้ใช้บริการสามารถเลือกบินได้ง่ายขึ้น
* ตลาดในฮ่องกงมีโอกาสเติบโตสูงในแง่ของธุรกิจ MICE เพราะเป็นศูนย์การจัดสัมมนาและนิทรรศการต่าง ๆ มากมาย
* มีบริการเสริมทางด้านบริการออนไลน์ ที่เอื้อให้ผู้โดยใช้บริการทางคาเธ่ย์ฯ ได้สะดวกขึ้น

ผลงานที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

รางวัลที่คาเธ่ย์ แปซิฟิค ได้รับจากสถาบันสกายแทร็กซ์
: สายการบินแห่งปี (Airline of the Year)
: รางวัลสายการบินยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (Best Airline Asia) จากงาน TTG Asia Travel Awards Airline of the Year 2005
: สายการบินแห่งปี (Airline of the Year)
: สายการบินยอดเยี่ยมแห่งเอเชียเหนือ (Best Airline North Asia)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.