‘ทีเอ็นที’ ฉีกตลาดร่วม ‘เมลล์ยุ่น’ ตะลุยตลาดลอจิสติกส์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เม็ดเงินโดยรวมของตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทยไม่มีใครทราบได้ว่าสูงเท่าไรแต่อัตราการเติบโตผู้ประกอบการทุกฝ่ายต่างยอมรับว่ามีมูลค่ารวมสูงถึงร้อยละ 22 ของจีดีพีทั้งประเทศ นั่นแสดงว่าธุรกิจการให้บริการขนส่งทางอากาศยังคงเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ผู้ประกอบการทุกฝ่ายต่างแย่งชิงให้ได้มาครอบครองมากที่สุด

มาตรฐานและประสิทธิภาพจึงเป็นกลยุทธ์ที่หยิบนำมาใช้ เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว ในขณะที่กลุ่มผู้ทำธุรกิจทางลอจิสติกส์ อย่าง DHL ,FedX, ทีเอ็นที ฯลฯ ต่างประกาศความเป็นผู้นำตลาดกันทั้งหมดพร้อมเร่งหากลยุทธ์ชิงความเป็นหนึ่งในตลาดนี้เช่นกัน

การเปิดมหาวิทยาลัยสอนบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์ ของ ดีเอชแอล แอลเอ็มยู ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อฝึกอบรมพนักงานและลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจขนส่งทางอากาศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นการส่งสัญญาณถึงการแข่งขันในอนาคตอันใกล้ที่จะทวีความรุนแรงและทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีการปรับกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ล่าสุด บริษัททีเอ็นที ได้ฉีกหนีการแข่งขันด้วยการเข้าไปแทคทีมกับไปรษณีย์ของญี่ปุ่นร่วมกันทำธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งทางทีเอ็นทีเชื่อว่าการรวมตัวครั้งนี้จะเกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะทีเอ็นทีเองก็มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายการขนส่งในระดับนานาชาติ ส่วนทางไปรษณีย์ญี่ปุ่นเองก็มีชื่อเสียงและเครือข่ายที่ครอบคลุมในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว

“เราเชื่อว่าการรวมตัวกับทีเอ็นทีครั้งนี้ จะทำให้ไปรษณีย์ญี่ปุ่นก้าวขึ้นสู่ธุรกิจระดับนานาชาติได้อย่างเต็มตัว” มร. มาซาฮารุ อิกูตะ ประธานไปรษณีย์ญี่ปุ่นพูดถึงการร่วมธุรกิจกับทีเอ็นที

เมื่อบริษัทสำนักงานใหญ่ของทีเอ็นที ออกนโยบายที่จะร่วมธุรกิจลอจิสติกส์กับไปรษณีย์ญี่ปุ่น บวกกับการที่ไทยได้ร่วมลงนามทำเขตเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอ (FTA) กับญี่ปุ่น ทำให้บริษัททีเอ็นที (ประเทศไทย) มีโอกาสทางการตลาดสูงมาก เพราะสินค้าที่จะส่งออกไปญี่ปุ่นมีจำนวนสูงขึ้น ในขณะเดียวสินค้านำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นก็ต้องมีปริมาณสูงขึ้นเช่นกัน

การร่วมมือกับไปรษณีย์ญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือว่าทีเอ็นทีก้าวไปในตลาดการขนส่งที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เปรียบกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ เพราะทางไปรษณีย์ญี่ปุ่นเองมีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งประเทศ และทางทีเอ็นทีเองไม่จำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมของคนญี่ปุ่นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้การจับมือกับไปรษณีย์ญี่ปุ่นครั้งนี้ ยังได้สายการบินนิปปอนแอร์ (ANA) ซึ่งเป็นสายการบินที่มีความเชี่ยวชาญในการขนส่งสินค้าทางอากาศ และยังเป็นพันธมิตรของไปรษณีย์ญี่ปุ่นมาด้วย

ในขณะที่การขนส่งภายในประเทศของบริษัททีเอ็นที ก็ต้องแข่งกับไปรษณีย์ไทย ที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งประเทศมากกว่า นอกจากนี้ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่เป็นเจ้าตลาดโลจิสติกส์อย่าง บริษัท DHL, FedX ทำให้ทีเอ็นทีต้องหันไปเพิ่มศักยภาพของบุคลากร เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ บวกกับพยายามพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ไปรษณีย์ไทยและคู่แข่งอื่น ๆ ให้ไม่ได้

“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไฮเอน (High End) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของการบริการมากกว่า และสินค้าที่เราส่งจะเป็นพวกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งต้องการคุณภาพในการส่งสูงมาก และในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็จะเปิดบริการส่งสินค้าให้ครบทุกเขตไปรษณีย์ด้วย” มร.วิรเฟรด คิสบี้ กรรมการผู้จัดการ ทีเอ็นที (ประเทศไทย) พูดถึงการแข่งขันกับไปรษณีย์ไทย

สำหรับสัดส่วนการขนส่งสินค้าภายในประเทศ จะเน้นไปที่ ชิ้นส่วนประกอบยานยนตร์ (Auto motive) อุปกรณ์เทเลคอมมิวนิเคชั่น (Tele Communication) และสินค้าไอที โดยเฉพาะชิ้นส่วนประกอบยานตร์ มีสัดส่วนมากที่สุดคือ 50% และคาดว่าหลังจากเปิดเอฟทีเอกับญี่ปุ่นแล้ว สัดส่วนของสินค้าพวกนี้จะมีเพิ่มขึ้น

สำหรับตลาดลอจิสติกส์ในประเทศไทย เฉพาะบริษัททีเอ็นที ถือว่ากำลังมาแรงมากและมีอัตราการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เพราะอย่างทีเอ็นทีในประเทศสหรัฐอเมริกาคิดเป็น 8% ของรายได้ทีเอ็นทีทั้งหมด ในขณะที่ประเทศไทยและเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะการมีโกดังเก็บสินค้าที่มาก มีคาร์โก้ที่ซ้ำซ้อน หรือแม้แต่การมีระบบการขนส่งมวลชนที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาบริษัทลอจิสติกส์ต่อไป ซึ่งตรงข้ามกับปริมาณความต้องการที่ใช้บริษัทลอจิสติกส์ที่น้อยกว่า ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.