แอร์โลว์คอสมีเดีย สื่อใหม่มาแรง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โอมาย – แม็กซ์เมคเกอร์ ตั้งหน้าลุยบริหารสื่อบนเครื่องโลว์คอส นกแอร์ – ไทยแอร์เอเชีย เตรียมผุดพื้นที่ใหม่ติดสร้างรายได้รับการเติบโตสื่อใหม่ฐานลูกค้ายังน้อยโอกาสเติบโตอีกมาก เล็งอนาคตโกอินเตอร์หวังเข้าไปบริหารสื่อโฆษณาโลว์คอสในภูมิภาค

ด้วยความเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์สายการบินต้นทุนต่ำจึงทำให้ต้องตัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนที่ฟุ่มเฟือยออกไปแล้วยังจะต้องหารายได้จากช่องทางอื่นเข้ามาเสริมอีกด้วยไม่ว่าจะเป็น การขายอาหารและเครื่องดื่มบนไฟรท์รวมถึงการขายพื้นที่สื่อโฆษณา แตกต่างจากสายการบินค่ายใหญ่ซึ่งเราจะไม่เห็นรูปแบบดังกล่าวนี้เนื่องจากได้มีการรวมต้นทุนทุกอย่างเข้าไปอยู่ในราคาตั๋วค่าโดยสารหมดแล้ว

รูปแบบการโฆษณาบนเครื่องบินนี้มีจุดกำเนิดเริ่มต้นเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแพร่หลายเข้าสู่ประเทศโซนยุโรปในช่วงต่อมา จนกระทั่งเข้าสู่ประเทศไทยในยุคหลังการเฟื่องฟูของบริการสายการบินต้นทุนต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทางด้านนกแอร์เป็นผู้เปิดสมรภูมินี้ก่อนในช่วงปลายปีที่แล้วโดยให้บริษัท โอมาย เป็นผู้รับสัมปทานบริหารสื่อโดยมีสัญญาเป็นระยะเวลา 5 ปีแบบแบ่งผลประโยชน์กัน(Revenue shareing) ในอัตราส่วนที่ไม่เปิดเผย

ในขณะที่ไทยแอร์เอเชียก็ได้ให้ บริษัท แมกซ์ เมคเกอร์ เข้ามาบริหารสื่ออากาศยานเช่นกันโดยเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนที่แล้วนี่เองและมีระยะเวลาสัญญาเพียง 1 ปีเท่านั้นใช้ระบบ Revenue shareing เช่นกัน

จุดเด่นของนกแอร์คือภาพลักษณ์ความเป็นสายการบินต้นทุนต่ำระดับบนที่เชื่อมโยงกับการบินไทยด้วยความเป็นบริษัทลูกทำให้ระดับของแบรนด์ที่โฆษณาถูกยกระดับในสายตาของลูกค้าตามไปด้วยแม้จะไม่มากก็ตามที ในอีกด้านหนึ่งจุดแข็งของไทยแอร์เอเชียคือ การที่มีเครื่องบินถึง 8 ลำและในต้นปีหน้าจะมีเข้ามาอีก 2 ลำ ขณะที่นกแอร์มีเพียง 3 ลำและจะมีเพิ่มอีก 1 ลำในปีหน้าเท่านั้น ประกอบกับการมีเส้นทางบินไปยังต่างประเทศทั้ง มาเก๊าท์, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม เขมร และจีน ทำให้มีทั้งจำนวนพิ้นที่ติดสื่อและผู้พบเห็นสื่อตลอดจนโอกาสในการหาลูกค้าได้มากกว่านกแอร์ที่บินเฉพาะในประเทศเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ โอมาย ยังติดข้อกำหนดที่ว่าห้ามมีโฆษณาในตัวเครื่องมากกว่า 2 แบรนด์อีกด้วยเพราะจะทำในบรรยากาศภายในดูไม่เรียบร้อยยุ่งเหยิง แต่ในทางกลับกันก็เป็นการบอนไซรายได้ตัวเองไปด้วย ขณะที่ แม็กซ์เมคเกอร์ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว

ด้านศักยภาพการใช้สื่อโฆษณาขณะนี้ เบญจ อรรถจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอมาย กล่าวว่าขณะนี้บริษัทมีสื่อโฆษณาทั้งหมดรวม 8 ชนิดคือ 1.การหุ้มลำตัวเครื่องภายนอกหรือExternal Aircraft Media 2. ชั้นเก็บกระเป๋าเหนือศีรษะ (Over Head Bin Door) 3. ผ้ารองศีรษะ (Headrest) 4.ถาดพับวางอาหาร (Tray Table) 5.ตั๋วเครื่องบิน (Boarding Pass) 6.การประกาศผ่านเสียงตามสายบนเครื่อง (On-Board Announcement) 7.สิ่งพิมพ์ในกระเป๋าหน้าที่นั่ง(Front pocket insert) และ 8.การจัดกิจกรรมบนเครื่อง (In-flight Promotional Events) ส่วนวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแมกซ์เมกเกอร์ บอกว่า บริษัทมีสื่อทั้งหมดรวม 5 ชนิดคือ 1.การหุ้มลำตัวเครื่องภายนอกหรือExternal Aircraft Media 2. ชั้นเก็บกระเป๋าเหนือศีรษะ (Over Head Bin Door) 4.ถาดพับวางอาหาร (Tray Table) และ 5.สิ่งพิมพ์ในกระเป๋าหน้าที่นั่ง(Front pocket insert)

เนื่องจากทั้ง 2 รายยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นดังนั้นในอนาคตก็อาจมีสื่ออื่นๆเพิ่มขึ้นได้อีกเหมือนสายการบนิต้นทุนต่ำในอเมริกาซึ่งมีทั้งสื่อ ที่เป็นจอโทรทัศน์, สื่อในห้องน้ำ, สื่อหุ้มรถขนส่งผู้โดยสารภาคพื้นดิน, สื่อบริเวณบันไดขึ้นเครื่องบิน, สื่อบนกล่องอาหาร หรือแม้กระทั่งสื่อโฆษณาบนถุงอาเจียน

ด้านราคานั้นการหุ้มตัวเครื่องบิน โอมายคิดราคา 9.6 ล้านบาทต่อลำ/ปี ขณะที่แม็กซ์เมคเกอร์คิด 3.6 ล้านบาทเท่านั้น โดยการหุ้มจะใช้ช่วงเวลาที่เครื่องเข้าตรวจซ่อมประจำปีหรือ C-Check ซึ่งจะใช้เวลาไปพร้อมๆกันเลยคือ 4 วัน โดยวัสดุที่ใช้คือสติกเกอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถยืดหดได้ตามอุณหภูมิภายนอกเครื่องซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

ส่วนการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนั้นสื่อชนิดนี้จะมุ่งไปยังกลุ่มผู้ที่สัญจรทางอากาศเช่นเดียวกับสื่อทางเดินของการท่าอากาศยานฯซึ่งติดตั้งอยู่ในสนามบินทั่วประเทศเพียงแต่อาจะไม่ได้มีส่วนที่อยู่บนเครื่องด้วยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายระดับ A-B

ยอดขายสำหรับปีนี้เบญจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโอมาย คาดว่าปีนี้บริษัทน่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทและ 10-15 ล้านบาทสำหรับปีหน้า ขณะที่ วินิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แม็กซ์เมคเกอร์ คาดว่าปีนี้บริษัทน่าจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาทและ 60-70 ล้านบาทในปีหน้าจากการเพิ่มชนิดของสื่อและจำนวนเครื่องบินด้วย

ส่วนแผนในอนาคตนั้น ทั้ง 2 บริษัทได้วางแนวทางว่าจะเข้าไปรับบริหารสื่อชนิดดังกล่าวในภูมิภาคนี้โดยหมายตาไว้ที่สิงคโปร์เป็นหลักเนื่องจากเป็นการเป็นศูนย์กลางหรือฮับทางการบินมีการสัญจรผ่านจำนวนมากนำไปสู่การพบเห็นสื่อสูงสุดด้วย ทั้งนี้ในปัจจุบันสิงคโปร์มีสายการบินต้นทุนต่ำอยู่ 2 สายคือ ไทเกอร์แอร์ และ เจ็ทแอร์ แต่สำหรับการเข้าไปบริหารสื่อแอร์เอเชียในมาเลเซียนั้น วินิจ บอกว่า “เราคงไม่เข้าไปเนื่องจากเขามีสัญญากับบริษัทอื่นอยู่แล้ว”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.