"ทนง" เมินลดพาร์ธหารไทย จี้แบงก์ปรับตัวรับเสรีการเงิน


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ขุนคลัง "ทนง พิทยะ" ไม่อนุมัติแผนการปรับลดราคาพาร์ธนาคารทหารไทยเหลือหุ้นละ 3 บาท อ้างผลงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นลดราคาพาร์เพื่อนำไปล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท พร้อมยืนยันยึดหลักแก้ปัญหาตามมาตรการ 14 ส.ค. 42 อย่างเคร่งครัด แนะสถาบันการเงินไทยเร่งปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ไม่เห็นด้วยกับแผนการปรับลดตามมูลค่าที่ตรา ไว้(ราคาพาร์) จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เหลือ 3 บาท เพื่อนำไปล้างขาดทุน สะสมที่มีอยู่กว่า 50,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เนื่องจากธนาคารมีกำไรและผลประกอบการเริ่มดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ขาดทุนสะสมของธนาคารลดลงไปได้ในที่สุด รวมทั้งการที่มีขาดทุนสะสมอยู่ยังมีข้อดีคือได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้

"คลังยืนยันว่าจะดูแลและแก้ไขปัญหา สถาบันการเงินตามระเบียบมาตรการฟื้นฟูสถาบัน การเงิน 14 ส.ค. 42 อย่างเคร่งครัด และใน ฐานะที่เป็นรมว.คลัง ก็จะยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก"

นายทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เคยได้รับข้อเสนอจากทาง TMB ให้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 3 บาทจาก 10 บาทเพื่อล้างขาดทุนสะสมที่มี อยู่ราว 5 หมื่นล้านบาท ที่มีมาตั้งแต่ก่อนที่ธนาคารจะเข้าโครงการรับเงินช่วยเหลือเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1

พร้อมกันนี้ นายทนงได้เสนอแนะให้สถาบันการเงินของไทยเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งการป้องกันความเสี่ยง การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจเปลี่ยน แปลงไปอย่างรวดเร็ว และได้รับแรงผลักดันให้เปิดเสรีทางการเงิน ดังนั้น หากต้องการให้ระบบการเงินของประเทศจะมีเสถียรภาพได้ ต้องขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง
"การพัฒนาในหลายด้านของสถาบันการเงินจะต้องมีพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความเข้มแข็งเพื่อแข่งขันกับธนาคารอื่น โดยเชื่อมั่นว่าใน 3 ปีข้างหน้าสถาบันการเงินของไทยจะไม่น้อยหน้าธนาคารต่างประเทศ เพราะการกำหนด มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการตามมาตรฐาน บาเซิล 2 จะควบคุมการดำเนินงานในด้านต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น ทั้งเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การดูแล หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สำหรับการแก้ไขกฎหมายให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยในสัดส่วนที่มากขึ้นนั้นยังไม่มีความจำเป็น"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.