|

หม่อมเต่าเปิดเว็บขายNPL ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ทำยอดประมูลทั่วโลก6พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล" อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ เปิดตัวเว็บไซต์ "E-debttrading.com" เป็นตัวกลางในการซื้อขายหนี้ด้อยคุณภาพทั่วโลก คาดภายในปี 48 จะซื้อขายยอดหนี้กว่า 6 พันล้านบาท ล่าสุดมีการประมูล ผ่านเว็บไซต์แล้ว 400-500 ล้านบาท หลังเปิดดำเนินการมากว่า 2 เดือน ขณะที่ "ฟินันซ่า" จับมือกลุ่มซูริคตั้ง "กองทุน สยาม อินเวสท์เมนท์ ฟันด์ สาม" กู้ซากบริษัทที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ หรือต้องการหาแหล่งเงินทุน ระดมทุนได้แล้วเฉียด 1 พันล้านบาทจากมูลค่าโครงการประมาณ 4 พันล้านบาท คาดผลตอบแทน 25% ต่อปี
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการบริษัท E-debttrading อดีตผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) และปลัด กระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวเปิด ตัวเว็บไซต์ "E-debttrading.com" อย่างเป็นทางการว่า เป็นเว็บไซต์ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการประมูลซื้อขายหนี้ด้อยคุณภาพทั่วโลก โดย จากการเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาได้มีสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงทั้งใน และต่างประเทศเข้ามาลงทะเบียนซื้อขายหนี้ ผ่านเว็บไซต์แล้วประมาณ 50-60 ราย และขณะนี้กำลังเจรจากับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้มาขายหนี้ด้อยคุณภาพผ่านเว็บไซต์ ซึ่งบริษัทจะคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อที่ชนะการประมูลเพียง 0.10% ของมูลค่าที่ตราไว้ของการซื้อขาย
"บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนที่ประเทศมอริเชียส ซึ่งการซื้อขายมีลักษณะเหมือนการประมูลแบบอี-ออกชัน มีทั้งการประมูลซื้อหนี้เดี่ยว และหนี้ที่เป็นกลุ่ม มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเพียงมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวก็สามารถทำการ ซื้อขายผ่านเว็บไซต์ได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดของมูลหนี้ให้ผู้ซื้อพิจารณาโดยมีโบรกเกอร์เป็นตัวกลาง "ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว
ทั้งนี้ กระบวนการซื้อขายหนี้ผ่านเว็บไซต์จะเป็นช่องทางใหม่สำหรับสถาบันการเงินใน การกระจายหนี้ ขยายตลาดให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าถึงตลาดการซื้อขายหนี้ได้กว้างขึ้น ช่วยอำนวย ความสะดวก ลดต้นทุน ลดปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) และหนี้ที่ได้รับประมูล จะมีแนวโน้มได้ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการประมูลแบบปิด
ซึ่งผู้ที่ต้องการขายหนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย ชื่อแก่ผู้ซื้อก็ได้ หากต้องการให้เป็นความลับทางบริษัทก็จะไม่เปิดเผย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในอนาคตปริมาณหนี้ด้อยคุณภาพจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งการประมูลหนี้ผ่านเว็บไซต์จะเป็นการสร้างการแข่งขันให้ได้ราคาซื้อขายสุดท้ายสูงกว่าราคาที่ผู้ขายตั้งไว้ประมาณ 5% ซึ่งในระยะต่อไปทางบริษัทจะขยายตลาดไปสู่การประมูลซื้อขายสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ)
ด้านนายยรรยง ตันติวิระมานนท์ กรรมการ บริหารบริษัท กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดประมูลซื้อขายหนี้ผ่านเว็บไซต์ประมาณ 2-3 เดือนมีการซื้อขายหนี้ไปแล้ว 400-500 ล้านบาท โดยเป็นหนี้สถาบันการเงินในอินโดนีเซีย และขณะนี้มีหนี้อยู่ 3 รายการ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่าง ดำเนินการประมูล ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะซื้อขายยอดหนี้กว่า 6,000 ล้านบาท ผ่านเว็บไซต์ E-debttrading.com ซึ่งจะมีหนี้ที่อยู่ในประเทศไทยเกิน 1,000 ล้านบาท
"เว็บไซต์นี้จะช่วยให้ลูกค้าทั้งรายใหญ่และรายย่อยเข้าถึงตลาดอย่างทั่วถึง และดำเนินการด้วยความรวดเร็ว โดยผู้สนใจจะต้องมาลงทะเบียนกับทางเว็บไซต์ แต่บริษัทจะทำการตรวจสอบประวัติและความน่าเชื่อถือ ก่อนหากมีคุณสมบัติเหมาะสมถึงจะได้เข้ามาประมูล โดยปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 50-60 ราย ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ" นายยรรยง กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทต้องการให้ E-debttrading.com เป็นทางเลือกหนึ่งในการซื้อขายหนี้ ซึ่งการซื้อขายผ่านเว็บไซต์มีข้อได้เปรียบกว่าช่องทางอื่นคือ การประมูลดำเนินการ ด้วยความโปร่งใส เพราะทางเว็บไซต์เป็นกลาง ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ ผ่านการคัดกรองและลง ทะเบียนอย่างถี่ถ้วน ผู้ขายมีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้ซื้อที่ชนะการประมูล รวมทั้งตลาดมีความกว้างมากขึ้นซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น เป็นต้น
ฟินันซ่าตั้งกองทุนกู้ซากหนี้เน่า
นายจีน เดวิส กรรมการบริหาร บริษัท ฟินันซ่า เปิดเผยว่า ได้จัดตั้งกองทุน สยาม อินเวสท์เมนท์ ฟันด์ สาม (Siam Investment Fund III :SIF III) ซึ่งสามารถระดมทุนในงวดแรกได้ประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่ากองทุนที่ตั้งไว้ 75-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าผลตอบแทนจาการลงทุนประมาณ 25% ต่อปี โดยผู้ก่อตั้งกองทุนดังกล่าวประกอบไปด้วย บมจ. ฟินันซ่า และ แคปปิตอล ซี อินเวสท์เมนท์ (Capital Z Investments) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่ม ซูริค ไฟแนนเชี่ยล เซอร์วิสเซส (Zurich Financial Services)
นายเดวิส กล่าวว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนประเภทเฉพาะเจาะจงกองทุนที่ 3 ที่เราจัดตั้งขึ้น มาเพื่อลงทุนในประเทศไทย กองทุนแรกจัดตั้งขึ้นก่อนช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยลงทุนในบริษัทที่อยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการในช่วงแรกของประเทศไทย กองทุนสยาม อินเวสท์เมนท์ ฟันด์ สอง ซึ่งจัดตั้งในปี พ.ศ. 2542 ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542-2547
"กองทุนสยาม อินเวสเมนท์ ฟันด์ สาม จะลงทุนทั้งในกลุ่มบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและในกลุ่มบริษัทที่ต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการ ทั้งนี้เรามีบริษัทต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อลงทุน" นายเดวิส กล่าว
กองทุนสยาม อินเวสท์เมนท์ ฟันด์ สาม เป็นกองทุนต่อเนื่องจากกองทุนสยาม อินเวสเมนท์ ฟันด์ สอง ซึ่งได้ทำการลงทุนไปแล้วโดยมีมูลค่ามากถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วใน 8 บริษัทด้วยกันตลอดช่วงระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนสยาม อินเวสท์เมนท์ ฟันด์ สอง ได้ใช้เงินลงทุนไปเต็มจำนวน โดยลงทุนไปในบริษัทหรือโครงการต่างๆ ดังนี้บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่, โรงแรม เอวาสัน ภูเก็ต รีสอร์ทแอนด์ สปา, บริษัท ล็อกซ์บิท จำกัด, บริษัท สันติภาพ จำกัด (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด, บมจ. แสนสิริ, บริษัท เอฟแอนด์บี ฟู๊ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด, บมจ. กระดาษศรีสยาม และบริษัท สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. จำกัด
ส่วนการลงทุนของกองทุนสยาม อินเวสเมนท์ ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนแรกนั้นคือ การเข้าไปซื้อหุ้นใน บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป,บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น และ บริษัทเงินทุน ทิสโก้(มหาชน) ทั้งนี้ บริษัทฟินันซ่ามีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนสำหรับนักลงทุนสถาบันในประเทศไทยที่สนใจลงทุนในประเภทการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงด้วยเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|