สีซอ ตอนที่4 (ตอนจบ)

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนจะเข้าเรื่องราวของตอนนี้ มีผู้สนใจ สอบถามมาเรื่องการหัดเล่นไวโอลินด้วยวิธีของ Suzuki ว่าจะ DIY (Do It Yourself) อย่างไร ผม ได้เสนอไว้ในตอนที่แล้วว่าวิธีของ Suzuki จะต้องมีครูสอนโดยแสดงให้นักเรียนเห็นแล้วก็ให้นักเรียนทำตาม ในกรณี ที่จะ DIY ผมแนะนำให้หาซีดี หรือวิดีโอ ช่วยสอนมาประกอบการฝึก เท่าที่ผมค้นคว้าและสอบ ถามมา ก็พบวิดีโอเทปช่วยสอนไวโอลินม้วนหนึ่ง ซึ่งสอนในลักษณะแนวทางของ Suzuki วิดีโอม้วนนี้มีชื่อว่า Anyone Can Play Violin โดย Coral White จัดทำโดย Mel Bay Publications (www. melbay.com) ราคาปก 29.95 U.S.$ วิดีโอม้วนนี้ นอกจากจะสอนเล่นไวโอลินแนว Suzuki แล้ว ยังมีเนื้อหานำเสนอความรู้เบื้องต้นสำหรับการหัดเล่น และดูแลรักษาไวโอลินซึ่งจะเป็นประโยชน์ยิ่ง ผู้เริ่มเล่นน่าจะเสาะหามาดูกัน

ขอเข้าเรื่องต่อจากตอนที่แล้ว หลังจากที่ได้ฝึกการไล่บันไดเสียงและเล่นเพลงแบบฝึกหัดสั้นๆ ตามตำราได้พอสมควรแล้ว ขั้นต่อไปคือ การหาเพลงที่ชอบหรือเพลงที่อยากเล่นมาหัดเล่น ท่านอาจหาซื้อหนังสือโน้ตเพลงในแนวที่ท่านชอบ เบื้องต้นควรเลือกเพลงที่ไม่เร็วนักและไม่ซับซ้อน ถ้าจะให้ดีควรหาซื้อโน้ตสำหรับไวโอลินโดยเฉพาะซึ่งเป็นโน้ตชนิดที่ทำให้ง่ายสำหรับผู้เล่นระดับต้น จากนั้นทำการจัดวางเลขของนิ้วลงบนโน้ต การวางตัวเลขของนิ้วมีความสำคัญเพราะเป็นการระบุล่วงหน้าว่าจะใช้นิ้วไหนกดโน้ตตัวใด เวลาเล่นจะได้ปฏิบัติตาม ได้ การวางเลขนิ้วท่านสามารถทำได้โดยการอ้างอิงจาก Position Chart (ใช้ Position 1) หรือเทียบกับการไล่บันไดเสียง กรณีของหนังสือโน้ตเพลงสำหรับไวโอลินเบื้องต้นมักจะมีเลขนิ้วระบุมาให้เรียบร้อย มีผู้หัดเล่นไวโอลินจำนวนหนึ่งไม่ใส่ใจกับกฎเกณฑ์การวางนิ้ว ผลก็คือทำให้ไม่ พัฒนาการจำตำแหน่งของนิ้วให้สัมพันธ์กับตัวโน้ต นิ้วไม่แม่นยำ หรือเล่นไปหาเสียงไป (ดูไม่เท่แล้วยังเสียงเพี้ยนอีกด้วย)

ท่านอาจจะหัดเล่นเพลงที่ชอบเพื่อใช้เป็นเพลงโชว์ ซึ่งอาจจะยากกว่าแบบฝึกหัดที่กำลังเล่นอยู่ ท่านอาจใช้เวลาเป็นเดือนสำหรับพัฒนาเพลงหากินของท่านให้ฟังดูดีซึ่งก็ถือเป็นการฝึกอย่างหนึ่ง แต่อย่าลืมฝึกโน้ตพื้นฐานเช่นไล่บันไดเสียง หรือฝึกการไล่นิ้วในแบบต่างๆ จากแบบฝึกหัดในตำราด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรฝึกการไล่บันไดเสียงและแบบฝึกหัด ฝึกนิ้วเป็นเวลาสักครึ่งชั่วโมงทุกวัน หรือวันเว้นวันและทำใจให้เกิดความรู้สึกว่าการเล่นแบบฝึกหัดและไล่บันไดเสียงเป็นเหมือนการแปรงฟันหลังตื่นนอนตอนเช้า

การพัฒนาที่สำคัญที่สุดสำหรับมือใหม่หัดเล่นคือการพัฒนาคุณภาพเสียงที่เล่นออกมา ไวโอลิน เป็นเครื่องดนตรีที่มีการควบคุมเสียงที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นการจะเล่นให้ได้เสียงที่ดีมีคุณภาพท่านจะต้องบรรจงกลั่นกรองให้ออกมาอย่างตั้งใจ ในกรณี ที่เป็นมือใหม่ขาดเทคนิคและความชำนาญ ท่านสามารถพัฒนาเสียงให้มีคุณภาพได้โดยการเล่นเสียงเพี้ยนให้น้อยที่สุด ลดเสียงรบกวนจากสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจควบคุมความสม่ำเสมอ ในช่วงนี้เสียงไวโอลิน ของท่านอาจฟังแข็งทื่อหรือขาดความอ่อนหวาน แต่ ควรจะมีจังหวะลีลาที่เที่ยงตรงและสม่ำเสมอ

Check Point : ในเวลาประมาณสี่เดือนที่ท่านอ่านสีซอ มาได้ 4 ตอน ท่านน่าจะเล่นเพลงสั้นๆ จากแบบฝึกหัดในบทเรียนหรือนำเอาเพลงง่ายๆ ที่ชอบมาเล่นโชว์ผู้คนได้ แน่นอน ยังไม่ใช่ความสำเร็จ ที่ยิ่งใหญ่แต่เป็นการตรวจสอบได้ว่าท่านยังมีความตั้งมั่นและมีพัฒนาการที่ดี และพร้อมแล้ว....ที่จะก้าว ย่างต่อไป

สำหรับท่านที่มีพัฒนาการที่ดีเกินคาด คือท่านได้ค้นพบตัวเองว่า มีดีทางดนตรีอยู่ในตัวแล้วเพิ่งแสดงตัวออกมา ท่านอาจฝึกแถมท้ายเรื่องเทคนิค พิเศษสำหรับไวโอลิน เทคนิคสำคัญที่สุดสำหรับการ สีไวโอลินได้ไพเราะคือการเล่น Vibrato หรือเสียงสั่น Vibrato ในไวโอลิน ถ้าเทียบกับการร้องเพลงก็เหมือนกับการเล่นลูกคอ ในการเล่นไวโอลินตัวโน้ตเสียงยาวที่มี Vibrato เสียงที่ออกมาจะให้อารมณ์แตกต่างอย่างมากกับการสีเรียบๆ Vibrato จะใช้มากในเพลงช้า เพลงที่ให้อารมณ์เศร้าขมขื่น หรือหวานซึ้งกินใจ แต่จะเล่น Vibrato ให้ได้ดีนั้นไม่ง่าย เลย ผมเองหัดไวโอลินมาปีกว่าแล้ว ยอมรับว่ายังเล่น Vibrato ยังไม่เข้าที่ การเล่น Vibrato คือการสั่น อุ้งมือซ้ายที่กดสายไวโอลินกับ Fingerboard ความยากอยู่ที่การสั่นนี้จะต้องไม่ทำให้ตัวไวโอลินสั่นไปด้วย และนิ้วที่เล่นตัวโน้ตอยู่จะต้องอยู่ตรงตำแหน่งของตัวโน้ตอย่างมั่นคง การจะดูว่าผู้เล่นไวโอลินเป็น มือเก่าหรือมือใหม่ให้ดู (หรือฟัง) การเล่น Vibrato

ถึงตรงนี้ท่านอาจจะพอมองออกว่าการหัดเล่นไวโอลินด้วยตนเอง มีความเป็นไปได้และเหมาะสำหรับการทดสอบ ทดลองหรือหยั่งเชิง เพื่อดูว่าตัวเองจะชอบ และนำมาเป็นส่วนประกอบ ในชีวิตหรือไม่ รวมทั้งถ้าท่านเกิดความสนุกและฮึกเหิมขึ้นมา ท่านก็ยังสามารถพัฒนาการเล่นให้ดีขึ้นไปได้และนำมาเป็นกิจกรรมติดตัวไปตลอดได้

อย่างไรก็ตาม การหัดเล่นด้วยตัวเอง มีข้อจำกัดโดยเฉพาะการจะพัฒนาความสามารถ สู่ระดับสูงขึ้น ถ้าท่านมาถึงจุดนี้หนทางที่เหมาะสมคือการไปเรียนกับครูสอนไวโอลิน ท่านอาจไปสมัครเรียนตามโรงเรียนสอนดนตรีหรือจ้างครูมาสอนที่บ้าน ผมเองเล่นไวโอลินอยู่พักหนึ่งก็ทนไม่ไหวไปสมัครเรียนกับครูด้วย เพราะรู้สึกถึงข้อจำกัดจากการหัดเล่นเอง ซึ่งก็ปรากฏว่าสามารถพัฒนาการเล่นขึ้นมาได้อีกระดับ ที่สำคัญ คือได้แก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดจากการฝึกซ้อม เอาเอง และได้เรียนเทคนิคที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือ ท่านสามารถสอบถามข้อข้องใจหรือขอคำแนะนำในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาที่ได้ประสาทมาระหว่างการฝึกหัด แต่ก็เพราะผมมีภารกิจมากก็เลยไม่สามารถจะเรียนกับครูไปเรื่อยๆ ได้ ในที่สุดก็ต้องกลับมา DIY ต่อเองในระดับที่สูงขึ้น

ผมขอส่งท้ายในที่นี้ว่า ดนตรีเป็นสิ่งวิเศษ สุดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้น และการที่เราสามารถเล่นดนตรีได้ก็เสมือนได้สิ่งวิเศษนั้นมาไว้กับตัว ไม่ว่าท่านจะเล่นเครื่องดนตรีอะไร.... หากไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ท่านเลือก - ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ท้าทายที่สุดทางหนึ่ง ผมก็ขออวยพรให้ท่านที่มีความปรารถนาจะเล่นดนตรีให้ ประสบความสำเร็จ และโอกาสหน้าจะนำเรื่องราว ของดนตรีมาเล่าสู่กันฟังอีก สวัสดีครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.