|

บางกอกแอร์เวย์ส์ กร้าว ทุ่ม2.5หมื่นล.เพิ่มฝูงบิน
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดแผนบางกอกแอร์เวย์ส 5 ปี สยายปีกเพิ่มเที่ยวบินและเส้นทางบินทั้งในภูมิภาคเอเชีย และระยะไกลอย่างยุโรป เผยเตรียมสั่งนำเข้าเครื่องบินโดยสารรวม 10 ลำในปีหน้า และปี 2553 ขณะที่พร้อมลงทุนสร้างงวงเชื่อมที่สนามบินสุวรรณภูมิ หวังเพิ่มรายได้จากการบริการ คาดรวมทุกโครงการใช้เงินรวมไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เผย 2 ปีข้างหน้ามีเส้นทางบินในเอเชียแซงหน้าพี่ใหญ่บินไทย
นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ ดำเนินธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผย ว่า กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนลงทุนระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2549-2553 ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจการบิน และการปรับ ลดต้นทุนในการบริหารจัดการในยุคน้ำมันแพง
เบื้องต้นมีแผนการลงทุนใน 2 ส่วนหลัก รวมมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. การก่อสร้างงวงเชื่อมทางเดินระหว่างอาคารจอด กับเครื่องบิน โดยจะทำที่สนามบินสุวรรณภูมิใช้เงินลงทุน 1,000 ล้าน บาท เริ่มดำเนินการในปีหน้า ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานงานด้านบริการ ในสนามบินสุวรรณภูมิ และ 2. การสั่งเครื่องบินใหม่เข้ามาในปีหน้า 4 ลำ เป็นเครื่องขนาดกลาง 2 ลำ และเครื่องขนาดเล็ก 2 ลำ เพื่อรองรับการขยายเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ และแผนในปี 2553 จะนำเข้าเครื่องบินอีก 6 ลำ กำลังอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะใช้เครื่อง แอร์บัส รุ่น 350 หรือโบอิ้ง รุ่น 787 คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณปลายเดือนนี้
ทั้งนี้ การลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริการภาคพื้นดิน ขนส่งทาง อากาศ และการบริการด้านอาหาร โดยจะลงทุนให้เสร็จภายใน 2 ปี ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งทางการตลาด 20% ของมูลค่าการบริการทั้งหมดในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าการบินไทยมีส่วนแบ่งที่ 50% และสายการบินอื่นๆ 30%
"การนำเข้าเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์ส จะทำในรูปแบบ leasing option to buy คือ เป็นเงื่อนไขคล้ายกับสัญญาเช่าซื้อ แต่มีเงื่อนไขพิเศษ คือ ถ้าพอใจก็จะซื้อขาด แต่ถ้าไม่พอใจก็คืนเครื่องกลับไป เมื่อหมดสัญญา ซึ่งบริษัทอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า สำหรับเครื่องที่จะสั่งเข้ามาในปี 2553 จะมีราคาเครื่องละประมาณ 4,000 ล้านบาท รวม 6 เครื่องราว 24,000 ล้านบาท"
ล่าสุด ในวันที่ 2 ธันวาคม เตรียมเปิดให้บริการเที่ยวบินไปกลับกรุงเทพฯ-ฮิโรชิมา สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เมืองดังกล่าวนอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตรถยนต์มาสด้า ซึ่งถือเป็นค่ายรถยนต์รายใหญ่อีก 1 ราย ที่มีการลงทุนในประเทศไทยสูง ดังนั้น บริษัทจึงคาดหวังลูกค้ากลุ่มนักธุรกิจ ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในเส้นทางนี้ด้วย โดยช่วงแรกของการเปิดให้บริการคาดว่า จะเป็นญี่ปุ่นเดินทางมาไทย มากกว่าไทยจะไปญี่ปุ่น ตั้งเป้าหลัง 4 เดือนแรกที่เปิดให้บริการ จะมีอัตราที่นั่งผู้โดยสาร(โหลดแฟกเตอร์) ไม่น้อยกว่า 80%
นอกจากนั้น ยังกำลังเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ-นาโกยา โดยจะเปิดเป็นแบบ เดลี่ไฟลต์ ซึ่งปัจจุบัน การบินไทยบินอยู่แล้ววันละ 2 ไฟลต์ แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เราเข้าไปในตลาดนี้ได้ โดยหากสรุปการเจรจาได้ปลายปีนี้ ก็จะเริ่มบินในเมษายนปีหน้า ตั้ง 2 ปี มีเส้นทางบินมากกว่า TG
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนธุรกิจในเส้นทางตลาดอินโดจีน จะเน้นนำเส้นทางบินที่มีอยู่แล้วในแหล่งท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ มาจัดเป็นแพกเกจเส้นทางท่องเที่ยวแบบเชื่องโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย สุโขทัย-หลวงพระบาง-นครวัด-กรุงเทพฯ โดยมีแผนโปรโมตเส้นทางหลวงพระบาง เพื่อเพิ่มระยะเวลาการเดินทางให้มีมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินให้เชื่อมโยงครอบคลุมทุกเส้นทางที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย จากปัจจุบันมี 19 เส้นทาง โดยบริษัทจะเพิ่มทั้งเส้นทาง การบินและเที่ยวบิน คาดว่าภายใน 2 ปีเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย บางกอกแอร์เวย์สจะมีเส้นทางบินมากกว่าสายการบินไทย
สำหรับในเส้นทางระยะไกล กำลังศึกษาเปิดเส้นทางบินในยุโรป เช่น กรุงเทพฯ-ลอนดอน ใช้จุดแข็งที่เรามีเดสติเนชั่น อยู่ในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลายจุด ในอินโดจีน จึงจะจัดขายเป็นแพกเกจ ตั๋วท่องเที่ยวไปยังเมืองนั้นๆ โดยเมื่อซื้อตั๋วของบางกอกแอร์เวย์ส จะได้ไปเที่ยวด้วย เช่น ลอนดอน-กรุงเทพฯ-สมุย เป็นต้น
ด้านผลประกอบการของบริษัท ถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีรายได้รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท เติบโตราว 20-25% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มาก กว่าทุกปี เพราะในเส้นทางสมุยยอมรับว่าเติบโต มากที่สุด 3 เดือนแรกของปีโตถึง 45% แต่ทั้งนี้จากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้บริษัท น่าจะมีผลกำไรในปีนี้เพียง 3% ของรายได้ หรือประมาณ 200 ล้านบาท ทั้งที่ธุรกิจการบินจะต้องมีกำไรประมาณ 5%
จากภาวะน้ำมันราคาแพง และไม่มี แนวโน้มที่จะปรับลดลง จึงมองว่าในอนาคตธุรกิจการบินจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเครื่องบินแบบใหม่ๆ ซึ่งในปี 2553 น่าจะเริ่มเห็นได้แล้ว คือ เครื่องบินจะถูกออกแบบโดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง ขณะที่ภายในจะต้องจุผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน น่าจะเริ่มเห็นในปีหน้า เพราะเชื่อว่าทุกคนคงเริ่มที่จะปรับตัวได้จากปัญหาราคาน้ำมันแพง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|