เปิดร่างแผนแม่บทซุกFTAไทย-สหรัฐฯ โบรกฯหวั่นปี49ไม่พร้อมฝรั่งฮุบเรียบ


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดร่างแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 2 เตรียมบรรจุเปิดเสรีทางการเงิน เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ปี 2549 โบรกเกอร์กองทุนอึ้ง ยังเตรียมตั้งรับไม่ทัน หวั่นเปิดทางต่างประเทศฮุบธุรกิจการเงินไทยเร็วเกิน ด้านแบงก์ไทยแข่งยังไงแบงก์ต่างประเทศก็ได้เปรียบ เพราะใหญ่และแกร่งกว่า ลูกค้าเงินฝากไปง่าย ด้าน "กัมปนาท" นายกฯโบรกฯระบุ ยังแค่หารือเพื่อกำหนดทิศทาง

แหล่งข่าวจากวงการค้าหลักทรัพย์เปิดเผยว่า ในการร่างแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2549 - 2552 ที่คณะทำงาน ร่างแผนแม่บทฯได้หารือกันเป็นระยะๆ โดยในส่วนของประเด็นการ เปิดเสรีภาคการเงิน (เอฟทีเอ) ได้มีการนำมาหารือกันเพื่อบรรจุในร่างแผนแม่บทฯ ด้วย เนื่องจากในระดับนโยบายได้มีข้อสรุปกันในระดับหนึ่งแล้วซึ่งข้อตกลงเปิดเสรีทางการเงินไทยกับประเทศสหรัฐ- อเมริกาคาดว่าจะให้เกิดขึ้นในปี 2549

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว ได้มีการถกเถียง และหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาหากรีบเปิด เพราะหากมีการเปิดเสรีภาคการเงินตามที่สหรัฐอเมริกากดดันให้เปิดเต็ม 100% นั้นจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนได้เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านการเงิน และตลาดทุนไทยทันที

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยรีบเปิดเสรีทางการเงิน ก็คือ ทำให้ต่างประเทศซึ่งมีเครือข่าย และมีศักยภาพมากกว่าเอกชนไทยก็จะทำให้ได้รับผลกระทบทั้งในส่วน ของธุรกิจโบรกเกอร์ ธุรกิจกองทุน และต่างประเทศน่าจะสนใจเรื่องการ ขายหน่วยลงทุน และมีความถนัด และจะมีกองทุนประเภทเฮดจ์ฟันด์เข้ามา

"โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เวลานี้เข้าใจว่าจะต้องมีการเปิดเสรีทาง การเงิน แต่การเปิดเสรีเต็ม 100 ในปี 2549 ทันที หลายคนมีความเป็นห่วงว่า จะเป็นการเปิดทางให้ต่างประเทศเข้ามาฮุบธุรกิจการเงิน โดย ที่เราตั้งรับไม่ทัน โดยเฉพาะธุรกิจกองทุนรวม ซึ่งต่างประเทศมีความเชี่ยวชาญมากและมีเป้าหมายสนใจธุรกิจนี้มาก"

นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด ในฐานะรองประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาสภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับแผนแม่บทตลาดทุนซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะใช้ดำเนินการภายใน ระยะเวลา 5 ปีต่อไป

ทั้งนี้ การหารือแผนแม่บทตลาด ทุน ก็จะคำนึงถึงเกี่ยวกับเอฟทีเอ ว่าในสภาพแวดล้อมดังกล่าวควรที่จะกำหนดทิศทางอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านต่างๆ

"ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนแม่บทตลาดทุนไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันและจะต้องเก็บข้อมูลต่างๆ เพราะจะเกี่ยว ข้องกับหน่วยงานต่างๆ หลังจากนั้นก็จะไปนำเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป" นายกัมปนาทกล่าว
นายกัมปนาทกล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่าบริษัทหลักทรัพย์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการนำเสนอ ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับทราบ เพื่อที่จะได้ทราบว่าบริษัทหลักทรัพย์ต้องการจะเห็นเป็นอย่างไรบ้าง และทิศทางต่อไปจะดำเนินการอย่างไร

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในอนาคตนั้น รัฐบาลจะไม่มีการค้ำประกันเงินฝาก ซึ่งขณะนี้เงินออมของทั้งระบบจะเป็นเงิน ฝาก 90% อีก 10% เป็นการลงทุนอย่างอื่นเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) กับต่างประเทศก็จะทำให้ต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจได้ง่าย ก็จะส่งผลกระทบกับบริษัทในไทย เพราะต่างประเทศจะมีความมั่นคงกว่า เพราะธนาคารต่างประเทศ จะมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่า ทำให้สามารถแข่งขันกับดอกเบี้ยเงินกู้ของไทยได้ ซึ่งตรงนี้ธนาคารที่เป็นต่างประเทศจึงมีความได้เปรียบกว่าธนาคารไทย

ดังนั้นประชาชนจึงนำเงินไปฝากกับธนาคารที่เป็นต่างชาติ เนื่องจาก มีความมั่นคง และเพื่อเสริมศักยภาพ การแข่งขัน ก็จะต้องมีการควบรวมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ตัวบริษัท ซึ่งบริษัทเพื่อจะแข่งกับสถาบันการเงินของต่างประเทศ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.