|
ดีแทคออกซิมกระปุกรับสายได้ตังค์ ตามยุทธศาสตร์การตลาดใยแมงมุม
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดีแทคเดินหมากตามยุทธศาสต์การตลาดใยแมงมุม ที่เน้นสร้างคอมมูนิตี้ในเครือข่าย ล่าสุดเปิดตัว "ซิมกระปุก" รับสาย ได้ตังค์ พร้อมประกาศเป็นโอเปอเรเตอร์มือถือเพียวๆ ไม่สน Synergy ฉีกหนีคู่แข่งในแบบฉบับตัวเอง ไม่เต้นตามกระแสโลก ขณะเดียวกันบอร์ดเห็นชอบให้นำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนอนาคตยูคอมรอบอร์ดตัดสิน
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทค จะมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้เกิด ความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยมุ่งเน้นที่จะเป็นผู้ให้บริการมือถือเพียงอย่างเดียว ไม่มีการ Synergy ในกลุ่ม ที่สำคัญคือทำตลาดสวนทางกับคู่แข่ง เช่น ผู้ให้บริการรายอื่นจะพูดถึงการสื่อสารในยุคที่ 3 หรือ 3G หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามกระแสโลก แต่ดีแทคจะตรงข้ามโดยการพยายามมองหาในสิ่งที่เป็นไทยๆ
"กลุ่มทรู กลุ่มชินคอร์ปเลือกที่จะทำ Synergy ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าการ Synergy ไม่ดี แต่ดีแทคเลือกที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการ ที่ดีที่สุด โดยพลังทั้งหมดของเราจะลงที่การเป็นโอเปอเรเตอร์มือถือ คือทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด"
แต่การที่ทำตรงข้ามคู่แข่งผู้บริหารดีแทคย้ำว่า ไม่ใช่จะไม่ไป 3G แต่การให้บริการดังกล่าวก็จะไปในแบบฉบับของดีแทคที่ไม่เหมือนผู้ให้บริการรายอื่น โดยอย่างน้อยก็จะไม่ใช้ คำว่า 3G แต่จะหาคำที่ผู้บริโภคเข้าใจ ง่ายๆ แทน
จากนโยบายดังกล่าวดีแทคได้เปิดตัว "ซิมกระปุก" รับสายได้ตังค์จากแฮปปี้ดีแทค ซึ่งเป็นการสร้างตลาดในลักษณะใยแมงมุม หรือเว็บมาร์เกตติ้งในเครือข่ายของดีแทคจากพื้นฐานแนวคิด "ใจดี"
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่าการตลาดแบบใยแมงมุมเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของแฮปปี้ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้งานภายในเครือข่าย โดยลูกค้าซิมกระปุกจะได้รับ ค่าตอบแทนเมื่อรับสายจากดีแทค ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกลุ่มลูกค้าบนเครือข่ายเดียวกันจะส่งผลให้เกิดการขยายฐานลูกค้าจากการบอกต่อ ขณะเดียวกันก็สามารถลดการออกจากระบบได้ เพราะลูกค้ามีสิทธิพิเศษจากการใช้เครือข่ายของดีแทคอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารดีแทคเชื่อว่าการตลาด แนวใหม่แบบใยแมงมุมที่ใช้พลังจากกลุ่มลูกค้าของตัวเอง กำลังมีอิทธิพลมากกว่าการโฆษณาในระดับแมสทั่วไปที่มีการแข่งขันกันสูง และเป็นแนวทางการสร้างกลุ่มเครือข่ายที่แฮปปี้เริ่มขึ้นมาโดยมีซิมเฮฮาเป็นบททดสอบ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนขณะนี้มีผู้ใช้แล้วกว่า 6 แสนซิม จนทำให้ดีแทคมีรายได้ต่อคนต่อเลขหมายในระบบพรีเพดถึง 320 บาท มากกว่าวัน-ทู-คอลที่ได้ไม่ถึง 300 บาท
การตลาดใยแมงมุมของดีแทคสำหรับบริการแบบพรีเพด จะวางตัวแฮปปี้ไว้ตรงกลาง จากนั้นจะมีบริการ อื่นๆ อยู่รายล้อม เช่น ซิมเฮฮา ซิม กระปุก และอีกหลายๆ บริการที่จะตามมา หลังมีการแก้ไขเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชัน ชาร์จ ที่คาดว่าน่าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในปีหน้า
สำหรับซิมกระปุกเป็นซิมรายแรกของเมืองไทยที่ให้รางวัลกับการรับสาย ซึ่งเป็นพฤติกรรมหลักของการใช้โทรศัพท์มือถือ แนวความคิดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ลูกค้ารับสายแล้วได้ค่าโทร.เพิ่ม โดยที่คนโทร.เข้าก็เสียค่าโทร.ตามอัตราปกติ แฮปปี้จะเติมเงินให้อัตโนมัติสำหรับผู้ที่รับสายจากดีแทคทุก 1 นาทีรับค่าโทร.ฟรี 1 บาท ลูกค้าสามารถสะสมค่าโทร.ที่เติม ให้ขณะรับสายไว้ใช้ในคราวจำเป็นได้ ซิมกระปุกจะเป็นการเริ่มต้นของการแข่งขันในแบบฉบับแฮปปี้ก่อนการเปิด ศักราชใหม่ที่จะเข้มข้นยิ่งขึ้นในปีหน้า
ซิมกระปุกมีลักษณะพิเศษคือ เมื่อลูกค้ารับสายจากหมายเลขในเครือ ข่ายดีแทคทุก 1 นาทีจะได้รับค่าโทร. ฟรี 1 บาทสูงสุดได้ถึง 10 บาทต่อครั้ง มีอัตราค่าโทร. 2 นาทีแรก นาทีละ 3 บาท นาทีต่อไปนาทีละ 1 บาท
ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายจะขายผ่านดีแทคช็อป และตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแฮปปี้ทั่วประเทศในราคา 199 บาท มีจำนวนวันใช้งาน 30 วัน สำหรับผู้ที่เปิดใช้บริการตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคมนี้จะได้รับค่าโทร.ฟรี 600 บาท (ลูกค้าได้รับค่าโทร. 50 บาทในครั้งแรกที่เปิดใช้บริการ และ ระบบจะเติมเงินให้อัตโนมัติอีก 50 บาททุก ๆ เดือนเป็นเวลาอีก 11 เดือนหลังจากเปิดใช้บริการในกรณีที่วันใช้งานยังไม่หมดอายุ) และลูกค้าสามารถ เติมเงินได้ตามช่องทางปกติ
นอกจากแผนการตลาดแล้ว บอร์ดของดีแทคยังได้มีมติให้ดีแทคเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
อนาคตยูคอมรอบอร์ดตัดสิน
นายซิคเว่กล่าวถึงอนาคตของบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อิน-ดัสตรี (ยูคอม) ว่า ขณะนี้ได้มีการเปิดซื้อขายหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยไปจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. และอยู่ระหว่างการให้ที่ปรึกษาด้านการเงินคือบริษัทหลักทรัพย์เอสซีบีพิจารณาว่าจะขายธุรกิจอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ ก่อนนำเข้าที่ประชุมบอร์ดพิจารณา โดยกลุ่มบุญชัย เบญจรงคกุล เสนอที่จะซื้อบริษัท ยูเทล ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานเทิร์นคีย์โปรเจกต์, ยูไอเอช ยูบีที ที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท กสท โทรคมนาคมและบริษัททีโอที ให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลและยูดี ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|