|
ดัชนีความเชื่อมั่นคนไทยดีขึ้นทุกตัว หลังคลายกังวลเศรษฐกิจพ้นจุดต่ำ
ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังคนไทยคลายความกังวล เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจพ้นช่วงต่ำสุดแล้ว คาดการบริโภคจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ และเข้าสู่ภาวะปกติกลางปีหน้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,239 เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยประจำเดือน ต.ค.2548 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่น ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 81.4 จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 79.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเพิ่มเป็น 80.3 จาก 79.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับ รายได้ในอนาคต เพิ่มเป็น 98.9 จาก 97.5
ทั้งนี้ ผลจากดัชนีความเชื่อมั่น ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเดือนต.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 86.8 จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 85.4 แต่ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ต่างๆ อยู่ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ระดับ 81.9 เพิ่มขึ้นจาก 81.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ระดับ 86.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 84.3 แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยบวกที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2548 จาก 3.5-4.5% มาเป็น 4.25-4.75% และยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2549 อยู่ที่ระดับ 4.5-6.0% รวมทั้งการส่งออกในเดือนก.ย. ขยายตัวสูงสุดมีมูลค่า 10,328 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.8% ทำให้ไตรมาส 3 การส่งออกไทยมีมูลค่า 29,793 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 22.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนก.ย. เกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม โดยเกินดุลประมาณ 876 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไตรมาส 3 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,152 ล้านเหรียญสหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย โดยสิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ระดับ 40.77 บาท/เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงในเดือนต.ค. โดยเบนซิน 95 และ 91 ปรับตัวลดลง 1.20 บาท และดีเซลลดลง 40 สตางค์
ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ เช่น ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนต.ค. ลดลง 40.61 จุด คณะกรรมการนโยบายการเงินขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรรัฐบาลระยะ 14 วัน อีก 0.5% จาก 3.25% เป็น 3.75% ต่อปี นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงทรงตัว สูงอยู่ และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่ 2 และดัชนีที่เกี่ยวกับอนาคตดีขึ้น เป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณหยุดการทรุดตัวลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค และกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น โดยผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้แย่ลงไปกว่านี้ และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในอนาคต หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงรุนแรงในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการบริโภค และในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ การบริโภค จะเข้าสู่ภาวะปกติ และเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ขณะที่การลงทุนจะดีขึ้นตามการบริโภคที่เพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|