คอมพิวเตอร์กับครู

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ในต่างประเทศนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่ใส่ใจกับการพัฒนาการศึกษาและมีความสามารถพื้นฐานคือรวยพอ การจัดหาคอมพิวเตอร์ไว้ในโรงเรียนสำหรับนักเรียนดูจะเป็นเรื่องปกติ ในการส่งเสริมให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต ส่วนที่ก้าวหน้าขึ้นไปกว่านั้นคือการใช้คอมพิวเตอร์ประกอบ การเรียนการสอนในชั่วโมงเรียน โดยเด็กแต่ละคนจะมีคอมพิวเตอร์ประจำของตนเอง

ในบ้านเราเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก มีความพยายามจัดหาคอมพิวเตอร์ให้แต่ละโรงเรียน โดยคิดว่าอย่างน้อยที่สุดก็ขอให้มีโรงเรียนละ 1 เครื่องเป็นอย่างน้อย จนมีเรื่องที่พูดกันว่าบางโรงเรียนไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ก็มีคอมพิวเตอร์ได้

โรงเรียนเอกชนหลายแห่งถึงกับโฆษณาว่าโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ใช้สำหรับการเรียนการสอนใน ห้องเรียน โปรแกรมเมอร์ทั้งหลายต่างก็พากันเขียน ซอฟต์แวร์ หรือที่เรียกกันว่า CAI เพื่อใช้สำหรับการ เรียนรู้โดยตนเองของเด็กแต่ละวัย โดยเชื่อกันว่าระบบ multimedia ของคอมพิวเตอร์ซึ่งให้ทั้งภาพและเสียง ประกอบ กับความฉลาดของโปรแกรมที่ทำให้คอม พิวเตอร์สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อกันว่าการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการศึกษาเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก และเชื่อกันว่า ในอนาคตเด็กอาจจะไม่ต้องไปโรงเรียน โดยสามารถเรียนรู้ที่บ้านผ่านทางอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ และอาจจะถึงขั้นที่ว่า บรรดาครูทั้งหลายอาจจะตกงานกัน

นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการคาดการณ์ถึงอนาคตข้างหน้าที่พวกนักพยากรณ์อนาคตชอบพูดกัน และหากยังจำกันได้ หนังสือประเภทนี้เคยขายดีเมื่ออดีตประมาณ 10 ปีก่อน

ทุกอย่างดูจะไปได้ดี จนประเทศที่จนกว่าออกจะอิจฉาว่า ทำอย่างไรเด็กในประเทศของเราจะมีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพอย่างเช่นเด็กต่างประเทศกันบ้าง

กระทั่งพ่อแม่ทั้งหลายในบ้านเราก็ต้องขวนขวายหาคอมพิวเตอร์และซื้อพวกซอฟต์แวร์การเรียนรู้ของเด็ก เพราะทั้งลูกเรียกร้อง และกลัวว่าลูกจะไม่ทันยุคสมัยการเรียนรู้ด้วยตนเอง

แต่ถ้าเคยสังเกตดูจะพบว่า บรรดาโปรแกรม ทั้งหลายที่ว่ากันว่าดีนักดีหนาที่คุณพ่อคุณแม่กัดฟันซื้อมา พอมาถึงมือคุณลูก ปรากฏว่าเด็กให้ความสนใจอยู่สักพักก็เลิก แล้วหันไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ทั้งหลายมากกว่าจะมาสนใจการเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อการเรียน

ดูเหมือนโปรแกรมเมอร์และนักการศึกษาทั้งหลายก็ทราบและพยายามปรับปรุงสื่อเหล่านี้ให้เหมือนเกม มากขึ้น และหวังว่าเด็กจะสนใจเล่นกับมันเหมือนที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ผลที่ออกมาก็เหมือนเดิม คือเด็กให้ความสนใจกับสื่อเหล่านี้ไม่มากนัก ทั้งที่สื่อเหล่านี้บางอันก็ได้รางวัลอันบ่งถึงคุณภาพ แต่เราลืมนึกไปอย่างหนึ่งก็คือ คนที่ตัดสินคือผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็กที่ใช้สื่อเหล่านี้

เหตุการณ์ในบ้าน นั้นที่จริงแล้วสะท้อนให้เห็นความจริงที่เรามักจะมองข้ามกันไป เราไม่เคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่รู้สึกว่าดีและเหมาะกับเด็กนั้น ที่จริงแล้วมันเป็นอย่างที่เราคิดหรือไม่

แต่นั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ สิ่งที่ต่างชาติ (ซึ่งก็มักจะเป็นฝรั่ง) ว่าดีนั้นจะดีกับบ้านเราจริงหรือ

เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่ง เพื่อดูว่าหลังจากที่โรงเรียนส่วนใหญ่ พยายามปรับตัวตามยุคดิจิตอลด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอนมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้เป็นตามที่คาดหวังหรือไม่

ที่จริงแล้วงานศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในห้องเรียนมีออกมามากมาย แต่ส่วนใหญ่ผลจะเป็นด้านบวกโดยไม่ได้ศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ ในขณะที่การศึกษาชิ้นนี้ทำเปรียบเทียบทั้งสองกลุ่ม

งานวิจัยในอิสราเอลชิ้นนี้ให้ผลลัพธ์ต่างจากความเชื่อเดิมๆ งานชิ้นนี้บอกกับเราว่าในการศึกษา เปรียบเทียบระหว่างการใช้กับไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยสอนคณิตศาสตร์ของเด็กเกรด 4 ผลคือในกลุ่มที่ครูไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้นผลการเรียนคณิตศาสตร์ออกมาดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเจน

อาจจะมีการตั้งคำถามว่าเป็นเพราะทั้งครูและนักเรียนไม่ถนัดกับการใช้คอมพิวเตอร์หรือเปล่า ผลจึงออกมาตรงกันข้ามกับที่เราคิดไว้

คำตอบคือไม่ โดยเฉลี่ยแล้ว คนกลุ่มนี้แต่ละ คนมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวใช้อยู่แล้วที่บ้าน แม้ว่าอาจจะใช้มากใช้น้อยต่างกันไปบ้าง ดังนั้นการไม่มีทักษะจึงไม่ใช่เหตุผลในการอธิบาย

นักวิจัยเชื่อว่าเหตุที่กลุ่มซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยสอน ผลการเรียนออกมาแย่กว่าเป็นเพราะ แทนที่คอมพิวเตอร์จะทำให้เด็กได้รับความรู้ เด็ก กลับเสียสมาธิไปกับส่วนที่ตนเองสนใจในคอม พิวเตอร์ รวมทั้งแตกเป็นกลุ่มเล็กๆ และพูดคุยกัน นั่นคือเด็กขาดความสนใจในชั้นเรียน แม้ว่าผู้สร้าง โปรแกรมทั้งหลายจะเชื่อกันว่าคอมพิวเตอร์จะตอบสนองกับความต้องการของเด็กแต่ละคน แต่ สุดท้ายแล้วมันถูกผลิตออกมาให้เหมาะกับเด็กทุกคนและขึ้นอยู่กับการที่เด็กจะใช้มันไปในทิศทางใด ต่างกับครูที่ดี เพราะครูที่ดีจะสนใจ และปรับการตอบสนองให้เหมาะกับปัญหาของเด็กแต่ละคน

สิ่งที่น่าคิดจากงานวิจัยนี้คือ คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมนั้นต่อให้ดีเพียงใดก็ตาม ไม่สามารถ มาทดแทนครูดีๆ ที่ปรับการสอนให้เข้ากับเด็ก และอุปกรณ์โบราณประเภทกระดานดำกับชอล์กได้

มาถึงตรงนี้ผมก็อยากจะบอกว่าคนไทยในฐานะของผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว คุณ ผู้อ่านบางท่านอาจจะนึกในใจว่าทำไมเราถึงไม่ทราบว่าตัวเองรู้เรื่องนี้ดีอยู่ คำตอบง่ายๆ คือ ช่วง เย็นๆ ของวันธรรมดา เราจะเห็นบรรดาติวเตอร์หน้าอ่อนทั้งหลายสอนหนังสือเด็กนักเรียนเป็น กลุ่มเล็กๆ ตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าและ หากลองถามดูก็จะพบว่า ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ใช้อยู่แล้ว แต่แปลกที่ว่าคนในระดับกระทรวงที่มีอำนาจในการวางนโยบาย รวมทั้งการจัดซื้อทั้งหลายดูจะมองไม่เห็นความจริงแง่นี้ สังเกตได้จากการเน้นเรื่องของแผนการสอนและกระบวน การ รวมทั้งเทคโนโลยีมากกว่าการพัฒนาครูและ การส่งเสริมบรรยากาศให้ครูสามารถเป็นผู้รู้และผู้สอนของศิษย์ได้อย่างเต็มที่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.