กระเบื้องจีนบุกตลาดกลาง-บน ผู้ผลิตปั้นแบรนด์ส่งออกหนีการแข่งราคา


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การแข่งขันในตลาดกระเบื้องเซรามิกส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น หลังจากผู้ประกอบการผลิตและนำเข้า กระเบื้องรายใหญ่ รายกลางในประเทศเริ่มเพิ่มจำนวนการนำเข้าสินค้ากระเบื้องเซรามิกจากประเทศจีน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคากระเบื้องจากประเทศจีนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก โดยคาดว่าต้นทุนการผลิต ของประเทศจีนต่ำกว่าการผลิตในไทยประมาณ 50% เนื่องจากได้เปรียบด้านค่าแรง และต้นทุน เครื่องจักรที่ต่ำกว่า เพราะเครื่องจักรบางตัวในประเทศจีนสามารถผลิตได้เอง

ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการกระเบื้องจากยุโรป เริ่มย้ายฐานการผลิตกระเบื้องเข้าไปในประเทศจีน เพื่อส่งออกประเทศในแถบเอเชียและยุโรปด้วยกันเอง ซึ่งหากถามถึงเรื่องของคุณภาพและเทคนิคการผลิตแล้ว จีนมีคุณภาพและเทคนิคในการผลิตกระเบื้องที่ไม่ได้ด้อยกว่า ประเทศไทยเลย แต่อย่างไรก็ตามข้อด้อยของการผลิตกระเบื้องในจีนที่ยังไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศไทยคือ การออกแบบและการ พัฒนารูปแบบกระเบื้องใหม่ๆที่หลากหลายได้เท่ากับผู้ประกอบการในไทย

ทำให้การนำเข้ากระเบื้องจากจีนของผู้ประกอบการในตลาด ยังคงให้ความสำคัญกับการนำเข้ากระเบื้องในตลาดระดับกลาง ซึ่งมีราคาขายอยู่ระหว่าง 300-600 บาท ต่อตารางเมตร ส่วนในตลาดระดับบนขึ้นไปที่มีราคาขายตั้งแต่ 1,000-10,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องที่มีดีไซน์ กระเบื้อง อะคริลิก มีรูปแบบลวดลายใหม่ๆ ที่ขายแนวคิด (ไอเดีย) เพื่อเพิ่มมูลค่า สินค้า โดยมีการนำเข้าบ้างเล็กน้อยจากประเทศอิตาลี มาเลเซีย และยุโรป สำหรับกระเบื้องในตลาดกลาง-ล่าง ในปัจจุบันมีการเริ่มน้ำเข้า มาขายในตลาดมากขึ้น โดยตลาดนี้จะมีระดับราคาขายตั้งแต่ 180-300 บาท โดยสินค้าตลาดล่างส่วนใหญ่จะเป็นเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่นับว่ายังมีปริมาณน้อยอยู่

อย่างไรก็ตาม การนำเข้ากระเบื้องมาขายในตลาดล่างยังมีจำนวนไม่มากนักและมีแนวโน้มว่าจะลดลง หลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีหน้า เนื่องจากกำไรจากการขายไม่คุ้มกับต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งนับจากมีการปรับราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของต้นทุนเดิม ในขณะที่ผู้ประกอบการในประเทศมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตและขนส่งมากกว่า โดยผู้ประกอบการที่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดในตลาดระดับล่างคือ กลุ่มบริษัทไดนาสตี้ เซรามิค จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไดนาสตี้ฯ เริ่ม ปูพรมรูปแบบการขายสินค้าภายใต้คอนเซ็ปต์ แฟกตอรีเอาต์เลต เพื่อรักษาตลาดสินค้าระดับล่างทั่วประเทศ ทำให้การเจาะตลาดล่างยากขึ้น

นายชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ในงานสถาปนิก 49 จะมีผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างจากจีน เข้ามาร่วมงานประมาณ 50 บริษัท ทั้งนี้ประเทศจีน มีความต้องการขยายตลาดวัสดุก่อสร้างเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งมีภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันวัสดุก่อสร้างจากจีนได้เข้ามาทำตลาด ในไทยเป็นจำนวน เช่น กระเบื้อง อย่างไรก็ตาม กระเบื้องที่ผลิตจากจีนจะทำตลาดในระดับกลาง-ล่าง เนื่องจากมีราคาถูกและมีคุณภาพต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นคนละตลาดกับกระเบื้อง ที่ผลิตจากไทย

นายสุทิน ยุทธนาวราภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือยูเอ็มไอ ผู้ผลิตและจำหน่าย กระเบื้องเซรามิกปูพื้นและกระเบื้องบุผนัง "ดูราเกรส-ลีลา" กล่าวว่า บริษัทนำเข้ากระเบื้องมาทำตลาดระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัทไม่มีการผลิตสินค้า ทั้งนี้เพื่อช่วยเติมช่องว่างทางการตลาด ซึ่งการ นำเข้ากระเบื้องมาทำตลาดระดับกลาง นี้บริษัทนำเข้ามาจากจีนเพื่อขายในราคาเดียวกันกับตลาดในประเทศ

ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการในประเทศนำเข้ากระเบื้องจากจีนมาทำตลาดเชื่อว่าส่วนหนึ่งอาจจะสร้าง แรงกดดันให้กับผู้ผลิตกระเบื้องตลาดระดับกลางในประเทศ ซึ่งแนวทางในการปรับตัวของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการปรับภาพลักษณ์ของสินค้า ปั้นแบรนด์และเพิ่มการรับรู้ในกลุ่มลูกค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายการผลิตในสินค้าตลาดระดับบนมากขึ้น ซึ่งในตลาดบนสินค้ายังมีให้เลือกน้อยราย ทั้งนี้เพื่อหนีตลาดการแข่งขันในตลาดกลาง-บน และอีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่ม การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
นายพิชิต ไม้พุ่ม กรรมการ ผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างซีเมนต์ไทย จำกัด และผู้บริหารกลุ่ม กระเบื้องคอตโต้ กล่าวว่า ในปี 49 บริษัทจะผลิตเพิ่มสินค้าในตลาดพรีเมียมมากขึ้น เนื่องจากสินค้าในตลาดดังกล่าวมีผู้ประกอบการน้อย ราย นอกจากนี้ ตลาดระดับบนยังให้ มาร์จิ้นสูงกว่าตลาดระดับกลาง ซึ่งมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ในขณะที่ตลาดบนแข่งขันด้านดีไซน์และ รูปแบบของกระเบื้องซึ่งเป็นการ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า นอกจากนี้ บริษัทจะขยายการส่งออกเพิ่มเป็น 16 ล้านตารางเมตรต่อปี จากเดิม ที่ปีนี้ส่งออกอยู่ที่ 14 ล้านตารางเมตร

ขณะที่นายสัญญา นองสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระเบื้องปูพื้น และผนังอาร์ซีไอ กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญกับการส่งออกมาขึ้นนั้นน่าจะเกิดจากการโอเวอร์ซัปพลายในตลาด เพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการแทบทุกรายเร่งขยายกำลังผลิต โดยการขยายโรงงานผลิตเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการโอเวอร์ซัปพลายขึ้น ทำให้ต้องมีการขยายการส่งออกมากขึ้นเพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตสินค้าได้เต็มกำลัง ซึ่งในส่วนของบริษัทเองจะยังเน้นการทำตลาดในประเทศ เนื่องจากตลาดส่งออกเริ่มแข่งขันกันมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันการนำเข้ากระเบื้องจากจีนคิดเป็นมูลค่า ตลาดรวมประมาณ 10% ซึ่งถือว่าอาจจะกระทบต่อตลาดในประเทศบ้าง แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่การนำเข้ากระเบื้องนั้นเพื่อ เติมเต็มช่องว่างการทำตลาดของ ผู้ประกอบการ เนื่องจากบ้างรายไม่ได้มีการผลิตกระเบื้องในตลาดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกอบการนำเข้ากระเบื้องจีนมากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสในการทำตลาด แต่เชื่อว่าหากในอนาคต มีการนำเข้ากันมากๆ จะทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งตลาดจะเป็นตัวตัดสินเองว่าจะยังเหลือผู้นำเข้า กี่รายในตลาด เนื่องจากรายละเอียด ในตลาดกระเบื้องมีค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นกลไกของตลาดจะทำหน้าที่ของมันเอง สำหรับปีนี้บริษัทมีแผนนำเข้าสินค้าจากจีน 100,000 ตร.ม.ต่อเดือน และในปี 49 จะขยาย การนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.